เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: ธันวาคม 2019

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ 8 ธ.ค 62 สมัยที่72

         


ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ  สมัยที่72
อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ วันที่ 8 ธ.ค 62 
------------


        ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน การนำพยานบุคคลเข้ามาสืบว่าเป็นตัวแทน ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสาร
        ฟ้องเรียกเอาอสังหาริมทรัพย์คืน ถ้าศาลพิพากษาให้ชนะคดี และศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยได้ไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5042/2561 (อ.เน้น***)
        จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ กรณีตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับมาตรา 798 แห่ง ป.พ.พ. การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการอันใด จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใดกรณีนี้โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ และการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลในความจริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นมิใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
            โจทก์ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีอำนาจพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) จึงไม่เป็นการที่ศาลพิพากษาเกินคำขอ



         คดีนี้ ศาลสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน ระหว่าง น. ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ผู้รับโอน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินต่อไปยังจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนการโอนแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง    

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561
            คดีก่อนโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทของ น. ที่โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบ ซึ่งผลของคำพิพากษาทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอน และ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องเพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อนซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว คดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ เพราะจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งได้สิทธิมาในภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
           คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีเดิม


แก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ ป.วิ.พ.มาตรา 180

คำพิพากษาฎีกาที่ 6951-6952/2560 
            จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้องเสียก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองสำนวนอ้างเหตุขาดอายุความ 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดหนี้ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในแต่ละคราว แต่ที่ขอแก้ไขคำให้การใหม่เป็นว่าค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระเกินระยะเวลาสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 หรือมาตรา 193/34 ซึ่งหมายถึงอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามลำดับ อันเป็นการเพิ่มเติมคำให้การขึ้นใหม่ แยกเป็นประเด็นตามเงื่อนไขของสองอนุมาตราดังกล่าว แม้จะอยู่ในประเด็นอายุความก็ตาม แต่วันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ก็ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการไว้ชัดเจน จำเลยย่อมทราบดี หากประสงค์จะต่อสู้ในประเด็นอายุความเรื่องใดก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่แรก แต่หาได้กระทำไม่ คงปล่อยให้ล่วงเลยเวลาจนพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามประเภทของหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการ ลักษณะเป็นการตั้งประเด็นเรื่องขาดอายุความขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับมิใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยและมิใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งประเด็นเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 แม้จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การมาแล้วครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โจทก์รับสำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับแล้วไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมในคำร้องฉบับแรก แล้วสั่งใหม่ว่ายกคำร้อง ส่วนคำร้องฉบับหลังสั่งว่าไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตครั้งแรกเป็นการไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิกถอนคำสั่งอันมิชอบได้ การที่โจทก์ไม่คัดค้านแล้วจะถือว่าเป็นการยอมรับหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่ ตราบใดที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลชอบที่จะสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้

            จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสำนวนแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามมาตรา 228 (3) จำเลยทั้งสองสำนวนจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์สำนวนละ 200 บาทรวม 400 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองสำนวนเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 600 บาทจึงเกินมา 200 บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งสองสำนวน


แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 สัมมนาวิแพ่ง (อ.ประเสริฐ) สมัยที่ 72


ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 สมัยที่ 72
วิชา สัมมนาวิแพ่ง (อ.ประเสริฐ) 


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6536/2544 กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอได้นั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ โจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพียงประการเดียวอันจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ต้องเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบกับมาตรา 172 วรรคแรก
เอกสารการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุชื่อว่า"หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ" แต่ไม่ได้ระบุข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันหรือไม่เมื่อใด ประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและจำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้จะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก แต่โจทก์เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2541 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 และมาตรา 188(1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติกล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ที่ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใดผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2547 การที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย การที่ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้แทนนิติบุคคลมีสิทธิที่จะว่าความอย่างทนายความได้ในคดีก่อนตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะกรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายสารบัญญัติบทใดสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2548  การใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ ดังกล่าว คือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายใด ๆ บัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องประสงค์จะใช้สัญลักษณ์ทางการค้าแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีสิทธิใช้สัญลักษณ์ทางการค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามมาตรา 55 หาได้ไม่ หากสัญลักษณ์ทางการค้าของผู้ร้องทั้งสองเข้าข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้า ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4764/2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอคดีเป็นคำร้องขอ อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งการร้องขอในลักษณะเช่นนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคม คงมีแต่บัญญัติให้สมาชิกหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคมตามที่บัญญัติในมาตรา 100 ได้เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคม มิใช่ขอเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคม กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดรับรองให้สมาชิกสมาคมหรือผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท แม้ภายหลังมีผู้คัดค้านเข้ามาก็ไม่ทำให้อำนาจการยื่นคำร้องขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นเป็นคำร้องขอที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 กฎหมายล้มละลาย (อ.กนก จุลมนต์) สมัยที่ 72

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1  สมัยที่ 72
กฎหมายล้มละลาย (อ.กนก จุลมนต์)  


คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๐๒/๒๕๕๓ ก่อนฟ้องโจทก์ใด้ตรวจสอบการถือ กรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตแต่ไม่พบทรัพย์สินของจำเลย และนอกจากจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ คดีแรกแล้วจำเลยยังถูกฟ้องในความผิดเดียวกันอีก ๓ คดี ต่อมาจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เลียหายทั้ง ๓ คดี ดังกล่าว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๕๓ มาตรา ๘ (๕) (๘) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว



คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๓๖/๒๕๖๐ ภายหลังจากศาลจังหวัดพังงามีคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทกํใด้สืบหาทรัพย์อื่นของจำเลยแล้วไม่พบว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าจำเลยไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

กรณีที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ เพราะลูกหนี้หลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนดก็ดี หรือมีผู้รับหนังสือทวงถามไว้แทนลูกหนี้ก็ดี ถือได้ว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามตามความหมายของมาตรา ๘ (๙) แล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๙๙๔/๒๕๕๓ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจ้าเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปรับหนังสือ ดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วย แล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ ๒ มีผู้รับไว้แทน จำเลยจึงได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกัน ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๙) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว



กรณีเป็นลูกหนี้ร่วมการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๗๕/๒๕๓๖ จำเลยที่ ๓ อยู่ในฐานเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนาวาตรีสมภพ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทกได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่นาวาตรีสมภพลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง และถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ ๓ ล้มละลาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔/๒๕๓๖ แม้หนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด แต่คู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้น จนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย จึงถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙ (๓) เมื่อจำเลยที่ ๑ ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้โอนทรัพย์สินของตนไปหมดแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีทรัพย์สินรวมกันประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้นไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งมีจำนวนหนี้ทั้งสิ้นถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยที่ ๑ ล้มละลายตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔


ต่อมายังมีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑๖/๒๕๕๗, ๑๘๗๙๕/๒๕๕๗, ๘๖๒๗/ ๒๕๕๘, ๑๕๕๑๕/๒๕๕๘ และ ๙๑๔/๒๕๕๙ วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕/๒๕๓๖


แนะนำ :-

       - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2


       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 วิ.แพ่ง ภาค4 (อ.สมชาย จุลนิติ์) สมัยที่ 72


ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1
-------------------------


คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๐/๒๕๐๔ในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ใช้สิทธิบังคับคดีขอยึดทรัพย์ของจำเลยลูกหนี้ ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องกล่าวอ้างว่าทรัพย์ ที่โจทก์นำยึดเป็นของตนนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษามีฐานะเสมือนเป็นจำเลย ฉะนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จะร้องขอให้โจทก์เจ้าหนี้วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม ฯลฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๓ ไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๐๗/๒๕๓๐***การไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธี

พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๓ วรรคสอง นั้น หมายถึงการไต่สวนถึงเหตุที่ทำให้มีการร้องขอให้โจทก์วางเงินซึ่งมีอยู่๒ เหตุ คือ โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาลเหตุหนึ่ง หรือถ้ามีเหตุอันเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอีกเหตุหนึ่งเมื่อจำเลยร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล และโจทก์ยอมรับในคำแถลงคัดค้านแล้วว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอีก
จำนวนเงินที่ศาลจะสั่งให้โจทก์วางประกันนั้นตามมาตรา ๒๕๓ วรรคสอง ดังกล่าว บัญญัติให้ศาลกำหนดจำนวนเงินที่จะให้โจทก์วางประกันรวมตลอดทั้งระยะเวลา และเงื่อนไข ตามที่เห็นสมควร จึงไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนอีกเช่นกันศาลชอบที่จะกำหนดจำนวนเงินประกันไปตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๖๑ และอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง


แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค2 อ.ชลีรินย์ เภาพัฒนา อมรศักดิ์ (ภาคค่ำ) 6 ธ.ค.62 สมัยที่72

สรุปย่อคำบรรยายเนติ เน้นประเด็นสำคัญ เก็งฎีกา เก็งมาตรา ขอบเขตสำคัญ ที่น่าออกสอบ

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค2 สมัยที่72
อ.ชลีรินย์ เภาพัฒนา อมรศักดิ์ (ภาคค่ำ) 6 ธ.ค.62



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2556 หลังจากศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207/2553 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน โดยอ้างว่าจำเลยนำพินัยกรรมฉบับแรก (ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2533) ซึ่งเป็นโมฆะเพราะถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง มาอ้างต่อศาลเพื่อแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก อันมีพฤติกรรมไม่สุจริตและเท่ากับ จำเลยสละสิทธิตามพินัยกรรมฉบับหลังสุด (ลงวันที่ 29 เมษายน 2536) และพินัยกรรมทุกฉบับสิ้นผลบังคับแล้วเพราะล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย คำร้องของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้อง เมื่อจำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง คำคัดค้านของจำเลยจึงเป็นคำให้การ แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นพิพาทว่า ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ศาลจังหวัดสีคิ้วจะมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก หรือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่หรือไม่นั้น ศาลในคดีดังกล่าวจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 ที่ผู้ตายระบุตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุทำนองเดียวกันกับคดีดังกล่าวว่า จำเลยใช้พินัยกรรมที่ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังแล้วยื่นต่อศาลขอให้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้แบ่งที่ดินมรดกแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองในคดีนี้จะมีคำขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็จะพิพากษาให้ได้ความเสียก่อนว่า พินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207/2553 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นด้วยกันและมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวกับคดีนี้ ฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1)

การสั่งรับฟ้องแย้งไว้พิจารณานั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามแต่ละข้อกล่าวอ้างและคำขอบังคับเป็นส่วน ๆ โดยอาจรับไว้บางส่วนเท่านั้นก็ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1474-1476/2558 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่เรียก ว.เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ เพราะว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ขอเข้ามา หรือแสดงเหตุเข้ามาเป็นคู่ความ จึงไม่เป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความอันจะทำให้เป็นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1 (5) จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามต้องโต้แย้งคำสั่งเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตามมาตรา 226 (2) เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามกฎหมายขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารกับพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม ห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลชั้นต้นต้องรับฟ้องแย้งส่วนนี้ไว้พิจารณาแม้ฟ้องแย้งในส่วนอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่อาจบังคับได้ตามฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฟ้องแย้งหรือ ยกคำขอส่วนนั้น เมื่อมีคำพิพากษา มิใช่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2534 ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคำบังคับ ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องหากผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ และถูกโต้แย้งสิทธิจึงชอบที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการบังคับคดีเสียก่อน เนื่องจากโจทก์ย่อมขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างได้ทันทีตามมาตรา 296 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2537 ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และได้มีคำสั่งให้ประกาศนัดไต่สวนทางหนังสือพิมพ์และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน หากประสงค์จะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันนัดไต่สวนคำร้อง แต่ก็ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้วต่อมาผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงแม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีของผู้ร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(4) บัญญัติให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความผู้คัดค้านจึงเป็นคู่ความผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ที่ดินมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิผู้คัดค้านจึงชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีจึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดี

----------------------------
แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค1 อ.ศิริชัย ศิริกุล (ภาคปกติ) 29 พ.ย 62 สมัยที่72


ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค1สมัยที่72
อ.ศิริชัย ศิริกุล (ภาคปกติ) 29 พ.ย 62  
------------------

สรุปย่อคำบรรยายเนติ เน้นประเด็นสำคัญ เก็งฎีกา เก็งมาตรา ขอบเขตสำคัญ ที่น่าออกสอบ



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2537 ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 1 นำน.ส.3 ก. และ น.ส.3 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อนำออกขายเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำ น.ส.3 ก. และ น.ส.3ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 แล้วยักยอกเงินค่าที่ดินเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น คำฟ้องส่วนนี้มิใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา4 ทวิ แต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

การที่จำเลยที่ 1 มอบเอกสาร น.ส.3 ก. และ น.ส.3ให้แก่โจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้จดทะเบียนรับโอนโดยไม่สุจริตหรือร่วมกระทำการทุจริตกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2557   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สหมงคลการยาง จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเงิน 224,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,861 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 จนกว่าจะชำระ เสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียม แต่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเลิกบริษัท ดังกล่าวและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยไม่ชำระหนี้ของบริษัท ดังกล่าวแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่อาจบังคับคดีได้ จำเลยทั้งสอง ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น 258,330.32 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 258,330.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,861 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และ ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลข แดงที่ 5155/2549 แทนโจทก์
         จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็น ส่วนตัวในหนี้ที่บริษัทสหมงคลการยาง จำกัด ค้างชำระตามคำพิพากษา ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 5155/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำความเท็จอันเป็นสาระสำคัญในการจดทะเบียน เลิกบริษัทแจ้งแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร บริษัทสหมงคลการยาง จำกัด มีระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวัดจดทะเบียน เลิกบริษัท ขาดทุนสุทธิ 46,881 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิด โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายโดยชัดว่าความเท็จอันเป็น สาระสำคัญใดที่จำเลยที่ 1 แจ้งแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็น เหตุให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหลงเชื่อและรับจดทะเบียนเสร็จการ ชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองผิดในฐานะใด ขอให้ยกฟ้อง
         จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองรับผิดเป็นส่วนตัว ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยทั้งสองมี ภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล แต่จำเลยทั้งสองไม่มีภูมิลำเนาอยู่ใน เขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสอง รับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดี แพ่งหมายเลขแดงที่ 5155/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษา แล้ว และจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ชำระบัญชีของ บริษัทสหมงคลการยาง จำกัด เป็นตัวแทนจัดการรวบรวมทรัพย์สินมา ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบริษัท ฟ้องโจทก์เคลือบ คลุม ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าเหตุใดจำเลยทั้งสองต้องรับผิดเป็นส่วน ตัวและความเท็จที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองแจ้งแก่นายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัทกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
         ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 260,044.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,861 บาท นับ ถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ) จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 6,000 บาท
         จำเลยที่ 2 ฎีกา
         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟัง ได้ว่า บริษัทสหมงคลยาง จำกัด เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5155/2549 จำนวน 224,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 221,861 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน  2549 ถึงวันฟ้องคดีนี้ (วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551) เป็นเงิน 33,324.73 บาท และ ค่าฤชาธรรมเนียม 1,760 บาท รวมเป็นเงิน 260,044.73 บาท ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าว บริษัทสหมงคลการยาง จำกัด ได้มีมติให้เลิกบริษัทโดยในการประชุมลงมติดังกล่าวมีจำเลยที่ 1เป็น ประธานที่ประชุม ในการประชุมได้ลงมติแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท โดยให้กระทำการร่วมกันเว้นแต่การ จดทะเบียนเลิกและเสร็จการชำระบัญชีให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองให้รับผิดต่อโจทก์ฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสห มงคลการยาง จำกัด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ชำระหนี้แก่ โจทก์อันเป็นการฟ้องในมูลละเมิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมี ภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล... ตาม บทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องจำเลยทั้งสองตาม เขตศาลที่จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดก็ได้ เมื่อข้อ เท็จจริงปรากฏว่าสำนักงานของผู้ชำระบัญชีตั้งแต่อยู่เลขที่ 282-284 ถนนไมตีจิตต์ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้น จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย ทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทสหมงคลการยาง จำกัด จำเลยทั้งสองจึงย่อมต้องทราบความเป็นไป การดำเนินการ สถานะของบริษัท ตลอดจนความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ของบริษัทเป็น อย่างดี ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องบริษัทสหมงคลการยาง จำกัด ให้ ชำระราคายางรถยนต์แก่โจทก์ต่อศาลชั้นต้น โดยบรรยายฟ้องว่า ก่อน ฟ้องบริษัทสหมงคลการยาง จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการ เป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ว่า เป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นได้ชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน แล้ว ไม่ชำระอีก เมื่อโจทก์ฟ้องบริษัทสหมงคลการยาง จำกัด ต่อศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองในฐานะกรรมการบริษัทจึงย่อมต้องทราบดีว่าบริษัท สหมงคลการยาง จำกัด มีภาระหนี้สินต่อโจทก์ การที่บริษัทสหมงคล การยาง จำกัด จัดให้มีการประชุมใหญ่ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธาน ในที่ประชุมและที่ประชุมมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท และตั้งจำเลยทั้งสอง เป็นผู้ชำระบัญชีจำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องร่วมกันทำบัญชีงบดุล แสดงความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ของบริษัทโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองความถูกต้อง และมีหน้าที่ชำระสะสางการ งานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้ของบริษัท จำเลยทั้งสอง งานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดกานใช้หนี้ของบริษัท จำเลยทั้งสอง จึงย่อมต้องทราบดีว่าบริษัทสหมงคลการยาง จำกัด เป็นหนี้โจทก์ โดย ไม่จำต้องทราบจากคำบังคับของศาลชั้นต้นแต่อย่างใด การที่บริษัท รีบเก่งให้มีการประชุมเลิกบริษัทและตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระบัญชี โดยมอบให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จการชำระ บัญชี โดยจำเลยทั้งสองไม่กระทำการตามหน้าที่ในการจัดการใช้หนี้ ของบริษัทต่อโจทก์ แม้มติที่ประชุมใหญ่พิเศษของบริษัทจะมอบ อำนาจให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวไปจดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จ การชำระบัญชี แต่ก่อนจะเสร็จการชำระบัญชี จำเลยทั้งสองต้องร่วม กันทำหน้าที่ผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 จึงย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จการชำระบัญชี โดยที่จำเลยทั้งสอง ยังไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีและทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงต้องร่วมกันผิดชำระหนี้ของ บริษัทสหมงคลการยาง จำกัด ดังกล่าวต่อโจทก์
         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลล้มละลาย กลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด แม้ต่อมาจะมีคำสั่ง ยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ที่ว่า ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จึงต้อง จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสาระบบความ เนื่องจาก พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 ที่บัญญัติว่า เมื่อ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วนั้น เห็น ว่า การที่คู่ความร่วมคนหนึ่งต้องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมเป็น โทษแก่คู่ความร่วมคนนั้น ไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ต้อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วย กรณีมิใช่เรื่องจะนำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จะต้อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจริงหรือไม่จึงไม่มีผลต่อคดีของจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
         พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทน โจทก์ 7,500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาให้เป็นพับ





คำพิพากษาฎีกาที่ 6001/2559 (ฎีกาใหม่) โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและเงินค่าใช้จ่ายในการขอออกโฉนดคืนจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มิได้มีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาในประเทศไทย โจทก์ก็มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ ตามมาตรา 4 (1) แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวซึ่งหากจะถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในราชอาณาจักรไทยจะต้องได้รับอนุญาตจาก รมต.กระทรวงมหาดไทยเสียก่อน แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ เพียงแต่ใช้สิทธิเรียกร้องติดตามเอาคืนซึ่งเงินดังกล่าวเท่านั้น กรณีหาตกอยู่ในบังคับแห่ง ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 ไม่


ข้อสังเกต
๑. คดีนี้แม้โจทก์ จะเป็นคนต่างด้าว ซึ่งการที่โจทก์จะถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรได้จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 ซึ่งหากโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยในลักษณะที่เป็นการซื้อขายที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาซื้อขายดังกล่าวถือว่าตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

แต่คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นแต่เพียงสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น สัญญาดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เพราะภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว โจทก์อาจไปดำเนินการเพื่อขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้

๒. คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำ ตามสัญญาจะซื้อขายและเงินค่าใช้จ่ายในการขอออกโฉนดคืน ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้เป็นการบังคับเอาแก่ตัวที่ดินโดยตรง ดังนั้น จึงมิใช่คำฟ้อง ที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4ทวิ แต่ถือเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา4 (1) โดยโจทก์มีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2540 หนังสือที่โจทก์มอบอำนาจให้พ. ฟ้องคดีแทนทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านโดยมีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศดังกล่าวรับรองหนังสือมอบอำนาจไว้แล้วฉะนั้นแม้จะไม่ได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงการยื่นหนังสือมอบอำนาจในกรณีนี้จึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา47วรรคสาม การที่สัญญากระทำกันในต่างประเทศจะต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไรหาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยหรือไม่เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดีก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบรรยายถึงมูลกรณีที่มีการทำสัญญาแล้วจำเลยผิดนัดทั้งมีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความมาท้ายคำฟ้องด้วยนั้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศและจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1)


    คำพิพากษาฎีกาที่ 4146/2560 (ฎีกาใหม่) เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวต่อมาคู่ความได้ตกลงกันตามบันทึกข้อตกลง ภายหลังโจทก์ประสงค์จะขอวีซ่าเพื่อย้ายถิ่นที่อยู่ถาวรไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน โจทก์จึงฟ้องจำเลยโดยบรรยายคำฟ้องว่าจำเลยผิดข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นที่ศาลชั้นต้นจึงนำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นดังกล่าว ดังนี้ถือว่าสถานที่ที่ทำบันทึกข้อตกลงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 (1)


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2559 แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะระบุภูมิลำเนาของจำเลยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันที่อำเภอหาดใหญ่ และโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายซึ่งระบุว่ามีการทำสัญญาที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิว หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

       และมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881/2541 วินิจฉัยว่า โจทก์จะถือเอาแห่งใดเป็นภูมิลำเนาของจำเลยยื่นฟ้องก็ได้

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3053/2523 จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำและได้รับจำนำหัวเช็คขัดทองคำของโจทก์ซี่งถูกคนร้ายลักไป จำเลยจะถือเอาประโยชน์ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 ได้ ก็ต้องเป็นการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ปรากฏว่าจำเลยรับจำนำทรัพย์รายนี้ไว้เป็นเงินถึงสี่หมื่นบาท จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 เป็นเรื่องต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของหัวเข็มขัดดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
   เมื่อจำเลยรับจำนำทรัพย์ไว้มีจำนวนเงินเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท การรับจำนำนั้นก็ไม่อยู่ในความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ในจำนวนเงินที่รับจำนำไว้ทั้งสี่หมื่นบาท จะแยกเอาแต่จำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาทอันเป็นส่วนหนึ่งของการรับจำนำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองแล้วว่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ย่อมไม่ได้

   คำพิพากษาฎีกาที่ 1969/2549 การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วไม่แจ้งแย้งเข้าบ้านตามที่แจ้งไว้ในกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใด ทั้งยังได้ความว่า จำเลยแจ้งย้ายออกเฉพาะตัวจำเลยคนเดียว มิได้แจ้งย้ายครอบครัวไปด้วย แสดงว่าไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่ และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนา ต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้

        แม้ข้อตกลงในสัญญากู้ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะตกเป็นโมฆะมีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาได้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561 (การปรับใช้ ป.วิ.พ. มาตรา 5)  แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2548 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ร้อง 2 ปี ผู้ร้องถูกอายัดตัวมาดำเนินคดี และถูกฟ้องคดีอาญาที่ศาลจังหวัดนครปฐมไม่ใช่ผู้ร้องสมัครใจมายึดถิ่นที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญที่จังหวัดนครปฐม ต่อมาได้รับการปล่อยชั่วคราว ไม่ใช่กรณีถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดนครปฐมหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเรือนจำจังหวัดนครปฐมเป็นภูมิลำเนาตามมาตรา 47
        ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย ถูกกล่าวหาว่าไม่มีสัญชาติไทยและถูกดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงรายก่อน จึงถือว่ามูลคดีของผู้ร้องเกี่ยวกับการขอพิสูจน์สัญชาติเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 4 (2) ให้ผู้ร้องเสนอคำร้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลซึ่งก็คือศาลจังหวัดเชียงราย


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2546 เหตุคดีนี้เกิดในเขตศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดอุทัยธานี จำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์และนายจ้างของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ 3 บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แม้สำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 จะเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 3 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 อย่างใด คงได้ความเพียงว่าโจทก์ได้ไปติดต่อให้สำนักงานสาขาอุดรธานีชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุละเมิดแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ในส่วนกิจการอันได้กระทำเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น ( ศาลจังหวัดอุดรธานี) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1)



       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2545 ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยระบุตรงกันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 20/96 ถนนสุขุมวิท ซอยพร้อมมิตร แขวงคลองตันเหนือ เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ การที่จำเลยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้างเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
       โจทก์จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจึงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมด โดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 185 มิใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 จึงไม่ต้องทำหลักฐานการโอนหนี้เป็นหนังสือแม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กับโจทก์และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
       จำเลยเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อมาจำเลยทำความตกลงกับโจทก์เพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิต ตกลงให้ใช้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในการเรียกเก็บเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปด้วย ข้อตกลงและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาโดยมีการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างโจทก์และจำเลยหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด
       โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลกิจการผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ออกทดรองไป เมื่อกฎหมายในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
       โจทก์นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 และนำยอดเงินการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มาหักจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 เมื่อหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์2538 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ
       ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยมิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ


       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2550 โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและไม่จำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึ่งว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่



       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2541 จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย ผู้ขายสินค้าพิพาท ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับสินค้าพิพาทจากผู้ขายสินค้าและบรรทุกสินค้าลงเรือ เมื่อเรือขนสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องติดต่อประสานงานในการนำเรือเจ้าจอดเทียบท่า และติดต่อพิธีการทางศุลกากร ในการติดต่อขอรับสินค้าบริษัท อ.ผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2เพื่อชำระค่าระวางบรรทุกสินค้า เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้ว จะแจ้งให้จำเลยที่ 4 ออกใบปล่อยสินค้าให้ และใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้ขายสินค้ามีข้อความระบุว่า การปล่อยสินค้าให้ติดต่อจำเลยที่ 2 และมีข้อความระบุอีกว่า ค่าระวางบรรทุกสินค้าให้ชำระที่เมืองท่าปลายทาง แสดงว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เก็บค่าระวางบรรทุกสินค้าสำหรับสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร จึงถือได้ว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 3 (2) (ข) ในวันที่มีการออกใบตราส่งฉบับแรกคือวันที่ 28 เมษายน 2534และวันที่มีการส่งมอบและตรวจรับสินค้าพิพาทคือวันที่ 8 มิถุนายน 2534 พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวเพิ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ดังนั้น จึงต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 616ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มูลคดีเกิดขึ้น อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคสอง มิใช่ถือเอาวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดี และกรณีไม่อาจนำเอา พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้บังคับกับคดีนี้ได้
       จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อให้เรือ ท.ขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 608 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไปตาม มาตรา 616
       ในการติดต่อขอรับสินค้าพิพาทบริษัท อ.ผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องติดต่อกับจำเลยที่ 2 และจะต้องชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้ว จะแจ้งไปยังจำเลยที่ 4 ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้ และตามใบตราส่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้ส่งสินค้าระบุให้ผู้รับตราส่งติดต่อจำเลยที่ 2 ในการขอรับสินค้า ทั้งตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานตัวแทนของผู้ส่งสินค้าก็ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับตราส่งนอกจากนั้น จำเลยที่ 2 ยังมีหน้าที่ติดต่อกับบริษัทเรือเพื่อรับเอกสารการปล่อยสินค้าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว รับฟังได้ว่าเป็นการดำเนินงานขนส่งสินค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทด้วย
สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นผู้ทำการขนถ่ายสินค้าที่บรรทุกมากับเรือท. และนำสินค้าดังกล่าวไปมอบให้แก่การท่าเรือสัตหีบ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งสินค้าพิพาทด้วย จำเลยที่ 4จึงต้องร่วมรับผิดในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว



      หลัก : ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
      (2)ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในราชอาณาจักร
      (ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาเดิมของจำเลย

      คำถาม จำเลยมอบหมายให้บริษัท จ. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในราชอาณาจักรดำเนินการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในราชอาณาจักร โจทก์จะฟ้องจำเลยในราชอาณาจักรได้หรือไม่?

      คำพิพากษาฎีกาที่ 15126/2557 กรณีที่จะถือว่าถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือผู้ติดต่อ เป็นภูมิลำเนาเดิมของจำเลยตามมาตรา 3 (2)(ข) จะต้องได้ความว่าผู้นั้นประกอบกิจการของจำเลยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนจำเลย หรือเป็นบุคคลที่เคยติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลย ถ้าบุคคลนั้นเพียงแต่เคยติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในราชอาณาจักรให้แก่จำเลยเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นตัวแทนในการประกอบกิจการหรือหรือเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลย เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรและมูลคดีเกิดนอกราชอาณาจักร โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยต่อศาลโดยอ้างเหตุตาม มาตรา 3 (2)(ข) ได้
 -------------------

แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate