เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: 2021

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

        ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

          ฎีกาที่ ๔๒๖/๒๕๑๒ จําเลยที่ ๒ เรียงคําฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของ ทนายความ ข้อความที่ปรากฏในคําฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคําบอกเล่าของจําเลยที่ ๑ (ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นําสืบ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คําฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ จําเลยที่ ๑ หาใช่จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคําฟ้องตามคําบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่


        แต่หากทนายความรู้เห็นร่วมกันกับผู้เสียหาย ทนายก็อาจเป็นตัวการร่วม ฟ้องเท็จได้

        ฎีกาที่ ๑๙๙๘๐/๒๕๕๕ การเป็นทนายความผู้เรียงคําฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทําความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทําไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

 

            ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓  เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

     ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จทันที เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความ (ฎีกาที่ ๑๐๗๖/๒๕๕๑)



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?

 

         แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?


        การแจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” ยังไม่พอฟัง ว่ามีเจตนาแกล้งให้ผู้ต้องสงสัยรับโทษ

        ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าบุคคลใดกระทําความผิด ต้องใช้คําว่า “สงสัย” มิใช่ยืนยันว่าบุคคลนั้นการกระทําผิด (เน้น**)

        ฎีกาที่ ๑๔๒๔/๒๕๕๔ ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจําเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จําเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสาร คือ โจทก์ โดยจําเลยแจ้งความเพียงว่าจําเลยสงสัยโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจําเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืน มีความผิดฐานใด?

 

      ฎีกาที่ ๕๙๘/๒๕๓๖ สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืนกระทําชําเรา เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๑๘๑

 

ข้อสังเกต

        ๑. ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๗๔**ป็นการกระทําในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทําความผิดที่มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทําต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ตามมาตรา ๑๘๑ (๑)

 

        ๒. ข้อเท็จจริงมักมีการแจ้งความดําเนินคดีเช่นนี้บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อในทางพิจารณาฟังได้ว่าฝ่ายหญิงยินยอมร่วมประเวณี ฝ่ายหญิงก็เป็นผู้กระทําความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งข้อความเท็จว่าในอาคารของบริษัทมีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อน แต่ความจริงไม่มี ผิดฐานอะไร?

        ฎีกาที่ ๑๐๔๑/๒๕๔๒ มาตรา ๑๗๔ แจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๓ เพื่อจะแกล้งให้บริษัทเจ้าของสถานที่และกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ถูกกล่าวหาด้วย ข้อความเท็จว่าในอาคารของบริษัทมีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อนอยู่แต่ความจริงไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ เป็นความผิดมาตรา ๑๗๓ เพราะรู้ว่ามิได้มีการกระทําผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทําผิด



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ประเด็นนี้เคยนําไปออกข้อสอบ อาญา ข้อ ๑ เนติฯ สมัยที่ ๖๐

 

         คําว่า “แกล้ง” ตามมาตรา ๑๗๔ และ มาตรา ๒๐๐ ศาลใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานในการให้ความหมาย ซึ่งหมายความว่า จงใจทํา พูด หรือ แสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เขาเสียหาย อาย เดือดร้อน ขัดข้อง เข้าใจผิด เป็นต้น

        ข้อสังเกต ประเด็นนี้เคยนําไปออกข้อสอบเนติฯ สมัยที่ ๖๐ ร่วมกับความผิด เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร****

        ฎีกาที่ ๒๐๙/๒๕๐๖ จําเลยเกิดปากเสียงกับนายชิงชองแล้วถูกนายชิงชอง ชกต่อยเอา แต่จําเลยกลับนําความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า มีนักเลง ๓ คน กลุ้มรุมทําร้ายจําเลย โดยคนหนึ่งใช้ไม้ตีคนหนึ่งล็อกคอ อีกคนหนึ่งล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อไป ๓๐๐ บาท ซึ่งเป็นความเท็จ การกระทําของจําเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการแกล้งจะให้นายชิงชองต้องรับโทษหนักขึ้น




อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การกระทําเดียวอาจเป็นความผิดทั้งหมิ่นประมาท และความผิดฐานแจ้งเท็จ ได้หรือไม่?

 

         การกระทําเดียวอาจเป็นความผิดทั้งหมิ่นประมาท มาตรา ๓๒๖ และ แจ้งเท็จ ปอ. มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๗๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๓ ได้ โดยความผิดฐานแจ้งเท็จ เมื่อเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๗๓ ซึ่งเป็นบทเฉพาะ แล้วไม่จําต้องปรับบทมาตรา ๑๓๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

        ฎีกาที่ ๘๖๑๑/๒๕๕๒ จําเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทําในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นแต่กลับไป แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทําผิดในข้อหาลักทรัพย์ อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ปอ. มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๗๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๓ จําเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดําเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม เพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทําของจําเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

 

อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

เข้าใจว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้วไปแจ้งกับพนักงานสอบสวน มีความผิดฐานใด?

 

       กรณีเข้าใจโดยสุจริตว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้วไปแจ้ง แม้ความจริงจะไม่มีความผิดเกิดขึ้น ถือว่าไม่มีเจตนาไม่เป็นความผิด

        ฎีกาที่ ๘๙๗/๒๕๐๗ จําเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนโดยเล่าเรื่องให้ฟังตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าในขณะที่โจทก์ออกจากบ้านได้มีเสียงปืนดังขึ้น ๑ นัด จําเลย ไม่เห็นคนยิง แต่เชื่อหรือเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ยิงพนักงานสอบสวนได้สรุปข้อความตามคําแจ้งความไว้แล้ว มีความตอนหนึ่งว่าโจทก์ใช้ปืนพกยิงจําเลยเข้าใจว่าโจทก์มีเจตนาจะยิ่งจําเลยให้ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ข้อความที่บันทึกไว้นั้นก็เป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนบอกให้ตํารวจเขียน ไม่ใช่ถ้อยคําที่จําเลยแจ้งโดยแท้จริง ทั้งพฤติการณ์จําเลยมิได้เจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก็ไม่ผิด มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย มีความผิดอาญาฐานใด?

 

        ฎีกาที่ ๕๙๔/๒๕๒๑ แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ซึ่งขณะนั้น เป็นรองอธิบดีกรมตํารวจมีอํานาจสืบสวนคดีอาญาด้วย แต่แจ้งความในฐานะรัฐมนตรี ไม่เป็นความผิด ตามมาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

พระภิกษุ เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจหน้าที่ ตามป.อาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓ หรือไม่?

      

          ฎีกาที่ ๒๕๙/๒๕๐๙ แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ จะบัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ก็มีแต่เพียงอํานาจสอบสวนอธิกรณ์ และสั่งลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเท่านั้น หามีอํานาจรับแจ้งความเกี่ยวกับการกระทําผิดอาญา และมีอํานาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไม่ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอํานาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

พนักงานสอบสวน ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๗๓ หมายถึงใคร?

          “พนักงานสอบสวน” ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๖) หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอํานาจและหน้าที่ทําการสอบสวน มิใช่เพียงเจ้าหน้าที่ตํารวจ เพราะปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปช. ปปท. หรือเจ้าหพนักงานฝ่ายปกครอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๑๗) ซึ่งมีอํานาจสอบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ เป็นต้น

การพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญ จนยอมนัดหมาย แวะแจ้งตำรวจ ผิดฐานกรรโชก หรือไม่?

         กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมาย ให้นําหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตํารวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทํากันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จําเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัว และไม่ยอมทําตามการขู่เข็ญของจําเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทําของจําเลยทั้งห้า จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสําเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม (ดูฎีกาที่ ๙๕๑/๒๔๗๔, ฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๓๐)

พูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องติดสินบนไปอภิปรายและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์

 

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๐/๒๕๔๓ จําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตน โดยพูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตาม ข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทําอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์กระบะ ๑ คน แก่จําเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก (โจทก์ ไม่ได้บรรยายขอให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๘)

ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี

 

         ในกรณีที่ผู้ถูกข่มขืนใจแม้จะกระทําความผิดจริง แต่ผู้ที่ขู่ว่าจะจับไม่มีสิทธิเช่นนั้น เช่น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการกระทําความผิดของผู้ที่ถูกข่มขืนใจ ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจ โดยไม่มีสิทธิ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๑๔ แม้ ท. จะกระทําความผิดจริง ช. ก็ไม่มีอํานาจเรียกเงินจาก ท. ซึ่ง ช. แสดงให้ ท. เข้าใจว่า ช. สามารถทําให้ ท. เข้าคุก หรือไม่เข้าคุกก็ได้ ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี เรียกเงินหนึ่งแสนบาท เป็นการกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

        สรุป ฎีกานี้ชี้ให้เห็นว่า ช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ ท. หลีกเลี่ยงภาษีและการขู่ดังกล่าวเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ย่อมเป็นการขู่ที่แสดงให้เห็นว่า ทําให้ห้างฯ จะได้รับความเสียหายและการขู่นั้นเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ จึงต้องด้วยกรณี ทั้งมาตรา ๓๓๗ และ ๓๓๘ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การกระทําดังกล่าวเป็นทั้งความผิดฐานกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

 

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๘/๒๕๓๐ จําเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายลักสติกเกอร์ ราคา ๑ บาทของห้างฯ ซึ่งจําเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการอยู่ไป การที่จําเลยเรียกผู้เสียหาย ชําระค่าปรับแก่ห้างฯ จํานวน ๓๐ บาท มิฉะนั้นจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตํารวจนั้น เป็นการที่จําเลยชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดําเนินคดีแก่ผู้เสียหายในทางอาญาได้ คำพูดของจําเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นข้อเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีตามที่ห้างฯ ถือปฏิบัติ จําเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สิน

 

                 คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒/๒๕๕๙ การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจํานํา ซึ่งรับจํานํารถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม ๑๐ คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผ่าน อ. ภริยา ของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์ แก่ ว. ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ ๔ ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ ๔ ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนํารถของผู้เสียหายที่ ๔ ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ จําต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทําของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยที่ 74

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ สมัยที่ 74

วิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญ  

--------------------------------


ประเด็นที่น่าสนใจ

        กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ส่งไปไม่ใช่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี เพราะบทบัญญัตินั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีและไม่รับวินิจฉัย   

        คําสั่งศาล รธน.ที่ ๖๒/๒๕๖๒ เป็นกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ กล่าวหาว่า ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกในคลังสินค้าที่จําเลยทั้งสามใช้เป็นหลักประกันในการทําสัญญาทางธุรกิจกับบริษัทธนาคาร กรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายออกไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับหลักประกัน ไม่อาจบังคับหลักประกันเอากับจําเลยทั้งสามทั้งหมดหรือแต่บางส่วน อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘๖ มีโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

        จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และยื่นคําโต้แย้งต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ เพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีจําเลยทั้งสามโต้แย้ง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ว่า บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ดําเนินการทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ทางทะเบียน มีผลให้จําเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้หลักประกันไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขรายการจดทะเบียนหรือยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการดําเนินการทางทะเบียนที่คู่สัญญาสามารถยกขึ้นโต้แย้งในข้อพิพาททางแพ่ง แต่คําฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลยทั้งสามฐาน ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าหลายครั้งโดยไม่ได้รับความยินยอม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔๖ กรณีคําโต้แย้งของจําเลยทั้งสามดังกล่าวไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์จะใช้บังคับแก่คดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย

 

ข้อสังเกต

        พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ที่จําเลยทั้งสามขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน และการยกเลิกการจดทะเบียนที่ให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ไปดําเนินการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับการนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าโดยมิชอบ อันเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย


อ้างอิง วิชา กฏหมายรัฐธรรมนูญ (อ.อธิคม อินทุภูติ) สมัยที่ 74


เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

 

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

---------------------


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

 

เขียนวางหลัก

        ผลผูกพันของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้ง ข้อเรียกร้องหรือโดยปริยายก็ตาม นายจ้างและลูกจ้างต้องผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยพลการฝ่ายเดียวไม่ได้  


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

        คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๙๑ - ๑๓๗๙๒/๒๕๕๗ เดิมนายจ้างจัดตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน โดยสมาชิกจ่ายเงินสมทบ ๕% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ ๑๐% ของเงินเดือน ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้โอนไปและมิได้ยุบกองทุนเดิม นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ๑๐% ของเงินเดือนต่อไป การที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็น ๕% ของเงินเดือนสมาชิก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ

        สรุป คดีเรื่องนี้เดิมนายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ ต่อมามีการจัดตั้งเป็นกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจํานวนหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ลูกจ้างจํานวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์คดีนี้ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ยังคงสมาชิกกองทุนประกันและออมทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจ่ายสมทบ เข้ากองทุนอัตรา ๑๐% ของเงินเดือน ภายหลังจากจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันและออมทรัพย์ให้โจทก์เพียง ๕% ของเงินเดือนฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบ


อ้างอิง กฎหมายแรงงาน (อ.พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น) สมัยที่ ๗๔



เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

 

        เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่  ๗๔

------------------------------


        ในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา ๖๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การคํานวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ   

       ตัวอย่าง

         วันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ นาย ก. ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นาย ข. ไปใน ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และมีการส่งมอบสินค้าในวันเดียวกัน กําหนดชําระราคาในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ ดังนี้ จะถือว่านาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในปีใด  

        นาย ก. เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ในปีภาษีใดถือว่าเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น ดังนั้น ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องใช้เกณฑ์เงินสด ในการรับรู้รายได้ นาย ก. ได้รับชําระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ จึงถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปีภาษี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น ปีภาษีที่ นาย ก. ได้รับชําระราคา  

        แต่ถ้า นาย ก. ได้รับเงินในปี ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ก็ต้องนําเงินที่ได้รับไปยื่นเสียภาษีในปี ๒๕๖๓ และในปี ๒๕๖๔ ตามลําดับ

        หากจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนจาก นาย ก. เป็น บริษัท A ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคํานวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ

         ดังนั้น ในกรณีของบริษัท A ต้องถือว่าบริษัท A มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้า คือในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๖๓ แม้ว่าในปี ๒๕๖๓ บริษัท A จะยังมิได้รับชําระราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม

        ในส่วนของค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการใช้สินค้า หรือใช้บริการจากบุคคลอื่นแล้วไม่ว่าจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม

        ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงิน ก็จะถือเป็นรายได้ค้างรับ และรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนํารายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคํานวณกําไรสุทธิด้วย


อ้างอิง กฎหมายภาษีอากร (อ.วิชัย จิตตาณิชย์) สมัยที่ ๗๔


เก็งประเด็น* กฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74

เจาะประเด็นกฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74


ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง

        สัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนหรือข้าราชการไปเรียนหนังสือ เมื่อเรียนเสร็จต้องกลับมารับราชการ ทํางานใช้ทุน เป็นสัญญาทางปกครอง

         แต่สัญญาให้ทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันว่าเมื่อผู้รับทุน ผิดสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันจะต้องใช้เงินแทน สัญญาให้ทุนการศึกษาเป็นสัญญาให้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ ผู้ค้ำประกันมีหนี้ที่จะต้องใช้เงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันจึงไม่ใช่ สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง กรณีที่รัฐฟ้องผู้ค้ำประกันให้จ่ายเงินแทนผู้รับทุนในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน การพิสูจน์ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าสัญญาทางปกครองตั้งต้น คือ สัญญารับทุนมีการผิดสัญญาหรือไม่

        เพราะฉะนั้นกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่าแม้สัญญาค้ำประกันจะเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่ก็อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครองด้วย

 

         สัญญารับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน ธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างผิดสัญญา รัฐฟ้องธนาคารผู้ค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันธนาคารที่ทําสัญญากับรัฐเป็นสัญญาทางแพ่ง

        แต่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง การพิสูจน์ว่าธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้รับเหมาซึ่งทําสัญญาทางปกครองผิดสัญญาทางปกครองหรือไม่ ดังนั้น แม้จะฟ้องแต่ผู้ค้ำประกัน คนเดียวก็จะต้องพิสูจน์ในสัญญาทางปกครอง กรรมการชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่า การฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

        นอกจากนี้ยังมีกรณี ที่ธนาคารจะทําสัญญาค้ำประกันให้กับผู้รับเหมาต่อเมื่อผู้รับเหมามีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มาค้ำประกันผู้รับเหมาไว้กับธนาคารอีกชั้นหนึ่ง เช่นนี้ สัญญาที่นาย ก. นาย ข. มาค้ำประกันกับธนาคารเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมา ซึ่งเป็นสัญญาปกครอง เพราะผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าผู้รับเหมา ผิดสัญญาหรือไม่ บุคคลผู้ต้องพิสูจน์คือธนาคาร การที่ธนาคารต้องรับผิดตามสัญญา ค้ำประกัน บุคคลซึ่งมาค้ำประกันกับธนาคารก็ต้องรับผิดต่อธนาคาร เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไม่เกี่ยวกับสัญญารับเหมา


อ้างอิง กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

เจาะหลัก พร้อมออกสอบ* กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74

 

     เจาะหลัก พร้อมออกสอบ กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74


หากข้อสอบออกสอบเรื่องสัญญาทางปกครอง


เขียนวางหลัก สัญญาทางปกครอง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องเป็นรัฐ และต้องเป็นสัญญา


        ลักษณะของสัญญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

         มาตรา ๓ “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ .....


ตัวอย่างคำวินิจฉัย กรณีอะไรเป็น สัญญาทางปกครอง

         คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๘๑/๒๕๕๗ สํานักงานประกันสังคม จ้างโรงพยาบาลเอกชนให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นสัญญาทางปกครอง

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๒๐/๒๕๕๘ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทําสัญญาจ้างเอกชนจัดทําการตลาดเกี่ยวกับการให้บริการวิทยุโทรคมนาคม เป็นสัญญาให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทําบริการสาธารณะเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๖/๒๕๖๐ วิทยาลัยของรัฐจ้างโรงเรียนดนตรี เข้ามาจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๗/๒๕๖๐ สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่บริการหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการปรับระบบการทํางานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จ้างบริษัทเอกชนให้มาพัฒนา ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นการให้เอกชนเข้ามาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นสัญญาทางปกครอง


อ้างอิง วิชา กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔