เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: ธันวาคม 2017

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี) มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์) 17 ธันวาคม 2560

หลักการใหม่ ของการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 (บังคับคดี)
มาตรา 271 ถึงมาตรา 321 (ภาคทบทวนวันอาทิตย์)
บรรยายโดยอาจารย์วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ
บรรยายวันที่ 17 ธันวาคม 2560
-----------


         ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของการบรรยาย อาจารย์จะขอกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนของภาคบังคับคดีที่มีการแก้ไขใหม่ ซึ่งนักศึกษาจะไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายใหม่กลับหลักกฎหมายเดิม

      กรณีแรก คือบทบัญญัติในมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว”

ให้นักศึกษาขีดเส้นใต้ตัวบทคำว่า “ซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และคำว่าหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว” ดังนั้นต่อไปนี้ในคดีแพ่งที่จำเลยมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาโดยคดีมีการสืบพยานหลักฐาน แล้วต่อมาเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยไม่มาศาล ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาและให้ศาลออกคำบังคับทันทีโดยให้ถือว่าจำเลยที่ไม่มาศาลนั้นทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น เพราะฉะนั้นในปัจจุบันคดีที่จำเลยไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยขาดนัดพิจารณาแต่ไม่มาศาลในวันฟังคำพิพากษาจะไม่มีการส่งคำบังคับไปให้จำเลยอีก
แต่ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา มาตรา 272 วรรคสองได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องส่งคำบังคับนั้นให้แก่จำเลยด้วย

* ประเด็นต่อมาที่นักศึกษาจะต้องรู้คือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 273 วรรคสี่ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนด หรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในการบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน โดยให้นักศึกษาขีดเส้นใต้คำว่าเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน

!!! หลักการใหม่ในเรื่องต่อไปคือกรณีตามบทบัญญัติในมาตรา 274 ซึ่งแต่เดิมนั้นบุคคลที่มีสิทธิจะร้องขอให้มีการบังคับคดีคือคู่ความฝ่ายที่ชนะคดี แต่ในปัจจุบันนั้นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ได้รับชำระหนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่คู่ความในคดี แต่อาจจะเป็นบุคคลภายนอกก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นกรณีของบุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความได้ตกลงกันและศาลมีคำพิพากษาตามยอมก็ได้อีกทั้ง มาตรา 274 วรรคสามได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น สิทธิในการบังคับคดีไม่สามารถที่จะโอนให้บุคคลภายนอกได้ แต่ในปัจจุบันนั้นสามารถโอนสิทธิในการบังคับคดีได้แล้ว

* ต่อไปคือบทบัญญัติในมาตรา 277 ในเรื่องการไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเจ้าหนี้จะยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้จะใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนั้นหากเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดี แต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด ต่อไปนี้เจ้าหนี้สามารถใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อเรียกลูกหนี้มาไต่สวนเพื่อหาทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลฎีกาเดิมทั้งหมด

***ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 298 แต่เดิมนั้นเวลาที่เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ หากเจ้าหนี้นำชี้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องทำการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ในปัจจุบันนั้นกฎหมายได้สร้างเกราะคุ้มกันให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยหากทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้มีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่นหากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมยึดอายัด หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรือการอายัดก็ได้ แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งงดการยึดหรืออายัดได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยและจะต้องมีคำสั่ง ห้ามการโอน ขาย ยักย้าย จำหน่ายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเอาไว้ด้วย

และในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังยืนยันให้ยึด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัด เพื่อขอให้ศาลสั่งให้
เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องมายื่นคำร้องต่อศาลเท่านั้น

***ประเด็นต่อไปที่นักศึกษาไม่รู้ไม่ได้คือกรณีตามมาตรา 331 ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 จุด ด้วยกัน โดยจุดแรก คือเมื่อได้มีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้ว กฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในเรื่องนี้ให้นักศึกษาตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ว่าในปัจจุบันนั้นในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากศาลแล้ว

จุดที่ 2 คือหากเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องกำหนดวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันยึด อายัดหรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น และที่สำคัญจะอยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 331 วรรคสาม คือ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้าม มิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควร มาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติในมาตรา 331 วรรคสองได้กำหนดให้เวลาในการขายทอดตลาดนั้นไม่น้อยกว่า 60 วันแล้ว เพื่อให้เวลาบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หาบุคคลมาสู้ราคาในการขายทอดตลาดนั้นเพราะฉะนั้น เมื่อมีการขายทอดตลาดแล้วกฎหมายจึงห้ามบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีกซึ่งเป็นการยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 309 ทวิเดิมทั้งหมด

ต่อไปมาดูบทบัญญัติในมาตรา 357 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้ทำนิติกรรม โดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ซึ่งหากหนังสือสำคัญ เช่น โฉนดที่ดิน ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบทะเบียน หรือเอกสารสิทธิที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนนั้นสูญหาย บุบสลายหรือนำมาไม่ได้เพราะเหตุอื่นใด ศาลสามารถที่จะสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ออกใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวได้ และเมื่อได้ออกใบแทนแล้วหนังสือสำคัญเดิมก็เป็นอันยกเลิกไปซึ่งในเรื่องนี้เป็นการกลับหลักการเดิมของกฎหมาย เพราะแต่เดิมนั้นคำพิพากษาของศาลจะไปบังคับบุคคลภายนอกไม่ได้ แต่ปัจจุบันนั้นเฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ศาลสามารถ มีคำสั่งบังคับบุคคลภายนอกในเรื่องดังกล่าวได้แล้ว

ประการต่อมาคือในบทบัญญัติ มาตรา 358 วรรคหนึ่ง ซึ่งการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นกรณีที่อาจให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่สามารถที่จะกระทำเช่นนี้ได้

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาเครื่องหมายการค้า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2559  ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
         แม้เครื่องหมายการค้ามีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่จะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วยว่ามีโอกาสที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์ผู้ขอจดทะเบียนหรือของ ท. ผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะสับสนหลงผิดหรือไม่ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะใช้กับรายการสินค้า แปรงสีฟัน เช่นเดียวกัน แต่ ท. เป็นแปรงสีฟันธรรมดา ส่วนโจทก์เป็นแปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและมีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย บุคคลที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวันย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงไม่ใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดโดยง่าย ประกอบกับโจทก์นำสืบว่าใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PHILIPS" มานานหลายสิบปี และจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจำเลยไม่นำสืบโต้แย้ง การที่ประชาชนผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าโจทก์อย่างดีย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผู้บริโภคดังกล่าวจะสับสนหลงผิด และไม่น่าเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาจะแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของ ท. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาละเมิดลิขสิทธิ์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559)

       การทำซ้ำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่จำกัดเฉพาะทำซ้ำจากต้นฉบับบเท่านั้น แม้ทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559 การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559  จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

(ฎีการ่วมกันลักทรัพย์) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557 การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558 โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาขับรถประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559 ถนนที่จำเลยขับรถมาเป็นทางเดินรถทางโท มีสัญญาณจราจรไฟกระพริบสีแดงและป้ายเตือนให้หยุด ติดไว้ก่อนเข้าทางร่วมทางแยก จำเลยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยก หลังเส้นให้หยุดรถและให้ผู้ขับรถในทางเอกขับผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรแล้วจึงจะขับรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนโจทก์ขับรถมาในทางเอกแม้จะมีสิทธิขับรถผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โดยต้องลดความเร็วของรถ เมื่อขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก สภาพความเสียหายของรถโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากอันเกิดจากการชนโดยแรง และตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ รถยนต์โจทก์อยู่ห่างจากจุดชนประมาณ 35 เมตร แสดงว่าโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วและไม่ได้ชะลอความเร็วของรถ เมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกันโจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาแรงงาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559 การที่โจทก์เบิกทองคำซึ่งเป็นลวดที่ใช้ในการทำงานไปเกินกว่าปริมาณงานในแต่ละครั้งเพราะโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีความเชี่ยวชาญจึงสามารถทำชิ้นงานได้มากกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ความว่าโจทก์เอาลวดทองคำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในการคืนผงทองคำตลอดเวลาหลายสิบปีจะมีส่วนเกินไปบ้างหรือขาดไปบ้างก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ขาดก็จะต้องหักเป็นเงินทุกครั้งเสมอมา ก่อนเดือนที่จะถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยมีปัญหาหรือขัดแย้งกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการคืนเศษทองคำขาดหรือเกิน คงมีปัญหาเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น และเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยกะทันหันโจทก์จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเคลียร์งานหรือคืนผงทองคำให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขายซิงค์น้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์หยิบอันอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน ซึ่งต่อมาโจทก์ได้นำมาคืนจำเลยแล้ว และโจทก์กระทำในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำต่อนายจ้าง ตามพฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 และมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาภาษีอากร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559)

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการคำนวณภาษีซื้อและภาษีขายตามมาตรา 82/3 ต้องมีสถานะเป็นบุคคลตามมาตรา 77/1 (1) ซึ่งภาษีซื้อและภาษีขายย่อมต้องเกิดขึ้นจากการขายระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (17) และ (18) เมื่อสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่างเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันอยู่ในฐานะเป็นบุคคลเดียวกัน การโอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสำนักงานสาขาจึงเป็นเพียงการจัดการกิจการภายในของโจทก์เอง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำนักงานใหญ่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่สำนักงานสาขา และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาภาษีมูลค่าเพิ่ม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558 ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ฎีกาลักทรัพย์ของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558  จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาสำคัญผิดในคุณสมบัติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553 สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า อาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ในความเป็นจริงตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวโดยมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา เป็นการผิดเงื่อนไขในข้อจำนวนเนื้อที่ดินอันเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดซึ่งเป็นโมฆียะตามป.พ.พ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558   การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาคำมั่นจะให้เช่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552)

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552  แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก อีกทั้งการตกลงกันยกเลิกคำมั่นดังกล่าวก็หาใช่การที่จำเลยถอนคำมั่นเพียงฝ่ายเดียวอันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่
           แม้สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทน ข้อ 3 ท้ายสัญญาเช่าเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีกเท่านั้น จึงเป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าได้ และคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว ดังนั้นเมื่อคำมั่นจะให้เช่าไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

ฎีกาที่ดิน ส.ป.ก. (ฎีกาที่ 8222/2553 ,ฎีกาที่ 1417/2542)

ที่ดิน ส.ป.ก.
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553  พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2542 ก่อนทำสัญญาซื้อขายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโครงการกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วในวันนั้นเองโจทก์ก็ได้ไปยื่นคำขอทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาทต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอรับหนังสืออนุญาต ให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินอันอาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ดังเช่น ที่ดินมีโฉนด การที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครองและกำลังดำเนินการขอรับหนังสือ อนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีเจตนาให้จำเลยโอนการครอบครอง ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะสวมสิทธิของจำเลยไปดำเนินการขอออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินในนามของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างว่าการที่จำเลยไม่สามารถ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ได้เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย หาได้ไม่