เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



คำถาม ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญา หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่

.
คำตอบ
1. สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของผู้ค้ำประกัน
2. สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำกับผู้ให้กู้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600
3.เป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
 

มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และจะผ่อนชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยงวดแรกชำระภายในวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 2,854.80 บาท และจำเลยชำระงวดต่อไปภายในวันที่1ของทุกเดือน เดือนละ 2,800 บาท จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญารวม 20 งวด งวดสุดท้ายจะชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเงิน 3,115.52 บาท โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแรก หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือกระทำผิดระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์ทันทีโดยมิต้องรอให้การชำระหนี้รายนี้ถึงกำหนด และต้องใช้ค่าเสียหายต่าง ๆให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 2 และดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้และล่วงพ้นระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเพียง 14 งวด รวมเป็นเงิน 49,594 บาท อันเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วน โดยชำระงวดที่ 14 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ซึ่งมีจำนวนเงินไม่เพียงพอและไม่ตรงตามวันที่กำหนดในตารางกำหนดการชำระเงินท้ายสัญญากู้อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไปอีกเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ส่วนดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของดาบตำรวจพีระพลผู้ค้ำประกันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ปัญหานี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของดาบตำรวจพีระพลจึงยังไม่เกิด สัญญาค้ำประกันเป็นสิทธิเฉพาะของผู้ค้ำประกันไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่า ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของดาบตำรวจพีระพลไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ดาบตำรวจพีระพลทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของดาบตำรวจพีระพลผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
.
หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538 วินิจฉัยไว้ดังนี้
.
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากทางราชการให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของโจทก์และทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์โดยมี ก. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายลงในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาและยังไม่ผิดนัด จึงยังไม่มีหนี้ของ ก. ที่โจทก์จะเรียกให้รับผิดได้ สัญญาค้ำประกันของ ก. ที่ทำไว้ต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาท ก. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
.
มีข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 นั้น ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น