เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: ถอดคำบรรยายเนติ
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดคำบรรยายเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดคำบรรยายเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี) มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์) 17 ธันวาคม 2560

หลักการใหม่ ของการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี)
มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์)
บรรยายโดยอาจารย์วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ
บรรยายวันที่ 17 ธันวาคม 2560
-----------


         ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของการบรรยาย อาจารย์จะขอกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนของภาคบังคับคดีที่มีการแก้ไขใหม่ ซึ่งนักศึกษาจะไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายใหม่กลับหลักกฎหมายเดิม

      กรณีแรก คือบทบัญญัติในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว”

ให้นักศึกษาขีดเส้นใต้ตัวบทคำว่า “ซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และคำว่าหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว” ดังนั้นต่อไปนี้ในคดีแพ่งที่จำเลยมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาโดยคดีมีการสืบพยานหลักฐาน แล้วต่อมาเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยไม่มาศาล ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาและให้ศาลออกคำบังคับทันทีโดยให้ถือว่าจำเลยที่ไม่มาศาลนั้นทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น เพราะฉะนั้นในปัจจุบันคดีที่จำเลยไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยขาดนัดพิจารณาแต่ไม่มาศาลในวันฟังคำพิพากษาจะไม่มีการส่งคำบังคับไปให้จำเลยอีก
แต่ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา มาตรา 272 วรรคสองได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องส่งคำบังคับนั้นให้แก่จำเลยด้วย

* ประเด็นต่อมาที่นักศึกษาจะต้องรู้คือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 273 วรรคสี่ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนด หรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน โดยให้นักศึกษาขีดเส้นใต้คำว่าเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน

!!! หลักการใหม่ในเรื่องต่อไปคือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 274 ซึ่งแต่เดิมนั้นบุคคลที่มีสิทธิจะร้องขอให้มีการบังคับคดีคือคู่ความฝ่ายที่ชนะคดี แต่ในปัจจุบันนั้นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ได้รับชำระหนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่คู่ความในคดี แต่อาจจะเป็นบุคคลภายนอกก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นกรณีของบุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความได้ตกลงกันและศาลมีคำพิพากษาตามยอมก็ได้อีกทั้ง มาตรา 274 วรรคสามได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น สิทธิในการบังคับคดีไม่สามารถที่จะโอนให้บุคคลภายนอกได้ แต่ในปัจจุบันนั้นสามารถโอนสิทธิในการบังคับคดีได้แล้ว

* ต่อไปคือบทบัญญัติในมาตรา 277 ในเรื่องการไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเจ้าหนี้จะยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้จะใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนั้นหากเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดี แต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด ต่อไปนี้เจ้าหนี้สามารถใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเพื่อหาทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลฎีกาเดิมทั้งหมด

***ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 298 แต่เดิมนั้นเวลาที่เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ หากเจ้าหนี้นำชี้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องทำการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ในปัจจุบันนั้นกฎหมายได้สร้างเกราะคุ้มกันให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยหากทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้มีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่นหากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมยึดอายัด หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรือการอายัดก็ได้ แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งงดการยึดหรืออายัดได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยและจะต้องมีคำสั่ง ห้ามการโอน ขาย ยักย้าย จำหน่ายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเอาไว้ด้วย

และในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังยืนยันให้ยึด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัด เพื่อขอให้ศาลสั่งให้
เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องมายื่นคำร้องต่อศาลเท่านั้น

***ประเด็นต่อไปที่นักศึกษาไม่รู้ไม่ได้คือกรณีตามมาตรา 331 ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 จุด ด้วยกัน โดยจุดแรก คือเมื่อได้มีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในเรื่องนี้ให้นักศึกษาตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ว่าในปัจจุบันนั้นในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากศาลแล้ว

จุดที่ 2 คือหากเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องกำหนดวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันยึด อายัดหรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น และที่สำคัญจะอยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 331 วรรคสาม คือ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้าม มิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควร มาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติในมาตรา 331 วรรคสองได้กำหนดให้เวลาในการขายทอดตลาดนั้นไม่น้อยกว่า 60 วันแล้ว เพื่อให้เวลาบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หาบุคคลมาสู้ราคาในการขายทอดตลาดนั้นเพราะฉะนั้น เมื่อมีการขายทอดตลาดแล้วกฎหมายจึงห้ามบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีกซึ่งเป็นการยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 309 ทวิเดิมทั้งหมด

ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 357 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้ทำนิติกรรม โดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ซึ่งหากหนังสือสำคัญ เช่น โฉนดที่ดิน ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบทะเบียน หรือเอกสารสิทธิที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนนั้นสูญหาย บุบสลายหรือนำมาไม่ได้เพราะเหตุอื่นใด ศาลสามารถที่จะสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ออกใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวได้ และเมื่อได้ออกใบแทนแล้วหนังสือสำคัญเดิมก็เป็นอันยกเลิกไปซึ่งในเรื่องนี้เป็นการกลับหลักการเดิมของกฎหมาย เพราะแต่เดิมนั้นคำพิพากษาของศาลจะไปบังคับบุคคลภายนอกไม่ได้ แต่ปัจจุบันนั้นเฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ศาลสามารถ มีคำสั่งบังคับบุคคลภายนอกในเรื่องดังกล่าวได้แล้ว

ประการต่อมาคือในบทบัญญัติ มาตรา 358 วรรคหนึ่ง ซึ่งการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นกรณีที่อาจให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่สามารถที่จะกระทำเช่นนี้ได้

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ถอดคำบรรยายเนติ พร้อมเน้นประเด็นหลักกฎหมาย ฎีกาเด่นติดดาว ภาค2 สมัยที่ 70

ถอดคำบรรยายเนติบัณฑิต พร้อมเน้นประเด็นหลักกฎหมาย ฎีกาเด่นติดดาว ภาค2 สมัยที่ 70

     การเตรียมตัวสอบเนติบัณฑิต ในเบื้องต้นนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องมีอยู่คู่กาย ในเบื้องต้น คือ
     1. ตัวบทกฎหมาย (ที่อัพเดท) ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง , กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีการแก้ไขใหม่ หลายมาตรา*
     2. หนังสือรวมคำบรรยายเนติ (ที่อัพเดท สมัยปัจจุบัน) สั่งตรงจากสำนักฝึกอบรมเนติฯ
     3. สรุปตัวบท สาระสำคัญ มาตราที่ออกสอบแล้วในปีที่ผ่านมา หรือ หลายๆ สมัยย้อนหลัง
     4. ข้อสอบเนติฯ (ข้อสอบเก่า) ฝึกทบทวน หัดเขียน หรือคัดลอก เพื่อความคล่องในเวลาลงสนามสอบ

     ดังนั้น 4 ประการดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น นั้นจะช่วยทำให้ผู้ศึกษาในระดับเนติบัณฑิต จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรก


---------------------------------------
ถอดเทป สรุป เก็งฎีกา เตรียมสอบ รายข้อ อัพเดท ก่อนถึงวันสอบ 1-2 วัน ที่ LawSiam.com