เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: กฎหมายปกครอง
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายปกครอง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายปกครอง แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* กฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74

เจาะประเด็นกฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74


ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง

        สัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนหรือข้าราชการไปเรียนหนังสือ เมื่อเรียนเสร็จต้องกลับมารับราชการ ทํางานใช้ทุน เป็นสัญญาทางปกครอง

         แต่สัญญาให้ทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันว่าเมื่อผู้รับทุน ผิดสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันจะต้องใช้เงินแทน สัญญาให้ทุนการศึกษาเป็นสัญญาให้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ ผู้ค้ำประกันมีหนี้ที่จะต้องใช้เงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันจึงไม่ใช่ สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง กรณีที่รัฐฟ้องผู้ค้ำประกันให้จ่ายเงินแทนผู้รับทุนในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน การพิสูจน์ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าสัญญาทางปกครองตั้งต้น คือ สัญญารับทุนมีการผิดสัญญาหรือไม่

        เพราะฉะนั้นกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่าแม้สัญญาค้ำประกันจะเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่ก็อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครองด้วย

 

         สัญญารับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน ธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างผิดสัญญา รัฐฟ้องธนาคารผู้ค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันธนาคารที่ทําสัญญากับรัฐเป็นสัญญาทางแพ่ง

        แต่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง การพิสูจน์ว่าธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้รับเหมาซึ่งทําสัญญาทางปกครองผิดสัญญาทางปกครองหรือไม่ ดังนั้น แม้จะฟ้องแต่ผู้ค้ำประกัน คนเดียวก็จะต้องพิสูจน์ในสัญญาทางปกครอง กรรมการชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่า การฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

        นอกจากนี้ยังมีกรณี ที่ธนาคารจะทําสัญญาค้ำประกันให้กับผู้รับเหมาต่อเมื่อผู้รับเหมามีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มาค้ำประกันผู้รับเหมาไว้กับธนาคารอีกชั้นหนึ่ง เช่นนี้ สัญญาที่นาย ก. นาย ข. มาค้ำประกันกับธนาคารเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมา ซึ่งเป็นสัญญาปกครอง เพราะผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าผู้รับเหมา ผิดสัญญาหรือไม่ บุคคลผู้ต้องพิสูจน์คือธนาคาร การที่ธนาคารต้องรับผิดตามสัญญา ค้ำประกัน บุคคลซึ่งมาค้ำประกันกับธนาคารก็ต้องรับผิดต่อธนาคาร เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไม่เกี่ยวกับสัญญารับเหมา


อ้างอิง กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

เจาะหลัก พร้อมออกสอบ* กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74

 

     เจาะหลัก พร้อมออกสอบ กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74


หากข้อสอบออกสอบเรื่องสัญญาทางปกครอง


เขียนวางหลัก สัญญาทางปกครอง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องเป็นรัฐ และต้องเป็นสัญญา


        ลักษณะของสัญญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

         มาตรา ๓ “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ .....


ตัวอย่างคำวินิจฉัย กรณีอะไรเป็น สัญญาทางปกครอง

         คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๘๑/๒๕๕๗ สํานักงานประกันสังคม จ้างโรงพยาบาลเอกชนให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นสัญญาทางปกครอง

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๒๐/๒๕๕๘ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทําสัญญาจ้างเอกชนจัดทําการตลาดเกี่ยวกับการให้บริการวิทยุโทรคมนาคม เป็นสัญญาให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทําบริการสาธารณะเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๖/๒๕๖๐ วิทยาลัยของรัฐจ้างโรงเรียนดนตรี เข้ามาจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๗/๒๕๖๐ สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่บริการหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการปรับระบบการทํางานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จ้างบริษัทเอกชนให้มาพัฒนา ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นการให้เอกชนเข้ามาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นสัญญาทางปกครอง


อ้างอิง วิชา กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำวินิจฉัยที่ 13/2560 (กฎหมายปกครอง)

การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ว่าใครมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

          คำวินิจฉัยที่ 13/2560 คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำวินิจฉัยที่ 19/2560 (กฎหมายปกครอง)

       คำวินิจฉัยที่ 19/2560 คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม