เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: มกราคม 2019

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
          กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้

ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันมีโฆษณาคำสั่งผู้ทำแผน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2547 เจ้าหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดส่งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้เสนอคำขอรับชำระหนี้ไปยังห้องชุดซึ่งเจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญาเช่าและเดินทางกลับประเทศมาเลเซียแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทราบตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/24 วรรคสอง คดีมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549 ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ
          เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้น 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็เรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปไม่ เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
          การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
          การที่เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีจำนวนหนี้มีประกันเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา
การพิจารณามูลค่าราคาหลักประกันศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) ที่บัญญัติว่า "ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี" หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เมื่อผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนข้อกำหนดดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
          สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับแผนฟื้นฟูกิจการและได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในอนาคตเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมีอยู่ต่อกันตามแผน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่เห็นชอบด้วยแผนเห็นควรให้จัดทำขึ้นเพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดที่จะได้เกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว จึงมิใช่สาระสำคัญของแผน ส่วนที่แผนกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อแผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
          ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2)
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมาตรา90/42(3)(ข) ให้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และมาตรา 90/42 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)และมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น เจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงสามารถจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ เพียงแต่แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน


 อ้างอิง คำบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายล้มละลาย อ.เอื้อน ขุนแก้ว สมัยที่71

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ1 สมัยที่71

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ1 สมัยที่71


ศาลที่จะยื่นฟ้อง หรือเสนอคำฟ้อง
        บทบัญญัติที่กำหนดว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลใดนั้น มีตามมาตรา  ๓, , ๔ ทวิ, ๔ ตรี, ๔ จัตวา, ๕ เบญจ, ๔ ฉ, , และ ๗ ในการที่จะพิจารณาว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาล
      ตามบทมาตราข้างต้นนั้นมีหลักการทั่วไปที่ควรจะได้ทำความเข้าใจก่อน คือ ที่จะพิจารณาว่าจะฟ้องคดีต่อศาลใดมีหลักในการพิจารณาในภาพรวมได้ดังนี้คือ
        (๑) ศาลที่จำเลยหรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต
        (๒) ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขต
        (๓) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์ที่ขอบังคับอยู่ในเขต
        (๔) ไม่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้นต้องฟ้องต่อศาลที่กำหนดเป็นพิเศษ


มาตรา ๓ เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
        (๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราช อาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
        (๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
        (ก) ถ้าจำเลยเคยมิภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนด สองปีก่อนวันที่มิการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
        (ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนใน ราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมิบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทน หรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลยได้
        ความที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา ๓ ในการที่จะใช้บทบัญญัติใน (๑) หรือ (๒) นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้องเท่านั้น จะนำไปใช้ในกรณี อื่นไม่ได้ หมายความว่าเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง หรือการเสนอคดีต่อศาลเท่านั้น จะใช้เป็นภูมิลำเนาในเรื่องอื่นไม่ได้

บทบัญญัติของมาตรา ๓ (๑) มีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ ๓ ประการ
        ๑. มูลคดีที่เกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย
        ๒. เรือไทยหรืออากาศยานไทยนั้นอยู่นอกราชอาณาจักร

        ๓. สามารถที่จะฟ้องคดีต่อศาลแพ่งได้

สกัดหลักกฎหมายที่สำคัญ
  ๑. การฟ้องคดีเมื่อเกิน ๒ ปี นับแต่จำเลยย้ายภูมิลำเนาออกไปนอกราชอาณาจักร นั้นก็ดี หรือภายหลังกว่า ๒ ปี นับแต่จำเลยเลิกประกอบกิจการก็ดี จะใช้หลักเกณฑ์ตาม มาตรา ๓ (๒) ไม่ได้
 ๒. มาตรา ๓ เป็นการบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการฟ้องคดีไม่ใช่ว่าเมื่อ มีสิทธิฟ้องตามมาตรา ๓ แล้ว ทำให้หมดสิทธิฟ้องตามมาตราอื่น


คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๘๐/๒๕๔๒*** บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๓ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมด หรือ แต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการ หรือ ติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ตังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ ๑ โดยเป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทางตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ ๒ แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ ๑ แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที ๒ เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ ๑ ในราชอาณาจักร เมื่อปรากฎตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ ๑ มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ ๑ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. ๔ (๑) ได้
        โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลกบบริษัทผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่บริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัย โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้



อ้างอิง : คำบรรยายเนติ เล่มที่ 7 วิชา วิ.แพ่ง ภาค 1 อ.อุดม เฟื่องฟุ้ง สมัยที่71

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็ง วิแพ่ง ข้อ2 วิแพ่ง ภาค1 เนติฯ สมัยที่ 71

เก็ง วิแพ่ง ข้อ2 ภาค1 เนติฯ สมัยที่ 71



มาตรา 144 (ออกสอบ ล่าสุดสมัยที่ 70) เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
(1) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามมาตรา 143
(2) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียว ตามมาตรา 209 และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 53
(3) การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา 229 และ 247 และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาตามมาตรา 254วรรคสุดท้าย
(4) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา 243
(5) การบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งตามมาตรา 271

ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 16 และ 240 ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง


สกัดหลักกฎหมาย
1. มีประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน
2. เมื่อคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และ
3. ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
4. จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 441-442/2559  โจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงกับ อ. และจำเลยที่ 5 แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่  18144 ให้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละส่วนเท่ากัน ต่อมาโจทก์ทั้งสามปฏิบัติผิดข้อตกลง อ. กับจำเลยที่ 5 จึงฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสามยื่นคำให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง โดยอ้างเหตุทำนองเดียวกับที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ว่าโจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงเพราะถูกข่มขู่ ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกฟ้องเป็นจำเลย ได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลชั้นต้นได้ วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ยอมทำบันทึกข้อตกลงกับ อ. และจำเลยที่ 5 เพื่อเป็นไปตามคำประสงค์เดิมของบรรดาญาติพี่น้อง หาใช่เพราะถูก ข่มขู่ให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงไม่ บันทึกข้อตกลงจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ ทั้งสามไม่มีสิทธิบอกล้าง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีแพ่งของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน เมื่อคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144



กรณีที่ไม่ถือว่าทั้งสองคดีมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน


        คำพิพากษาฎีกาที่ 4765/2539 คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า จำเลยเป็นบุตรคนเดียวของ ห. มีสิทธิรับมรดก คือ ทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว ประเด็นจึงมีว่า จำเลย เป็นบุตรของ ห. แต่เพียงคนเดียวและมีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ แต่คดีนี้โจทก์ ฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่ ห. และมารดาโจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นสินสมรส ประเด็นจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ



กรณีที่ไม่ถือว่าทั้งสองคดีมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน


        คำพิพากษาฎีกาที่ 2046/2558 การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 กำหนดว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อ้างว่าพินัยกรรมปลอม แต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทซึ่งแตกต่างกัน จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144


กรณีที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดี

คำพิพากษาฎีกาที่ 2854/2561 (ฎีกาใหม่*) คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษา ให้หย่าจึงจะมีการแบ่งสินสมรสกันว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษา ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดี มีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และ สินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นแห่งคดีก่อนต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสต้องแบ่ง ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับ สินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน


อ้างอิง  รวมคำบรรยายเนติ เล่มที่7 วิชา วิ.แพ่ง ภาค 1 อ.อำนาจ พวงชมภู สมัยที่71


ฎีกาเด่น* ถอดเทป ห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่8 วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคปกติ) อ. จุลสิงห์ จันทร์ที่ 7 ม.ค 62 สมัยที่71

ฎีกาเด่น* ถอดเทป ห้องบรรยายเนติฯ  วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคปกติ)
 อ. จุลสิงห์ฯ สัปดาห์ที่8  จันทร์ที่ 7 ม.ค 62 สมัยที่71



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560*** ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่า การตีความคำว่า”ผู้เสียหาย” ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ไม่ถือตามความหมายมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตาม ความหมายดั่งได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ส่วนความประมาทของผู้เสียหาย (ผู้ร้อง) เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2528 คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงในความผิดฐานยักยอก และมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาทแก่ผู้เสียหายได้ เมื่อผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่อาจถือเอาคำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการเป็นคำขอของตนได้ เพราะหากผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองแล้วย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำขอในส่วนแพ่งอันมีทุนทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาท ต่อศาลแขวงได้เนื่องจากเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา และเมื่อโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฝ่ายเดียวย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8886/2549 จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานรับของโจรรถกระบะของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงโทรศัทพ์เคลื่อนที่ราคา 3,900 บาท สินค้าอุปโภคบริโภคราคา 40,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 9,000 บาท ซึ่งมิใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองรับของโจรและรถกระบะของกลางนั้นผู้เสียหายก็ได้รับคืนไปแล้ว แม้ได้รับคืนในสภาพที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 27,200 บาท พนักงานอัยการโจทก์ก็ขอให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้ เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเอาเองเป็นคดีใหม่ จะให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่มิได้รับของโจรกับมูลค่าความเสียหายของรถกระบะของกลางที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนนั้นย่อมไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11776/2553 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและซื้อที่ดินจากจำเลย โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติว่า "คดีลักทรัพย์...ฉ้อโกง...ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย" ดังนี้ เมื่อจำเลยหลอกลวงเอาเงิน 80,000 บาท ของผู้เสียหายไปอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนเงิน 80,000 บาท ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ให้อำนาจไว้จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 80,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่ดินที่จำเลยจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้เสียหายแล้วนั้น หากผู้เสียหายไม่โอนที่ดินคืนแก่จำเลย จำเลยชอบที่จะดำเนินคดีทางแพ่งตามสิทธิของจำเลยต่อไป

บทบรรณาธิการเนติ ภาค2 สมัยที่71 เล่มที่7

       คำถาม โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ มีคำสั่ง ย้ายและตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์เสียหายขาดโอกาสความก้าวหน้า ประโยชน์ที่ควรได้รับ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ขอให้เพิกถอนการประเมิน คำสั่ง คืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ร้องเรียน จำเลยไปยังหลายหน่วยงาน เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้ใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ ฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๒๒/๒๕๕๙ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ปี ๒๕๕๔ โดยไม่ชอบ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งย้ายโจทก์และตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำให้โจทก์เสียหายขาดโอกาสในความก้าวหน้า ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ และเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ขอให้เพิกถอนการประเมินการปฏิบัติงานปี ๒๕๕๔ เพิกถอนคำสั่งย้ายโจทก์ ให้คืนสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ขาดโอกาสและสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับและเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่ง การพิจารณาคดีของโจทก์ ศาลต้องพิจารณาการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งสามว่าชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการย้ายโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า โจทก์ร้องเรียนจำเลยทั้งสามไปยังหลายหน่วยงานเป็นการจงใจทำให้จำเลยทั้งสามเสียหายนั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่าการร้องเรียนของโจทก์เป็นการละเมิด ต่อจำเลยทั้งสาม แม้ฟ้องเดิมจะมีคดีอันเกิดจากมูลละเมิดรวมอยู่ด้วย แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกันไม่มีความเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้










วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งฎีกา วิอาญา ข้อ5 อุทธรณ์-ฎีกา เนติบัณฑิต สมัยที่71

เก็ง วิอาญา ข้อ5 อุทธรณ์-ฎีกา เนติบัณฑิต สมัยที่ 71


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้ฎีกาของจำเลยจะขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 100/2 โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา ก็หาก่อให้เกิดสิทธิในการยื่นฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย


อ้างอิง : วิชา วิ.อาญา ภาค 3-4 (อ.ธานี สิงหนาท) ภาคปกติ  สมัยที่71 ปิดคอร์ส*

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งเนติ วิอาญา ข้อ2 สมัยที่71 ชุดที่1

เก็งฎีกาเด่น เนติ วิอาญา ข้อ2 สมัยที่71 ชุดที่1

-------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 442/2561  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม.

การยื่นคำร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดจากความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมิได้ประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำร้องของโจทก์ร่วมย่อมเป็นการไม่ชอบฎีกาของโจทก์ร่วมนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 (เดิม)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 1


 การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและการขอค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 30 และมาตรา 44/1

คำพิพากษาฎีกาที่ 1935/2561 โจทก์ร่วมสมัครใจวิวาทกับจำเลย โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญาได้ แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจได้นั้นหมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง มิใช่นำเอาความหมายของคำว่าผู้เสียหายในคดีอาญามาใช้บังคับ แม้โจทก์ร่วมจะไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ แต่ก็มีสิทธิเป็นผู้ร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

ผู้ร้องและจำเลยสมัครใจต่อสู้กันถือได้ว่าต่างฝ่ายต่างก่อให้เกิดความเสียหายด้วยกัน แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งมีวิถีกระสุนกระจายเป็นวงกว้างยิงไปทางผู้ร้องจนกระสุนปืนถูกผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ในขณะที่จำเลยไม่ถูกกระสุนปืนที่ร่างกายเลย ตามพฤติการณ์เป็นที่เห็นได้ว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่าฝ่ายผู้ร้อง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้ร้องกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3554/2561 แม้ตามคำฟ้องและทางพิจารณาคดีจะได้ความว่าการล่วงละเมิดทางเพศของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 นั้นเป็นไปโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงเรื่องพิจารณาตามองค์ประกอบในเรื่องอายุโดยกฎหมายได้คำนึงถึงการคุ้มครองความเป็นผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่อายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งยังขาดวุฒิภาวะ ตลอดจนความรู้ และความเข้าใจในการดำรงชีวิต ซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิด หากล่วงรู้และทราบข้อเท็จจริงในองค์ประกอบเรื่องอายุในส่วนนี้ แล้วยังคงกระทำความผิด ก็จะอ้างถึงความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นเหตุปัดความรับผิดในเรื่องดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน กรณีย่อมถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุยังไม่เกิน 13 ปีนั้น แม้จะถูกจำเลยกระทำความผิดโดยยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุพิจารณาว่ามิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนั้น ผู้เสียหายที่ 1 โดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในส่วนความผิดที่ถูกจำเลยกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสามและมาตรา 279 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 โดย น. มารดาโจทก์ร่วมผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้ว และเมื่อเป็นโจทก์ร่วมก็ย่อมมีสิทธิในฐานะที่เป็นคู่ความในคดี จึงมีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาได้ ส่วนเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 นั้น เมื่อจำเลยได้ล่วงละเมิดในทางเพศต่อโจทก์ร่วมและล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลโจทก์ร่วมของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นยายซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโจทก์ร่วมอยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 แล้ว โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1


อ้างอิง : ฎีกาเด่น* ห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคค่ำ) อ.ธนรัตน์ ทั่งทอง 28 ธค 61 สัปดาห์ที่7 สมัยที่71 

เก็งเนติ วิแพ่ง ข้อ5 อุทธรณ์-ฎีกา สมัยที่71 (แนวคำถาม-ตอบ ฎีกา) ชุดที่1

เก็งเนติ วิแพ่ง ข้อ5 อุทธรณ์-ฎีกา สมัยที่71 (แนวคำถาม-ตอบ ฎีกา) ชุดที่1


        คำถาม คดีที่มีโจทก์หลายคนร่วมกันฟ้องจำเลย โดยโจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวเรียกการเอาส่วนของตน การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าจะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ต้องพิจารณาแยกต่างหากจากกันหรือรวมกัน?

        คำตอบ กรณีเป็นการที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามมาตรา ๕๕ การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของ โจทก์แต่ละคนแยกกัน มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ตังนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓๕/๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามร่วมกันฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ แต่โจทก์ที่ ๑ อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ม. บิดา โจทก์ที่ ๑ เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ ๑ ต่อมาโจทก์ที่ ๑ แบ่งที่ดินออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๙๓ ตารางวา ราคาประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ ครอบครองทำประโยชน์ ส่วนที่ ๒ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๕๓ ตารางวา ราคาประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ ๒ และ ส่วนที่ ๓ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา ราคาประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ ๓ หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามขอออกโฉนดที่ดินแต่ละส่วนของแต่ละคน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามส่วนที่แต่ละคนขอรังวัดออกโฉนด อันเป็นการที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามมาตรา ๕๕ การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของ โจทก์แต่ละคนแยกกัน

บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค2 สมัยที่71 เล่มที่ 2

        บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค๒ สมัยที่ ๗๑ เล่มที่ ๒

        คำถาม คำให้การจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องจะหมายความรวมถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องตามที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ จำเลยด้วยหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๒๑/๒๕๖๑ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลย ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาของศาลจังหวัดสุรินทร์ ให้ลงโทษจำคุก ๔ ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในระหว่างที่จำเลยยังจะต้องรับโทษในคดีดังกล่าว จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้อีก เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องทั้งหมดให้จำเลยฟัง จำเลยก็ได้ให้การว่ารับสารภาพตามฟ้อง คำให้การจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกิน ๖ เดือน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖

        คำถาม ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๔/๒๕๖๑ แม้ตามคำฟ้องและทางพิจารณาคดีจะได้ความว่า การล่วงละเมิดทางเพศของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ ๑ นั้น เป็นไปโดยผู้เสียหายที่ ๑ ยินยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงเรื่องพิจารณาตามองค์ประกอบในเรื่องอายุ โดยกฎหมายได้คำนึงถึงการคุ้มครองความเป็นผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่อายุยังไม่เกินสิบสามปี ยังขาดวุฒิภาวะ ตลอดจนความรู้และความเข้าใจในการดำรงชีวิตซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิดหากล่วงรู้และทราบข้อเท็จจริง ในองค์ประกอบเรื่องอายุในส่วนนี้แล้ว ยังคงกระทำความผิด ก็จะอ้างถึงความยินยอมของผู้เสียหายที่ ๑ มาเป็นเหตุปัดความรับผิดในเรื่องดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน กรณีย่อมถือว่าผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุยังไม่เกินสิบสามปีนั้น แม้จะถูกจำเลยกระทำความผิดโดยยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุ พิจารณาว่ามิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนั้น ผู้เสียหายที่ ๑ โดยมารดาผู้แทน โดยชอบธรรมจึงมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในส่วนความผิดที่ถูกจำเลยกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ วรรคสาม และมาตรา ๒๗๙ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ ๑ โดย น. มารดาโจทก์ร่วมผู้แทนโดยชอบธรรม เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้วและเมื่อเป็นโจทก์ร่วมก็ย่อมมิสิทธิในฐานะที่เป็นคู่ความในคดี จึงมีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์ และคำแก้ฎีกาได้ ส่วนเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ นั้น เมื่อจำเลยได้ล่วงละเมิดในทางเพศต่อโจทก์ร่วม และล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลโจทก์ร่วมของผู้เสียหายที่ ๒ ผู้เป็นยายซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโจทก์ร่วมอยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ แล้ว โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ ๒ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๙๗/๒๕๖๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามี ของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวาง...” แสดงว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ผู้เสียหายจึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย ฐานละเมิดจากจำเลย มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้

        คำถาม ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาข้อหาความผิดฐานยักยอกต่อศาลแขวงและขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ยักยอกเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผู้พิพากษาคนเดียว ในศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๙๒/๒๕๖๐ แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ () วรรคหนึ่ง กำหนดว่าผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา ๔๐ บัญญัติว่า “การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญา หรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหาย สามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๓ หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่จะพิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒ (๑) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น (ศาลแขวง) ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

        คำถาม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ (กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ) ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ได้หรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๓๙/๒๕๖๑ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลย ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ตามฟ้อง โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐

เก็งเนติ วิแพ่ง ข้อ1 สมัยที่71 (แนวคำถาม-ตอบ ฎีกา) ชุดที่1

        
เก็งเนติ วิแพ่ง ข้อ1 สมัยที่71 (แนวคำถาม-ตอบ ฎีกา) ชุดที่1


        คำถาม เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอื่นโดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ทำที่สำนักงานของผู้รับโอน หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่ผู้รับโอน จะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ใด?
        คำตอบ ถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิด ขึ้น ณ ที่สำนักงานของผู้รับโอน มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๓๐/๒๕๕๔ สัญญาว่าจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ระบุว่าทำ ณ ที่ทำการของจำเลยที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพล แม้ห้างดังกล่าวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้าง ตามสัญญาว่าจ้างให้แก่โจทก์แต่โจทก์ก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของห้างฯ ในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากจำเลยแทนห้างฯ เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้อง เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลย และจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ ถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิด ขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลย ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพล โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้น ต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ (๑) ไม่ได้

        อธิบาย ตามมาตรา ๔(๑) นี้ โจทก์สามารถฟ้องได้ยังศาลที่
        ๑. จำเลยมีภูมิลำเนาหรือ
        ๒. ศาลที่มูลคดีเกิดได้ ถ้าจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชฯ ให้ฟ้องยังศาลที่มูลคดีเกิดโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาหรือสัญชาติของจำเลย