เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: มีนาคม 2020

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ) 22ก.พ 63 สมัยที่72


ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน สมัยที่72
 อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ)  22ก.พ 63 
---------------------- 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2550 แม้โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคล 1 ปาก และอ้างส่งเอกสาร 2 ฉบับ รวมทั้งสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารด้วย แล้วโจทก์แถลงหมดพยาน แสดงว่าโจทก์สืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จในวันดังกล่าว แต่จำเลยซึ่งถูกโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตนก็มิได้คัดค้านการที่โจทก์นำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบว่า สำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องกับต้นฉบับภายในระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 แม้ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการที่โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ จำเลยก็กล่าวอ้างเพียงว่าศาลจะรับฟังเอกสารเป็นพยานได้แต่ต้นฉบับ เอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้คัดค้านโดยตรงว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ทั้งไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่จำเลยไม่อาจคัดค้านได้ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านการอ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้โดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จึงห้ามมิให้จำเลยคัดค้านความถูกต้องของสำเนาเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 ที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงหาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2553 ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาแล้ว ต่อมาโจทก์สืบพยานและอ้างส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล แล้วแถลงหมดพยานถือว่าโจทก์สืบพยานเอกสารเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นตั้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสองจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม
ตามรายการประจำนวนเกี่ยวกับคดีระบุข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท เป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2551 ผู้ร้องได้อ้างส่งต้นฉบับของเอกสารทั้งหมดต่อศาลชั้นต้นประกอบคำเบิกความของ ช. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง แต่ศาลชั้นต้นได้คืนต้นฉบับเอกสารให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับในขณะที่ผู้ร้องได้รับคืนต้นฉบับเอกสารนั้นว่าไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับทุกฉบับ จึงเป็นการตกลงกันว่าสำเนาเอกสาร ตามที่โจทก์ฎีกานั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงยอมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (1) การที่ต่อมาโจทก์คัดค้านสำเนาเอกสารดังกล่าวเมื่อสืบพยานปาก ช. เสร็จแล้ว จึงไม่ทำให้การรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยชอบแล้วเสียไป
โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่ชอบด้วยกฎมหาย แต่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายอันเป็นคุณต่อผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551 จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2524 ธนาคารโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากจำเลย จำเลยรับหมาย (คำสั่ง) เรียกแล้วไม่ส่งศาล ภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งไม่แสดงเหตุที่ไม่ส่ง ย่อมถือได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตราของโจทก์ จำเลยได้ยอมรับแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ถือได้ว่า หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2538 การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ตกลงกันเดิมมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงอันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จำเลยก่อสร้างบ้านของโจทก์มีส่วนสูงน้อยกว่าที่กำหนดไว้ประมาณ.16ถึง.18เมตรแต่เมื่อไม่กระทบถึงความคงทนของตัวบ้านก็หาทำให้บ้านเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์ไม่จึงมิใช่การผิดสัญญาในข้อสำคัญถึงขนาดโจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดก็มีเพียง สิทธิเรียกร้องให้จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2541 การรับสภาพหนี้นั้น ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้ ดังนั้นการรับสภาพหนี้จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555 การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2537 โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือ แม้มีการวางเงินมัดจำด้วย การวางเงินมัดจำก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องให้บังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าที่ดินพิพาทตกลงจะซื้อโจทก์ยอมคืนเงินมัดจำและถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกกันนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาจึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและชำระราคาส่วนที่เหลือไว้แน่นอน จำเลยไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้