เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: พฤศจิกายน 2017

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาข้อกำหนดในพินัยกรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558)

       ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น เป็นกรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558   ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
          แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

คำวินิจฉัยที่ 13/2560 (กฎหมายปกครอง)

การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ว่าใครมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

          คำวินิจฉัยที่ 13/2560 คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ) พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ)  
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2545
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/58, 130

     ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า" ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย_ _ _ (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน_ _ _" ในรายการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมหมายความรวมถึงการระบุชื่อผู้ค้ำประกัน วงเงินความรับผิดตลอดจนผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อผู้ค้ำประกันด้วย ในคดีนี้ผู้ทำแผนได้ระบุชื่อผู้ค้ำประกันและวงเงินค้ำประกันไว้โดยละเอียดโดยผู้ทำแผนชี้แจงว่าเป็นการจัดทำตามข้อมูล เอกสารแห่งหนี้ และหลักประกันที่ลูกหนี้มีอยู่ แสดงว่าผู้ทำแผนได้พยายามแสดงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อีกทั้งการที่ผู้ทำแผนระบุชื่อและความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วนก็มิใช่รายการที่มีสาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติไว้อยู่แล้ว กรณีจึงถือว่าแผนของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบกับมาตรา 90/58 (1) แล้ว
     การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นมาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน" และในมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ว่า "เจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" คดีนี้เจ้าหนี้รายที่ 80 ซึ่งผู้ทำแผนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 14 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาแผน และศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 80 ดังกล่าว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนจึงถือว่าถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย และในส่วนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในทางธุรกิจในอันที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 11 และกลุ่มที่ 12 จะต้องได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจกับลูกหนี้ก็คงไม่มีผู้ใดยินยอมให้บริการ การกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินแตกต่างกับเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ จึงเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่มาตรา 90/58 (2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายความว่าจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ตามมาตรา 130 (1) ถึง (6) ส่วนหนี้ในมาตรา 130 (7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรจะต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเมื่อแผนกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ในหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นแผนที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90/58 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581-7582/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/13, 90/14, 90/42 ตรี

     การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้
     การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการบังคับคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/13 (2) และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญ และมีข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกัน ประกอบกับทรัพย์หลักประกัน ที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกัน ได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย
     ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัท ร. โดยลูกหนี้ถือหุ้นในบริษัท ร. ร้อยละ 99.9 ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ในคดีนี้ ส่วนบริษัท ร. ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัท ร. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จะต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม
     การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2545 (ออกเนติแล้ว)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10, 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/46, 90/58, 90/60

     กฎหมายล้มละลายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่ง โดยในมาตรา 90/58 ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมและเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี บัญญัติว่า "สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน" การที่จะพิจารณาว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน และกลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มิใช่สถาบันการเงินการที่แผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ธนาคาร ก. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงรายเดียวได้รับการเสนอชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นบริษัท ส. จำนวน 10,000,000 หุ้น ที่จำนำไว้เป็นหลักประกันในราคาหุ้นละ 5 บาท เพื่อชำระหนี้กับได้รับชำระเป็นเงินสดอีก 2,179,510.55 บาท ส่วนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีธนาคาร น. รวมอยู่ด้วยได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน โดยการแปลงหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท แม้ในแผนฟื้นฟูกิจการจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ก็เป็นกรณีที่ผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้เพราะเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว จึงถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/42 ตรี แล้ว
     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย มิให้นำมาตรา 1119 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้โดยมาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวห้ามหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทจึงไม่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ดังนั้น เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุน ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนจะเป็นผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนหนี้ของตน สถานะของเจ้าหนี้ย่อมเปลี่ยนจากเจ้าหนี้มาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม การที่ผู้ทำแผนจัดทำแผนกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน จึงเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้
     ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และปรากฏว่า ในการดำเนินการเพื่อแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อตกลงเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ทำให้ราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นของลูกหนี้จากการเพิ่มทุนมีราคาน้อยกว่าราคาที่ตีไว้เพื่อการแปลงหนี้เป็นทุนตามอัตราส่วนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ค้าง จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นอันเจ้าหนี้ได้รับโอนไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเหตุดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วนด้วยหุ้นแล้วให้เจ้าหนี้ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีก ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 เมื่อหนี้ส่วนของผู้ค้ำประกันระงับเพียงบางส่วน การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่เมื่อรายการดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้แล้วตามมาตรา 90/60 วรรคสอง จึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผนย่อมถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
     ในรายการสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เลย ในขณะที่ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ ถือว่าเจ้าหนี้ได้รับหุ้นอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันสามารถหาราคาที่แท้จริงได้ และเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไป เจ้าหนี้จึงน่าจะมีโอกาสให้รับเงินปันผลจากการเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วยส่วนหนี้ในส่วนที่ขาดภายหลังจากการหักด้วยราคาหุ้นที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกจากผู้ค้ำประกันได้ตามสิทธิที่มีอยู่ หากดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายชอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(3) แล้ว
     ในการขอฟื้นฟูกิจการนั้นกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจน ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ที่ว่ามีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการเป็นปัญหาในชั้นพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จนกระทั่งมีการทำแผนและแผนนั้นได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ถึงชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาล กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

การแก้ไขแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     คดีนี้คงเหลือเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวน 5 ราย แผนฟื้นฟูกิจการเสนอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวน 3 ราย ส่วนเจ้าหนี้รายบริษัท ท. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลูกหนี้และผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 9 แผนกำหนดให้เจ้าหนี้สองรายนี้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 เฉพาะผู้คัดค้านเพียงรายเดียวเท่านั้นที่คัดค้านแผนโดยอ้างเหตุหลักที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามแผนเพราะถูกลดหนี้ที่ขอรับชำระลงถึงร้อยละ 85 และได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 และการที่ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนต่อศาลเป็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 แม้การแก้ไขแผนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระตามแผนน้อยเกินไปจริง แต่เมื่อปรากฏว่า ในวันพิจารณาแผน ผู้คัดค้านได้ยื่นคำแถลงยืนยันอีกว่า หากได้รับชำระหนี้ตามที่ระบุในคำแถลงนี้ซึ่งมากกว่าที่ผู้ทำแผนได้แก้ไขแผนดังกล่าว ผู้คัดค้านไม่ติดใจคัดค้านแผนของผู้ทำแผนต่อไป และผู้ทำแผนก็ยินยอมที่จะแก้ไข แม้จะไม่แก้ไขให้ถึงจำนวนที่ผู้คัดค้านเสนอก็ตาม เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินต่อไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่จะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางชอบที่รับคำร้องขอแก้ไขแผนดังกล่าวไว้เพียงเพื่อส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/45 มาตรา 90/48 มาตรา 90/44 และมาตรา 90/63 ได้กำหนดวิธีการแก้ไขแผนไว้ 2 ช่วงด้วยกันคือ ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนตามมาตรา 90/44 และมาตรา 90/45 อันเป็นการแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนนั้น กับการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วตามมาตรา 90/63 ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การขอแก้ไขแผนไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนหรือแก้ไขแผนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว จะต้องยื่นคำขอแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมเพื่อพิจารณาแผนไม่น้อยกว่า 3 วัน และผู้ที่มีอำนาจจะให้แก้ไขแผนหรือไม่คือ ที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้น ผู้ทำแผนหามีอำนาจที่จะแก้ไขแผนเองไม่ นอกจากนั้นแม้ที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีมติให้แก้ไขแผนได้ ก็จะต้องนำแผนที่แก้ไขนั้นเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติพิเศษตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานให้ศาลทราบเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ โดยขอให้ศาลนัดพิจารณาตามมาตรา 90/56 ต่อไป เป็นที่เห็นได้ว่า แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขแล้วที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณายอมรับแผนโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้เสียก่อน
     เมื่อตามคำร้องของผู้ทำแผนที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางอ้างเพียงว่า การที่ผู้ทำแผนแก้ไขแผนในส่วนจำนวนหนี้ที่ผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) จะได้รับชำระตามแผนเดิมร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นให้ได้รับชำระร้อยละ 45 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้แล้วเท่านั้น เมื่อไม่ได้ทำการแก้ไขโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว การแก้ไขแผนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขโดยวิธีการดังกล่าวของผู้ทำแผนจึงไม่ชอบไปด้วย

ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10897/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26, 90/27

     ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจะมีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ โดยรวม เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตามมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน เช่นนี้แม้ว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จริงจากการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องนำจำนวนหนี้ดังกล่าวนั้นมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้จะถือว่าตนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและขอบังคับคดีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหาได้ไม่
     ผู้ร้องและลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ผู้ร้องเรียกร้องค่าธรรมเนียมอันเกิดจากสัญญายืมใบหุ้นที่ผู้ร้องนำใบหุ้นของตนไปทำสัญญาจำนำกับธนาคาร ก. เพื่อประกันสินเชื่อที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารดังกล่าว ในการที่จะวินิจฉัยว่า หนี้นี้มีลักษณะเป็นหนี้การค้าหรือหนี้อื่น ๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องพิจารณาจากเนื้อความในแผนและความมุ่งหมายของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อหนี้การค้าจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตามปกติการค้าของการประกอบธุรกิจและจะมีการชำระหนี้ส่วนนี้คืนตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ ที่ผู้ร้องให้บริษัทในเครือเดียวกันยืมใบหุ้นไปจำนำเพื่อประกันหนี้นั้นมีลักษณะเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือลูกหนี้ทางด้านการเงิน ถือว่าเป็นหนี้อื่น ๆ มิใช่เจ้าหนี้การค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12, 90/27, 90/60

     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ที่ใช้คำว่า “ยึด” ย่อมหมายถึงการอายัดด้วย การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนที่ศาลมีคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อมูลหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงยื่นขอชำระหนี้ได้โดยชอบเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้คัดค้านจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 90/60 ผู้คัดค้านไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป ผู้บริหารแผนชอบที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12(7), 90/27, 90/60

     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (7) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่กฎหมายได้กำหนดให้เกิดสภาวะหยุดนิ่งหรือพักการชำระหนี้ (automatic stay) ขึ้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณา โดยมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามระบบที่กฎหมายกำหนดไว้ภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการ และให้เวลาแก่ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนสำรวจความบกพร่องของกิจการนำไปวางแผน ปรับปรุง แก้ไข ให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งลดความกดดันทางการเงินจากการถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์สินหรือหลักประกัน บทบัญญัติมาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นว่า มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการสะสางภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป สำหรับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้มีคำสั่งยึดและอายัดไว้ก่อนวันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณานั้น เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองในการห้ามมิให้เจ้าหนี้ยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปแล้ว ก็เพื่อให้การชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามแผนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่า มูลหนี้ของเจ้าหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว เจ้าหนี้จึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ได้ยึดและอายัดไว้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546 (ข้อสอบเนติ สมัย 61)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14, 90/60

     การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
     การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

กระบวนการในการรวบรวมทรัพย์สิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2549
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25, 90/39, 90/59

     การที่ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 คดีนี้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลภายนอกของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ดังกล่าว โจทก์โดยผู้ทำแผนไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559 โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน" จึงเห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน เมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รับว่า แชร์วงใหญ่ประกอบด้วยวงแชร์ 2 วง จำนวนสมาชิกวงละ 29 คน จึงมีจำนวนรวมกัน 58 คน เป็นจำนวนมากกว่า 30 คน และแชร์วงเล็กมีจำนวนวงละ 27 คน จึงมีจำนวน 54 คน อันเป็นจำนวนมากกว่า 30 คนเช่นกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2)

ฎีกาค่าฤชาธรรมเนียม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559)

ค่าฤชาธรรมเนียมแม้คู่ความไม่ขอมา ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งไว้ในคำพิพากษา
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 6,000 บาท แทนโจทก์ โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอื่น เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 (เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560  โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง

คำวินิจฉัยที่ 19/2560 (กฎหมายปกครอง)

       คำวินิจฉัยที่ 19/2560 คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาทรัพย์ติดจำนอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558)

แม้ว่าทรัพย์จะติดจำนอง แต่ก็ไม่ตัดอำนาจแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่จะจำหน่าย จ่ายโอนได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558 ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง

ฎีกาเนติฯ วิแพ่ง. ภาค1 ภาคค่ำ อ.ศิริชัยฯ วันเสาร์ 25 พย 60 สมัยที่70

ฎีกาเนติฯ วิแพ่ง ภาค1 ภาคค่ำ อ.ศิริชัยฯ 
วันเสาร์ ที่ 25 พย 60 สมัยที่70
-------------------------



ป.วิ.พ.มาตรา ๔ (๑)   
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๖๔/๒๕๔๒ บันทึกในทางทะเบียนการหย่าตามฟ้องทำที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ทำหน้าที่ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองจึงถือว่า เป็นกรณีที่อ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่านั้น แม้จำเลยและบุตรทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ก็ตาม ก็ถือว่าสถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าไว้นั้น จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๔ (๑)
        ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์แล้ว ต่อมามีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดี เมื่อศาลสูงเห็นว่าไม่ถูกต้อง ย่อมพิพากษากลับเป็นให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไว้ก่อนวันมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๕๕/๒๕๔๐ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อันเป็นการ ได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๒๐ และมาตรา ๑๕๖๖() เป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต* กรุงเทพมหานครจึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเมื่อศาลจังหวัดสระบุรีมิใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลโจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าบุตรผู้เยาว์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๖๔/๒๕๔๒ บันทึกในทางทะเบียนการหย่าตามฟ้องทำที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ทำหน้าที่ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองจึงถือว่า เป็นกรณีที่อ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่านั้น แม้จำเลยและบุตรทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ก็ตาม ก็ถือว่าสถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงในทะเบียน การหย่าไว้นั้น จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔() ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับ คำฟ้อง โจทก์แล้ว ต่อมามีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดี เมื่อศาลสูงเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ย่อมพิพากษากลับเป็นให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไว้ก่อนวันมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๕๕/๒๕๔๐ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อันเป็นการ ได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๒๐ และมาตรา ๑๕๖๖() เป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต* กรุงเทพมหานครจึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเมื่อศาลจังหวัดสระบุรีมิใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลโจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าบุตรผู้เยาว์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

       
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๔๓/๒๕๔๖ คำว่า "มูลคดีเกิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔() หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
        มาตรา ๔ ทวิ “คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”
        คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ศาลที่จะเสนอคำฟ้องต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของ มาตรา ๔ (๑) คือ ยื่นคำฟ้องได้ที่
        ก. ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือ
        ข. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
        คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายถึง คดีที่การใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องบังคับ หรือพิจารณาเกี่ยวกับตัวอสังหาริมทรัพย์ หรือ สิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นการฟ้องบังคับที่ตัวอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะต้องถูกบังคับตามคำขอ ด้วยได้แก่ฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน บังคับจำนอง ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเก็บกิน สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น หมายถึง ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ๔ ว่าด้วยทรัพย์

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๑๕/๒๕๒๓ คดีฟ้องให้จดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๗/๒๕๒๕ โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตั้งอยู่ในจังหวัดตราด โจทก์ได้ตกลงกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอ. ให้โจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แล้วโจทก์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ห้าง และห้างใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งของห้าง เมื่อเลิกห้างแล้วถ้าหากมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้โจทก์ออกเงินเข้ากองทรัพย์สินของห้าง ๕๐,๐๐๐ บาทแล้วห้างจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ต่อมาห้างถูกศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและ พิพากษาให้ล้มละลายคดีถึงที่สุด โจทก์ขอชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ห้างและขอให้ห้างจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างไม่ยอมปฏิบัติตามที่โจทก์ขอ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดตราดขอให้บังคับจำเลยรับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์ แล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์กับขอให้บังคับห้างออกไปจากที่ดินพิพาทด้วย ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓มาตรา ๒๖,๒๗ ซึ่งปฏิบัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ก็ห้ามเฉพาะหนี้เงิน ไม่ได้ห้ามฟ้องหนี้เกี่ยวด้วยการกระทำงดเว้นกระทำ หรือส่งมอบทรัพย์อื่นนอกจากเงิน ซึ่งเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังเช่นฟ้องโจทก์ ในคดีนี้ และตามคำฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดตราด ซึ่งเป็นศาลที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตไม่จำต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เด็ดขาด เพราะโจทก์มิได้ฟ้องว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทและขอให้สั่งถอนการยึด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๓๐/๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยด้วย คำฟ้องบังคับ จำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์จึงมีสิทธิ เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ใน เขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ ทวิ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๓๔/๒๕๑๗ คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น จะฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๑) หาได้ไม่ ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ถ้าโจทก์ประสงค์จะฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ก็ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลนั้นๆ จะเป็นการสะดวก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๒) เสียก่อน

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๘๓/๒๕๓๔ โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืน กับเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลยเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘๓/๒๕๒๗ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ มิใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดิน เป็นของจำเลย และตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอที่จะ บังคับแก่ที่ดินที่พิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
        ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์อยู่ในอำนาจดูแลปกปักรักษาของนายอำเภอท้องที่ แม้โจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ครอบครองและทำ ประโยชน์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เมื่อนายอำเภอโต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะและดำเนินการที่จะเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ก็ชอบที่โจทก์จะฟ้องร้องนายอำเภอเพื่อขอให้ระงับการกระทำอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เพราะโจทก์จะเสียสิทธิในที่พิพาทหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะหรือไม่ มิใช่อยู่ที่การกระทำของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับที่อันเป็นสาธารณประโยชน์และถึงหากจำเลยจะมาช่วยเหลือในการรังวัดปักหลักเขตด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๖/๒๕๒๗)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๒๑/๒๕๕๐ คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗ เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามทราบถึงการฟ้องแล้วไม่ได้คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณากลับยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์และให้จำเลยทั้งสามอ้างตนเข้าเบิกความ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยทั้งสามยอมปฏิบัติตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จสิ้น อันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบแล้ว จำเลยทั้งสามจึงยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้
        เอกสารใบเสร็จรับเงินที่แนบท้ายอุทธรณ์และฎีกากับสำเนาฟ้องที่แนบมาท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา จำเลยทั้งสามมีสิทธิเพียงสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๙ วรรคสอง (เดิม) เท่านั้น หามีสิทธิส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานไม่
        ฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมาเป็นฎีกาทั้งสิ้น โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร และศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง

คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร
        มาตรา ๔ ตรี “คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่ง จำเลยมิได้ภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มิสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาล แพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มิภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
        คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ใน ราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้”
        บทบัญญัติในมาตรานี้บัญญัติเพื่อสิทธิในการฟ้องคดีของคนสัญชาติไทยหรือ คนที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยไม่ว่าจะมีสัญชาติใด
        คำฟ้องที่ไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔ ทวิ ก็เป็นคดีที่เกี่ยวด้วย หนี้เหนือบุคคลตามกฎหมายถ้าจำเลยมิได้อยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักรนั้น ถ้าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยจะมีภูมิลำเนาที่ใดไม่สำคัญ หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรจะเป็นคนสัญชาติใดไม่สำคัญโจทก์จะฟ้องคดีประเภทนี้ได้ต่อ
        ก.   ศาลแพ่ง หรือ
        ข.   ศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนา หรือ
        ค.   ศาลที่จำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับได้ในราชอาณาจักรอยู่ในเขต
        โดยโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลใดก็ได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขออนุญาตเพราะคำว่า “ก็ได้” ในตอนท้ายน่าจะเป็นการให้สิทธิโจทก์ แต่ในคำฟ้องน่าจะต้องบรรยายให้เห็นว่าที่จะฟ้องคดีต่อศาลหนึ่งศาลใดที่ตนมีภูมิลำเนาก็ได้
        ในเรื่องทรัพย์สินที่อาจจะถูกบังคับนั้นต้องเป็นทรัพย์สินของจำเลย จะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ และถ้ามีทรัพย์สินของจำเลยอยู่ในเขตศาลหลายแห่ง โจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลหนึ่งศาลใดที่ทรัพย์อันอาจจะบังคับคดีอยู่ในเขตก็ได้ไม่ว่าจะอยู่อย่างถาวรหรือชั่วคราว
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๔ ซ. บุตรผู้ร้องได้อยู่กับผู้ร้องที่ตลาดชุมแสงตั้งแต่เล็ก ๆ และได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนในอำเภอชุมแสง ต่อมา ซ. มาเรียนต่อที่จังหวัดพระนครจนสำเร็จแล้วสมัครเป็นครูโรงเรียนจีนสอนอยู่ประมาณปีเศษ ก็ถูกศาลลงโทษฐานเป็นอั้งยี่และถูกเนรเทศไปประเทศจีนก่อนถูกเนรเทศ ซ. มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ตามทะเบียนบ้านและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนี้ แม้ ซ.จะไปประกอบอาชีพชั่วคราว ณ จังหวัดพระนครก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่า ซ. มีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนา

คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
        มาตรา ๔ จัตวา “คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่ เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
        ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล”
        สำหรับคดีร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลหนึ่ง ศาลใดได้ดังนี้
        ก. ศาลที่เจ้ามรดกมิภูมิลำเนาในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเจ้ามรดกจะถึงแก่ความตายในเขตศาลใด เช่นเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่มาถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลนครธน อย่างนี้ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในการขอเป็นผู้จัดการมรดก ในกรณีที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรนั้น ถึงแม้จะมีทรัพย์มรดกไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์อยู่ในเขตศาลที่มิใช่ภูมิลำเนาขณะเจ้ามรดกตาย ก็จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ไม่ได้ ทั้งไม่อาจที่จะขออนุญาตยื่นต่อศาลทีทรัพย์มรดกตั้งอยู่ได้
        ถ้าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาหลายแห่งจะยื่นต่อศาลที่มีภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้
        ข. ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล คำว่า ทรัพย์มรดกตามความหมายของมาตรานี้ต้องหมายถึง ทรัพย์สินทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลหลายศาลผู้ร้องก็อาจจะยื่นคำร้องต่อศาลใดศาลหนึ่งซึ่งทรัพย์มรดกอยู่ในเขตก็ได้ ไม่ว่ามรดกนั้นจะเป็นทรัพย์ประเภทใด

         คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๑๔/๒๕๕๗ บุคคลอาจมีภูมิลำเนาหลายแห่งได้ถ้ามีถิ่นที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญหลายแห่ง เดิมผู้ตายอยู่บ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ ๔ ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ต่อมาในปี ๒๕๔๙ จึงย้ายไปอยู่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ ผู้ตายถึงแก่ความตายขณะอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และ ฌาปนกิจที่จังหวัดนครปฐม ผู้ร้องและทายาทก็มีภูมิลำเนาที่จังหวัดนครปฐม แสดงว่า ผู้ตายมีบ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ ๔ เป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดนครปฐมจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗ ดังนั้น ผู้ร้องมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดนครปฐมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๔ จัตวา

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๔๘/๒๕๔๓ พระภิกษุ ก. ได้มาซึ่งที่ดินในจังหวัดลำพูนในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศต่อมาพระภิกษุ ก. ถึงแก่มรณภาพขณะที่พระภิกษุ ก. มีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมิได้จำหน่ายที่ดินไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรมการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้จึงต้องยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ จัตวา
เมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดลำพูนการที่ศาลจังหวัดลำพูนรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่ง กับศาลอุทธรณ์ภาค ๒พิจารณาอุทธรณ์ผู้ร้องและพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการมิชอบปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) เป็นไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องและให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลแก่ผู้ร้อง

คดีที่ร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคล
        มาตรา ๔ เบญจ “คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมี สำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล”
        ในคดีที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นเป็นคนละกรณีกับคดีที่ฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย หลักของการเสนอคดีต่อศาลใดในมาตรานี้ใช้เฉพาะกรณีที่เริ่มคดีด้วยคำร้องขอเท่านั้น ถึงแม้บางกรณีโจทก์อาจจะดำเนินคดีโดยทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอได้ก็ตาม ถ้าเริ่มคดีโดยทำเป็นคำฟ้องก็ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ของมาตรานี้
คำร้องขอที่เกี่ยวกับนิติบุคคลตามมาตรานี้ ได้แก่
        ก. คำร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล
        ข.  คำร้องขอเลิกนิติบุคคล
        ค. คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล
        ง.  คำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล
คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะต้องจัดการในราชอาณาจักร
        มาตรา ๔ ฉ บัญญัติว่า “คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิก จัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าว อยู่ในเขตศาล”
        บทบัญญัติของมาตรา ๔ ฉ นี้อาจเรียกว่าเป็นการบัญญัติไว้สำหรับบุคคลที่ย้ายภูมิสำเนาระหว่างประเทศอาจจะเป็นคนไทยอพยพไปอยู่ต่างประเทศ แต่ยังคงมีทรัพย์สินไว้ในประเทศไทย หรือคนต่างประเทศอพยพมาอยู่เมืองไทย มาทำมาหากินและมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย แต่ต่อมาอพยพไปอยู่ต่างประเทศก็ได้ ฉะนั้นบัญญัติมาตรานี้จึงบัญญัติ ไว้โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสนอคดีต่อศาลของผู้ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงภูมิสำเนาในระหว่างประเทศ
        คำร้องขอตามมาตรานี้ หมายถึง คำร้องขอเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอแล้ว จะต้องมีการจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือต้องเลิกจัดการทรัพย์สินนั้น ที่อยู่ในราชอาณาจักรซึ่งทำให้มีผู้มีอำนาจจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรนั้นโดยผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีที่เป็นเหตุให้มีการร้องขอนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้พิจารณาเฉพาะตัวทรัพย์สินอย่างเดียว และหากผู้ร้องมีภูมิสำเนาอยู่ในราชอาณาจักรก็ใช้มาตรา ๔ (๒) ได้ การเสนอคดีตามมาตรานี้เป็นการเสนอคดีต่อศาลทีมีเขตเหนือทรัพย์สินที่จะต้องจัดการหรือขอให้เลิกจัดการนั้น ถ้าทรัพย์สินที่จะจัดการหรือขอให้เลิกจัดการนั้นมีหลายอย่างอยู่ ต่างเขตศาลกัน ก็ต้องอาศัยหลักตามมาตรา ๕ คือจะยื่นคำร้องขอต่อศาลไหนก็ได้

ศาลที่มีอำนาจเหนือคดีนั้นหลายศาล
        มาตรา ๕ “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่า นั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดี เกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่น ว่านั้นก็ได้”

คดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลหลายศาลนั้น ได้แก่
        ก. คดีที่ฟ้องจำเลยร่วมกันหลายคนที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน แต่ละคน มีภูมิลำเนาต่างกัน
        ข.  คดีที่มีมูลคดีเกิดขึ้นหลายท้องที่ที่อยู่ในเขตศาลต่างกัน
        ค. คดีที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตศาลหลายศาล
        ง.  คดีที่มีหลายข้อหา

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๙๒/๒๕๔๑ คำฟ้องโจทก์นอกจากขอให้บังคับจำนองเอากับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสุพรรณบุรีและในเขตอำนาจศาลจังหวัดราชบุรีแล้วโจทก์ยังฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินตามสัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ กับให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ กับสัญญาจำนองเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑และที่ ๓ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาที่ทำกันที่สำนักงานของโจทก์สาขาท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ดังนั้นต้องถือว่าคำฟ้องส่วนที่ให้บังคับตามสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกัน และหนังสือรับสภาพหนี้มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดกาญจนบุรีแม้ว่าโจทก์จะฟ้องบังคับจำนองด้วย กรณีเป็นเรื่องโจทก์อาจเสนอคำฟ้องต่อศาลได้สองศาล โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕ ประมวลรัษฎากรมิได้ระบุให้สัญญาจำนองต้อง ปิดอากรแสตมป์

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๔๗/๒๕๔๔ อ. ก. และ ป. เจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือที่ดินน.ส. ๓ ที่จังหวัดมหาสารคาม ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ อ. และ ก. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดมหาสารคามในขณะที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา ๔ จัตวา และขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ซึ่งไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดมหาสารคามมาในคำร้องเดียวกันได้


   ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ติดตาม ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com