เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค2 สมัยที่71 เล่มที่ 2

        บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค๒ สมัยที่ ๗๑ เล่มที่ ๒

        คำถาม คำให้การจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องจะหมายความรวมถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องตามที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ จำเลยด้วยหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๒๑/๒๕๖๑ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลย ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาของศาลจังหวัดสุรินทร์ ให้ลงโทษจำคุก ๔ ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในระหว่างที่จำเลยยังจะต้องรับโทษในคดีดังกล่าว จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้อีก เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องทั้งหมดให้จำเลยฟัง จำเลยก็ได้ให้การว่ารับสารภาพตามฟ้อง คำให้การจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกิน ๖ เดือน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖

        คำถาม ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๔/๒๕๖๑ แม้ตามคำฟ้องและทางพิจารณาคดีจะได้ความว่า การล่วงละเมิดทางเพศของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ ๑ นั้น เป็นไปโดยผู้เสียหายที่ ๑ ยินยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงเรื่องพิจารณาตามองค์ประกอบในเรื่องอายุ โดยกฎหมายได้คำนึงถึงการคุ้มครองความเป็นผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่อายุยังไม่เกินสิบสามปี ยังขาดวุฒิภาวะ ตลอดจนความรู้และความเข้าใจในการดำรงชีวิตซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิดหากล่วงรู้และทราบข้อเท็จจริง ในองค์ประกอบเรื่องอายุในส่วนนี้แล้ว ยังคงกระทำความผิด ก็จะอ้างถึงความยินยอมของผู้เสียหายที่ ๑ มาเป็นเหตุปัดความรับผิดในเรื่องดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน กรณีย่อมถือว่าผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุยังไม่เกินสิบสามปีนั้น แม้จะถูกจำเลยกระทำความผิดโดยยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุ พิจารณาว่ามิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนั้น ผู้เสียหายที่ ๑ โดยมารดาผู้แทน โดยชอบธรรมจึงมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในส่วนความผิดที่ถูกจำเลยกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ วรรคสาม และมาตรา ๒๗๙ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ ๑ โดย น. มารดาโจทก์ร่วมผู้แทนโดยชอบธรรม เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้วและเมื่อเป็นโจทก์ร่วมก็ย่อมมิสิทธิในฐานะที่เป็นคู่ความในคดี จึงมีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์ และคำแก้ฎีกาได้ ส่วนเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ นั้น เมื่อจำเลยได้ล่วงละเมิดในทางเพศต่อโจทก์ร่วม และล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลโจทก์ร่วมของผู้เสียหายที่ ๒ ผู้เป็นยายซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโจทก์ร่วมอยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ แล้ว โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ ๒ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๙๗/๒๕๖๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามี ของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวาง...” แสดงว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ผู้เสียหายจึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย ฐานละเมิดจากจำเลย มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้

        คำถาม ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาข้อหาความผิดฐานยักยอกต่อศาลแขวงและขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ยักยอกเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผู้พิพากษาคนเดียว ในศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๙๒/๒๕๖๐ แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ () วรรคหนึ่ง กำหนดว่าผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา ๔๐ บัญญัติว่า “การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญา หรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหาย สามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๓ หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่จะพิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒ (๑) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น (ศาลแขวง) ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

        คำถาม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ (กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ) ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ได้หรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๓๙/๒๕๖๑ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลย ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ตามฟ้อง โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค2 สมัยที่ 70 เล่มที่ 1- 6

เน้นประเด็น* คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต  ภาค2 สมัยที่ 70 เล่มที่6
---------------------------------------------------------------------

 รายละเอียดพอสังเขป :-
- สำหรับทบทวน ถาม-ตอบแนวข้อสอบ คำบรรยายเนติบัณฑิต จากรวมคำบรรยายเนติบัณฑิต
- สกัดหลักกฎหมาย-เจาะประเด็นคำถาม ฎีกาเด่น* จำแนกออกเป็นเรื่อง/กลุ่ม เพื่อง่ายต่อการสืบค้น ท่องจำ*
- สรุปประเด็นถามตอบจากคำบรรยายเนติฯ คำพิพากษาฎีกาที่น่าใจ (ติดดาว) 


เน้นประเด็น* คำถาม-ตอบ บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต  ภาค2 สมัยที่ 70