เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
          กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้

ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันมีโฆษณาคำสั่งผู้ทำแผน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2547 เจ้าหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดส่งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้เสนอคำขอรับชำระหนี้ไปยังห้องชุดซึ่งเจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญาเช่าและเดินทางกลับประเทศมาเลเซียแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทราบตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/24 วรรคสอง คดีมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549 ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ
          เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้น 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็เรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปไม่ เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
          การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
          การที่เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีจำนวนหนี้มีประกันเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา
การพิจารณามูลค่าราคาหลักประกันศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) ที่บัญญัติว่า "ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี" หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เมื่อผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนข้อกำหนดดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
          สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับแผนฟื้นฟูกิจการและได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในอนาคตเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมีอยู่ต่อกันตามแผน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่เห็นชอบด้วยแผนเห็นควรให้จัดทำขึ้นเพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดที่จะได้เกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว จึงมิใช่สาระสำคัญของแผน ส่วนที่แผนกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อแผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
          ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2)
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมาตรา90/42(3)(ข) ให้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และมาตรา 90/42 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)และมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น เจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงสามารถจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ เพียงแต่แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน


 อ้างอิง คำบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายล้มละลาย อ.เอื้อน ขุนแก้ว สมัยที่71

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น