เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: อาญา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาญา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาญา แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญ จนยอมนัดหมาย แวะแจ้งตำรวจ ผิดฐานกรรโชก หรือไม่?

         กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมาย ให้นําหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตํารวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทํากันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จําเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัว และไม่ยอมทําตามการขู่เข็ญของจําเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทําของจําเลยทั้งห้า จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสําเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม (ดูฎีกาที่ ๙๕๑/๒๔๗๔, ฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๓๐)

พูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องติดสินบนไปอภิปรายและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์

 

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๐/๒๕๔๓ จําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตน โดยพูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตาม ข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทําอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์กระบะ ๑ คน แก่จําเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก (โจทก์ ไม่ได้บรรยายขอให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๘)

ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี

 

         ในกรณีที่ผู้ถูกข่มขืนใจแม้จะกระทําความผิดจริง แต่ผู้ที่ขู่ว่าจะจับไม่มีสิทธิเช่นนั้น เช่น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการกระทําความผิดของผู้ที่ถูกข่มขืนใจ ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจ โดยไม่มีสิทธิ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๑๔ แม้ ท. จะกระทําความผิดจริง ช. ก็ไม่มีอํานาจเรียกเงินจาก ท. ซึ่ง ช. แสดงให้ ท. เข้าใจว่า ช. สามารถทําให้ ท. เข้าคุก หรือไม่เข้าคุกก็ได้ ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี เรียกเงินหนึ่งแสนบาท เป็นการกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

        สรุป ฎีกานี้ชี้ให้เห็นว่า ช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ ท. หลีกเลี่ยงภาษีและการขู่ดังกล่าวเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ย่อมเป็นการขู่ที่แสดงให้เห็นว่า ทําให้ห้างฯ จะได้รับความเสียหายและการขู่นั้นเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ จึงต้องด้วยกรณี ทั้งมาตรา ๓๓๗ และ ๓๓๘ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การกระทําดังกล่าวเป็นทั้งความผิดฐานกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

 

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๘/๒๕๓๐ จําเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายลักสติกเกอร์ ราคา ๑ บาทของห้างฯ ซึ่งจําเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการอยู่ไป การที่จําเลยเรียกผู้เสียหาย ชําระค่าปรับแก่ห้างฯ จํานวน ๓๐ บาท มิฉะนั้นจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตํารวจนั้น เป็นการที่จําเลยชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดําเนินคดีแก่ผู้เสียหายในทางอาญาได้ คำพูดของจําเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นข้อเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีตามที่ห้างฯ ถือปฏิบัติ จําเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สิน

 

                 คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒/๒๕๕๙ การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจํานํา ซึ่งรับจํานํารถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม ๑๐ คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผ่าน อ. ภริยา ของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์ แก่ ว. ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ ๔ ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ ๔ ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนํารถของผู้เสียหายที่ ๔ ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ จําต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทําของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว