เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: 2017

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี) มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์) 17 ธันวาคม 2560

หลักการใหม่ ของการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี)
มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์)
บรรยายโดยอาจารย์วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ
บรรยายวันที่ 17 ธันวาคม 2560
-----------


         ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของการบรรยาย อาจารย์จะขอกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนของภาคบังคับคดีที่มีการแก้ไขใหม่ ซึ่งนักศึกษาจะไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายใหม่กลับหลักกฎหมายเดิม

      กรณีแรก คือบทบัญญัติในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว”

ให้นักศึกษาขีดเส้นใต้ตัวบทคำว่า “ซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และคำว่าหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว” ดังนั้นต่อไปนี้ในคดีแพ่งที่จำเลยมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาโดยคดีมีการสืบพยานหลักฐาน แล้วต่อมาเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยไม่มาศาล ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาและให้ศาลออกคำบังคับทันทีโดยให้ถือว่าจำเลยที่ไม่มาศาลนั้นทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น เพราะฉะนั้นในปัจจุบันคดีที่จำเลยไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยขาดนัดพิจารณาแต่ไม่มาศาลในวันฟังคำพิพากษาจะไม่มีการส่งคำบังคับไปให้จำเลยอีก
แต่ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา มาตรา 272 วรรคสองได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องส่งคำบังคับนั้นให้แก่จำเลยด้วย

* ประเด็นต่อมาที่นักศึกษาจะต้องรู้คือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 273 วรรคสี่ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนด หรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน โดยให้นักศึกษาขีดเส้นใต้คำว่าเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน

!!! หลักการใหม่ในเรื่องต่อไปคือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 274 ซึ่งแต่เดิมนั้นบุคคลที่มีสิทธิจะร้องขอให้มีการบังคับคดีคือคู่ความฝ่ายที่ชนะคดี แต่ในปัจจุบันนั้นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ได้รับชำระหนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่คู่ความในคดี แต่อาจจะเป็นบุคคลภายนอกก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นกรณีของบุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความได้ตกลงกันและศาลมีคำพิพากษาตามยอมก็ได้อีกทั้ง มาตรา 274 วรรคสามได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น สิทธิในการบังคับคดีไม่สามารถที่จะโอนให้บุคคลภายนอกได้ แต่ในปัจจุบันนั้นสามารถโอนสิทธิในการบังคับคดีได้แล้ว

* ต่อไปคือบทบัญญัติในมาตรา 277 ในเรื่องการไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเจ้าหนี้จะยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้จะใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนั้นหากเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดี แต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด ต่อไปนี้เจ้าหนี้สามารถใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเพื่อหาทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลฎีกาเดิมทั้งหมด

***ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 298 แต่เดิมนั้นเวลาที่เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ หากเจ้าหนี้นำชี้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องทำการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ในปัจจุบันนั้นกฎหมายได้สร้างเกราะคุ้มกันให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยหากทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้มีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่นหากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมยึดอายัด หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรือการอายัดก็ได้ แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งงดการยึดหรืออายัดได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยและจะต้องมีคำสั่ง ห้ามการโอน ขาย ยักย้าย จำหน่ายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเอาไว้ด้วย

และในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังยืนยันให้ยึด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัด เพื่อขอให้ศาลสั่งให้
เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องมายื่นคำร้องต่อศาลเท่านั้น

***ประเด็นต่อไปที่นักศึกษาไม่รู้ไม่ได้คือกรณีตามมาตรา 331 ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 จุด ด้วยกัน โดยจุดแรก คือเมื่อได้มีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในเรื่องนี้ให้นักศึกษาตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ว่าในปัจจุบันนั้นในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากศาลแล้ว

จุดที่ 2 คือหากเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องกำหนดวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันยึด อายัดหรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น และที่สำคัญจะอยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 331 วรรคสาม คือ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้าม มิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควร มาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติในมาตรา 331 วรรคสองได้กำหนดให้เวลาในการขายทอดตลาดนั้นไม่น้อยกว่า 60 วันแล้ว เพื่อให้เวลาบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หาบุคคลมาสู้ราคาในการขายทอดตลาดนั้นเพราะฉะนั้น เมื่อมีการขายทอดตลาดแล้วกฎหมายจึงห้ามบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีกซึ่งเป็นการยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 309 ทวิเดิมทั้งหมด

ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 357 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้ทำนิติกรรม โดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ซึ่งหากหนังสือสำคัญ เช่น โฉนดที่ดิน ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบทะเบียน หรือเอกสารสิทธิที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนนั้นสูญหาย บุบสลายหรือนำมาไม่ได้เพราะเหตุอื่นใด ศาลสามารถที่จะสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ออกใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวได้ และเมื่อได้ออกใบแทนแล้วหนังสือสำคัญเดิมก็เป็นอันยกเลิกไปซึ่งในเรื่องนี้เป็นการกลับหลักการเดิมของกฎหมาย เพราะแต่เดิมนั้นคำพิพากษาของศาลจะไปบังคับบุคคลภายนอกไม่ได้ แต่ปัจจุบันนั้นเฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ศาลสามารถ มีคำสั่งบังคับบุคคลภายนอกในเรื่องดังกล่าวได้แล้ว

ประการต่อมาคือในบทบัญญัติ มาตรา 358 วรรคหนึ่ง ซึ่งการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นกรณีที่อาจให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่สามารถที่จะกระทำเช่นนี้ได้

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเครื่องหมายการค้า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2559  ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
         แม้เครื่องหมายการค้ามีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่จะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วยว่ามีโอกาสที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์ผู้ขอจดทะเบียนหรือของ ท. ผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะสับสนหลงผิดหรือไม่ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะใช้กับรายการสินค้า แปรงสีฟัน เช่นเดียวกัน แต่ ท. เป็นแปรงสีฟันธรรมดา ส่วนโจทก์เป็นแปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและมีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย บุคคลที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวันย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงไม่ใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดโดยง่าย ประกอบกับโจทก์นำสืบว่าใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PHILIPS" มานานหลายสิบปี และจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจำเลยไม่นำสืบโต้แย้ง การที่ประชาชนผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าโจทก์อย่างดีย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผู้บริโภคดังกล่าวจะสับสนหลงผิด และไม่น่าเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาจะแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของ ท. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาละเมิดลิขสิทธิ์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559)

       การทำซ้ำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่จำกัดเฉพาะทำซ้ำจากต้นฉบับบเท่านั้น แม้ทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559 การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559  จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

(ฎีการ่วมกันลักทรัพย์) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557 การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558 โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาขับรถประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559 ถนนที่จำเลยขับรถมาเป็นทางเดินรถทางโท มีสัญญาณจราจรไฟกระพริบสีแดงและป้ายเตือนให้หยุด ติดไว้ก่อนเข้าทางร่วมทางแยก จำเลยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยก หลังเส้นให้หยุดรถและให้ผู้ขับรถในทางเอกขับผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรแล้วจึงจะขับรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนโจทก์ขับรถมาในทางเอกแม้จะมีสิทธิขับรถผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โดยต้องลดความเร็วของรถ เมื่อขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก สภาพความเสียหายของรถโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากอันเกิดจากการชนโดยแรง และตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ รถยนต์โจทก์อยู่ห่างจากจุดชนประมาณ 35 เมตร แสดงว่าโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วและไม่ได้ชะลอความเร็วของรถ เมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกันโจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาแรงงาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559 การที่โจทก์เบิกทองคำซึ่งเป็นลวดที่ใช้ในการทำงานไปเกินกว่าปริมาณงานในแต่ละครั้งเพราะโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีความเชี่ยวชาญจึงสามารถทำชิ้นงานได้มากกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ความว่าโจทก์เอาลวดทองคำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในการคืนผงทองคำตลอดเวลาหลายสิบปีจะมีส่วนเกินไปบ้างหรือขาดไปบ้างก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ขาดก็จะต้องหักเป็นเงินทุกครั้งเสมอมา ก่อนเดือนที่จะถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยมีปัญหาหรือขัดแย้งกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการคืนเศษทองคำขาดหรือเกิน คงมีปัญหาเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น และเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยกะทันหันโจทก์จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเคลียร์งานหรือคืนผงทองคำให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขายซิงค์น้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์หยิบอันอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน ซึ่งต่อมาโจทก์ได้นำมาคืนจำเลยแล้ว และโจทก์กระทำในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำต่อนายจ้าง ตามพฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 และมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาภาษีอากร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559)

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการคำนวณภาษีซื้อและภาษีขายตามมาตรา 82/3 ต้องมีสถานะเป็นบุคคลตามมาตรา 77/1 (1) ซึ่งภาษีซื้อและภาษีขายย่อมต้องเกิดขึ้นจากการขายระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (17) และ (18) เมื่อสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่างเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันอยู่ในฐานะเป็นบุคคลเดียวกัน การโอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสำนักงานสาขาจึงเป็นเพียงการจัดการกิจการภายในของโจทก์เอง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำนักงานใหญ่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่สำนักงานสาขา และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาภาษีมูลค่าเพิ่ม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558 ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ฎีกาลักทรัพย์ของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558  จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาสำคัญผิดในคุณสมบัติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553 สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า อาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ในความเป็นจริงตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวโดยมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา เป็นการผิดเงื่อนไขในข้อจำนวนเนื้อที่ดินอันเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดซึ่งเป็นโมฆียะตามป.พ.พ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558   การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาคำมั่นจะให้เช่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552)

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552  แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก อีกทั้งการตกลงกันยกเลิกคำมั่นดังกล่าวก็หาใช่การที่จำเลยถอนคำมั่นเพียงฝ่ายเดียวอันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่
           แม้สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทน ข้อ 3 ท้ายสัญญาเช่าเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีกเท่านั้น จึงเป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าได้ และคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว ดังนั้นเมื่อคำมั่นจะให้เช่าไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

ฎีกาที่ดิน ส.ป.ก. (ฎีกาที่ 8222/2553 ,ฎีกาที่ 1417/2542)

ที่ดิน ส.ป.ก.
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553  พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2542 ก่อนทำสัญญาซื้อขายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโครงการกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วในวันนั้นเองโจทก์ก็ได้ไปยื่นคำขอทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาทต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอรับหนังสืออนุญาต ให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินอันอาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ดังเช่น ที่ดินมีโฉนด การที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครองและกำลังดำเนินการขอรับหนังสือ อนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีเจตนาให้จำเลยโอนการครอบครอง ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะสวมสิทธิของจำเลยไปดำเนินการขอออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินในนามของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างว่าการที่จำเลยไม่สามารถ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ได้เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย หาได้ไม่

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาข้อกำหนดในพินัยกรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558)

       ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น เป็นกรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558   ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
          แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

คำวินิจฉัยที่ 13/2560 (กฎหมายปกครอง)

การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ว่าใครมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

          คำวินิจฉัยที่ 13/2560 คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ) พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ)  
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2545
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/58, 130

     ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า" ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย_ _ _ (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน_ _ _" ในรายการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมหมายความรวมถึงการระบุชื่อผู้ค้ำประกัน วงเงินความรับผิดตลอดจนผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อผู้ค้ำประกันด้วย ในคดีนี้ผู้ทำแผนได้ระบุชื่อผู้ค้ำประกันและวงเงินค้ำประกันไว้โดยละเอียดโดยผู้ทำแผนชี้แจงว่าเป็นการจัดทำตามข้อมูล เอกสารแห่งหนี้ และหลักประกันที่ลูกหนี้มีอยู่ แสดงว่าผู้ทำแผนได้พยายามแสดงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อีกทั้งการที่ผู้ทำแผนระบุชื่อและความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วนก็มิใช่รายการที่มีสาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติไว้อยู่แล้ว กรณีจึงถือว่าแผนของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบกับมาตรา 90/58 (1) แล้ว
     การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นมาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน" และในมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ว่า "เจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" คดีนี้เจ้าหนี้รายที่ 80 ซึ่งผู้ทำแผนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 14 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาแผน และศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 80 ดังกล่าว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนจึงถือว่าถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย และในส่วนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในทางธุรกิจในอันที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 11 และกลุ่มที่ 12 จะต้องได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจกับลูกหนี้ก็คงไม่มีผู้ใดยินยอมให้บริการ การกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินแตกต่างกับเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ จึงเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่มาตรา 90/58 (2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายความว่าจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ตามมาตรา 130 (1) ถึง (6) ส่วนหนี้ในมาตรา 130 (7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรจะต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเมื่อแผนกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ในหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นแผนที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90/58 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581-7582/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/13, 90/14, 90/42 ตรี

     การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้
     การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการบังคับคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/13 (2) และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญ และมีข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกัน ประกอบกับทรัพย์หลักประกัน ที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกัน ได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย
     ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัท ร. โดยลูกหนี้ถือหุ้นในบริษัท ร. ร้อยละ 99.9 ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ในคดีนี้ ส่วนบริษัท ร. ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัท ร. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จะต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม
     การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2545 (ออกเนติแล้ว)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10, 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/46, 90/58, 90/60

     กฎหมายล้มละลายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่ง โดยในมาตรา 90/58 ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมและเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี บัญญัติว่า "สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน" การที่จะพิจารณาว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน และกลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มิใช่สถาบันการเงินการที่แผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ธนาคาร ก. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงรายเดียวได้รับการเสนอชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นบริษัท ส. จำนวน 10,000,000 หุ้น ที่จำนำไว้เป็นหลักประกันในราคาหุ้นละ 5 บาท เพื่อชำระหนี้กับได้รับชำระเป็นเงินสดอีก 2,179,510.55 บาท ส่วนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีธนาคาร น. รวมอยู่ด้วยได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน โดยการแปลงหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท แม้ในแผนฟื้นฟูกิจการจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ก็เป็นกรณีที่ผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้เพราะเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว จึงถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/42 ตรี แล้ว
     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย มิให้นำมาตรา 1119 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้โดยมาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวห้ามหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทจึงไม่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ดังนั้น เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุน ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนจะเป็นผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนหนี้ของตน สถานะของเจ้าหนี้ย่อมเปลี่ยนจากเจ้าหนี้มาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม การที่ผู้ทำแผนจัดทำแผนกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน จึงเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้
     ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และปรากฏว่า ในการดำเนินการเพื่อแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อตกลงเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ทำให้ราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นของลูกหนี้จากการเพิ่มทุนมีราคาน้อยกว่าราคาที่ตีไว้เพื่อการแปลงหนี้เป็นทุนตามอัตราส่วนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ค้าง จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นอันเจ้าหนี้ได้รับโอนไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเหตุดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วนด้วยหุ้นแล้วให้เจ้าหนี้ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีก ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 เมื่อหนี้ส่วนของผู้ค้ำประกันระงับเพียงบางส่วน การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่เมื่อรายการดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้แล้วตามมาตรา 90/60 วรรคสอง จึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผนย่อมถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
     ในรายการสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เลย ในขณะที่ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ ถือว่าเจ้าหนี้ได้รับหุ้นอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันสามารถหาราคาที่แท้จริงได้ และเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไป เจ้าหนี้จึงน่าจะมีโอกาสให้รับเงินปันผลจากการเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วยส่วนหนี้ในส่วนที่ขาดภายหลังจากการหักด้วยราคาหุ้นที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกจากผู้ค้ำประกันได้ตามสิทธิที่มีอยู่ หากดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายชอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(3) แล้ว
     ในการขอฟื้นฟูกิจการนั้นกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจน ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ที่ว่ามีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการเป็นปัญหาในชั้นพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จนกระทั่งมีการทำแผนและแผนนั้นได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ถึงชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาล กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

การแก้ไขแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     คดีนี้คงเหลือเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวน 5 ราย แผนฟื้นฟูกิจการเสนอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวน 3 ราย ส่วนเจ้าหนี้รายบริษัท ท. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลูกหนี้และผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 9 แผนกำหนดให้เจ้าหนี้สองรายนี้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 เฉพาะผู้คัดค้านเพียงรายเดียวเท่านั้นที่คัดค้านแผนโดยอ้างเหตุหลักที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามแผนเพราะถูกลดหนี้ที่ขอรับชำระลงถึงร้อยละ 85 และได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 และการที่ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนต่อศาลเป็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 แม้การแก้ไขแผนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระตามแผนน้อยเกินไปจริง แต่เมื่อปรากฏว่า ในวันพิจารณาแผน ผู้คัดค้านได้ยื่นคำแถลงยืนยันอีกว่า หากได้รับชำระหนี้ตามที่ระบุในคำแถลงนี้ซึ่งมากกว่าที่ผู้ทำแผนได้แก้ไขแผนดังกล่าว ผู้คัดค้านไม่ติดใจคัดค้านแผนของผู้ทำแผนต่อไป และผู้ทำแผนก็ยินยอมที่จะแก้ไข แม้จะไม่แก้ไขให้ถึงจำนวนที่ผู้คัดค้านเสนอก็ตาม เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินต่อไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่จะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางชอบที่รับคำร้องขอแก้ไขแผนดังกล่าวไว้เพียงเพื่อส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/45 มาตรา 90/48 มาตรา 90/44 และมาตรา 90/63 ได้กำหนดวิธีการแก้ไขแผนไว้ 2 ช่วงด้วยกันคือ ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนตามมาตรา 90/44 และมาตรา 90/45 อันเป็นการแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนนั้น กับการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วตามมาตรา 90/63 ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การขอแก้ไขแผนไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนหรือแก้ไขแผนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว จะต้องยื่นคำขอแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมเพื่อพิจารณาแผนไม่น้อยกว่า 3 วัน และผู้ที่มีอำนาจจะให้แก้ไขแผนหรือไม่คือ ที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้น ผู้ทำแผนหามีอำนาจที่จะแก้ไขแผนเองไม่ นอกจากนั้นแม้ที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีมติให้แก้ไขแผนได้ ก็จะต้องนำแผนที่แก้ไขนั้นเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติพิเศษตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานให้ศาลทราบเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ โดยขอให้ศาลนัดพิจารณาตามมาตรา 90/56 ต่อไป เป็นที่เห็นได้ว่า แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขแล้วที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณายอมรับแผนโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้เสียก่อน
     เมื่อตามคำร้องของผู้ทำแผนที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางอ้างเพียงว่า การที่ผู้ทำแผนแก้ไขแผนในส่วนจำนวนหนี้ที่ผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) จะได้รับชำระตามแผนเดิมร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นให้ได้รับชำระร้อยละ 45 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้แล้วเท่านั้น เมื่อไม่ได้ทำการแก้ไขโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว การแก้ไขแผนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขโดยวิธีการดังกล่าวของผู้ทำแผนจึงไม่ชอบไปด้วย

ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10897/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26, 90/27

     ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจะมีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ โดยรวม เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตามมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน เช่นนี้แม้ว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จริงจากการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องนำจำนวนหนี้ดังกล่าวนั้นมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้จะถือว่าตนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและขอบังคับคดีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหาได้ไม่
     ผู้ร้องและลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ผู้ร้องเรียกร้องค่าธรรมเนียมอันเกิดจากสัญญายืมใบหุ้นที่ผู้ร้องนำใบหุ้นของตนไปทำสัญญาจำนำกับธนาคาร ก. เพื่อประกันสินเชื่อที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารดังกล่าว ในการที่จะวินิจฉัยว่า หนี้นี้มีลักษณะเป็นหนี้การค้าหรือหนี้อื่น ๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องพิจารณาจากเนื้อความในแผนและความมุ่งหมายของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อหนี้การค้าจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตามปกติการค้าของการประกอบธุรกิจและจะมีการชำระหนี้ส่วนนี้คืนตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ ที่ผู้ร้องให้บริษัทในเครือเดียวกันยืมใบหุ้นไปจำนำเพื่อประกันหนี้นั้นมีลักษณะเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือลูกหนี้ทางด้านการเงิน ถือว่าเป็นหนี้อื่น ๆ มิใช่เจ้าหนี้การค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12, 90/27, 90/60

     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ที่ใช้คำว่า “ยึด” ย่อมหมายถึงการอายัดด้วย การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนที่ศาลมีคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อมูลหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงยื่นขอชำระหนี้ได้โดยชอบเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้คัดค้านจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 90/60 ผู้คัดค้านไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป ผู้บริหารแผนชอบที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12(7), 90/27, 90/60

     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (7) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่กฎหมายได้กำหนดให้เกิดสภาวะหยุดนิ่งหรือพักการชำระหนี้ (automatic stay) ขึ้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณา โดยมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามระบบที่กฎหมายกำหนดไว้ภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการ และให้เวลาแก่ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนสำรวจความบกพร่องของกิจการนำไปวางแผน ปรับปรุง แก้ไข ให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งลดความกดดันทางการเงินจากการถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์สินหรือหลักประกัน บทบัญญัติมาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นว่า มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการสะสางภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป สำหรับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้มีคำสั่งยึดและอายัดไว้ก่อนวันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณานั้น เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองในการห้ามมิให้เจ้าหนี้ยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปแล้ว ก็เพื่อให้การชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามแผนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่า มูลหนี้ของเจ้าหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว เจ้าหนี้จึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ได้ยึดและอายัดไว้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546 (ข้อสอบเนติ สมัย 61)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14, 90/60

     การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
     การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

กระบวนการในการรวบรวมทรัพย์สิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2549
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25, 90/39, 90/59

     การที่ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 คดีนี้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลภายนอกของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ดังกล่าว โจทก์โดยผู้ทำแผนไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559 โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน" จึงเห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน เมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รับว่า แชร์วงใหญ่ประกอบด้วยวงแชร์ 2 วง จำนวนสมาชิกวงละ 29 คน จึงมีจำนวนรวมกัน 58 คน เป็นจำนวนมากกว่า 30 คน และแชร์วงเล็กมีจำนวนวงละ 27 คน จึงมีจำนวน 54 คน อันเป็นจำนวนมากกว่า 30 คนเช่นกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2)