เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: หลักกฎหมาย ฎีกาเด่น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ)

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักกฎหมาย ฎีกาเด่น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ)

คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          มาตรา 4 ทวิ   "คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
          ถ้าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์แล้ว การยื่นฟ้องก็เป็นไปตามมาตรา 4 ทวิ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 4 คือให้ยื่นฟ้องที่
          (1) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือ
          (2) ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
          คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า คดีที่การใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องบังคับหรือพิจารณาเกี่ยวด้วยตัวอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เป็นการฟ้องบังคับที่ตัวอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะต้องถูกบังคับตามคำขอนั้นด้วย เช่น ฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน ฟ้องบังคับจำนอง ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น คือ ทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2514   ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เสนอคำฟ้องต่อศาลที่บ้านพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2517   คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527   โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ มิใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินเป็นของจำเลย และตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่ดินที่พิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2532   การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงสิทธิที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำนอง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่จำนองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2532  คดีฟ้องให้ส่งมอบที่ดินตามสัญญาซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2534  โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืน กับเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลยเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ดังกล่าว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2537   ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 1 นำน.ส.3 ก. และ น.ส.3 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อนำออกขายเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำ น.ส.3 ก. และ น.ส.3ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 แล้วยักยอกเงินค่าที่ดินเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น คำฟ้องส่วนนี้มิใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา4 ทวิ แต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2542  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยด้วย คำฟ้องบังคับจำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 ทวิ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551  การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น