เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: คำพิพากษาฎีกา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559  จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559 โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การใช้สิทธิติดตามเอาคืนตาม ปพพ มาตรา 1336 ไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลเสมอไป

การใช้สิทธิติดตามเอาคืนตาม ปพพ มาตรา 1336 ไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลเสมอไป
           คำพิพากษาฎีกาที่ 10504 / 2558 จำเลยร่วมได้ขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอกอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าโดยจำเลยร่วมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแจ้งให้โจทก์ออกจากทรัพย์สินที่เช่าแล้วโจทก์ก็ควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยยินยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าโดยดีเมื่อโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่าโดยไม่ยินยอมออกไปจำเลยที่ 1ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซึ่งมีสิทธิใช้สอยติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฏหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองใช้กลุ่มบุคคลประมาณ 50 คนเข้ายึดถือครอบครองโรงแรมพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปได้การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 14281/2558

         คำพิพากษาฎีกาที่ 14281/2558 คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 6245-6246/2555

        คำพิพากษาฎีกาที่ 6245-6246/2555 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดอีก แม้จะเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอของโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในทางไม่จำหน่ายคดีและให้ดำเนินคดีต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2559

     คำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2559 ป.พ.พ.มาตรา 572 วรรคสองบัญญัติให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ หมายถึงผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่ายสัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
      เมื่อขณะคู่สัญญาเช่าซื้อทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมีกรรมการของบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทซึ่งไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นสัญญาจึงเป็นโมฆะ แม้ต่อมาโจทก์จะได้ยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อด้วยการใช้ตราประทับในชื่อใหม่ของโจทก์มาประทับในสัญญาเช่าซื้อก็ไม่อาจถือว่าโจทก์ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลย อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นโมฆะกลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้ เพราะโมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 172 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะจำเลยย่อมไม่มีเหตุจะยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ไว้โดยไม่มีมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย จำเลยต้องคืน ทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งตามมาตรา 172 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่ต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าในขณะทำสัญญาทั้งโจทก์และจำเลยทราบว่าสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ทำเป็นหนังสือเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ในขณะทำสัญญา โจทก์จึงรับเงินเป็นค่าเช่าซื้อและจำเลยรับทรัพย์ที่เช่าซื้อไว้โดยสุจริต โจทก์จำต้องคืนเงินให้จำเลยเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามมาตรา 412 และจำเลยจำต้องคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียงบางส่วนไม่คุ้มกับเงินที่โจทก์ลงทุน จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่เหลือเงินที่จะคืนแก่จำเลยในขณะเรียกคืน ส่วนจำเลยต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์