เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งฎีกา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ) พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

เก็งฎีกา การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ (ฟื้นฟูกิจการ)  
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2545
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/58, 130

     ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า" ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย_ _ _ (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน_ _ _" ในรายการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมหมายความรวมถึงการระบุชื่อผู้ค้ำประกัน วงเงินความรับผิดตลอดจนผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อผู้ค้ำประกันด้วย ในคดีนี้ผู้ทำแผนได้ระบุชื่อผู้ค้ำประกันและวงเงินค้ำประกันไว้โดยละเอียดโดยผู้ทำแผนชี้แจงว่าเป็นการจัดทำตามข้อมูล เอกสารแห่งหนี้ และหลักประกันที่ลูกหนี้มีอยู่ แสดงว่าผู้ทำแผนได้พยายามแสดงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อีกทั้งการที่ผู้ทำแผนระบุชื่อและความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วนก็มิใช่รายการที่มีสาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติไว้อยู่แล้ว กรณีจึงถือว่าแผนของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบกับมาตรา 90/58 (1) แล้ว
     การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นมาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน" และในมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ว่า "เจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" คดีนี้เจ้าหนี้รายที่ 80 ซึ่งผู้ทำแผนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 14 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาแผน และศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 80 ดังกล่าว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนจึงถือว่าถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย และในส่วนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในทางธุรกิจในอันที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 11 และกลุ่มที่ 12 จะต้องได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจกับลูกหนี้ก็คงไม่มีผู้ใดยินยอมให้บริการ การกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินแตกต่างกับเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ จึงเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่มาตรา 90/58 (2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายความว่าจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ตามมาตรา 130 (1) ถึง (6) ส่วนหนี้ในมาตรา 130 (7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรจะต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเมื่อแผนกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ในหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นแผนที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90/58 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581-7582/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/13, 90/14, 90/42 ตรี

     การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้
     การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการบังคับคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/13 (2) และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญ และมีข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกัน ประกอบกับทรัพย์หลักประกัน ที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกัน ได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย
     ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัท ร. โดยลูกหนี้ถือหุ้นในบริษัท ร. ร้อยละ 99.9 ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ในคดีนี้ ส่วนบริษัท ร. ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัท ร. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จะต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม
     การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2545 (ออกเนติแล้ว)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10, 90/42, 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี, 90/46, 90/58, 90/60

     กฎหมายล้มละลายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่ง โดยในมาตรา 90/58 ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมและเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี บัญญัติว่า "สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน" การที่จะพิจารณาว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน และกลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มิใช่สถาบันการเงินการที่แผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ธนาคาร ก. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงรายเดียวได้รับการเสนอชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นบริษัท ส. จำนวน 10,000,000 หุ้น ที่จำนำไว้เป็นหลักประกันในราคาหุ้นละ 5 บาท เพื่อชำระหนี้กับได้รับชำระเป็นเงินสดอีก 2,179,510.55 บาท ส่วนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีธนาคาร น. รวมอยู่ด้วยได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน โดยการแปลงหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท แม้ในแผนฟื้นฟูกิจการจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ก็เป็นกรณีที่ผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้เพราะเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว จึงถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/42 ตรี แล้ว
     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย มิให้นำมาตรา 1119 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้โดยมาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวห้ามหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทจึงไม่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ดังนั้น เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุน ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนจะเป็นผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนหนี้ของตน สถานะของเจ้าหนี้ย่อมเปลี่ยนจากเจ้าหนี้มาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม การที่ผู้ทำแผนจัดทำแผนกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน จึงเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้
     ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     ตามแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และปรากฏว่า ในการดำเนินการเพื่อแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อตกลงเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ทำให้ราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นของลูกหนี้จากการเพิ่มทุนมีราคาน้อยกว่าราคาที่ตีไว้เพื่อการแปลงหนี้เป็นทุนตามอัตราส่วนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ค้าง จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นอันเจ้าหนี้ได้รับโอนไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเหตุดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วนด้วยหุ้นแล้วให้เจ้าหนี้ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีก ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 เมื่อหนี้ส่วนของผู้ค้ำประกันระงับเพียงบางส่วน การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่เมื่อรายการดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้แล้วตามมาตรา 90/60 วรรคสอง จึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผนย่อมถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
     ในรายการสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เลย ในขณะที่ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ ถือว่าเจ้าหนี้ได้รับหุ้นอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันสามารถหาราคาที่แท้จริงได้ และเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไป เจ้าหนี้จึงน่าจะมีโอกาสให้รับเงินปันผลจากการเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วยส่วนหนี้ในส่วนที่ขาดภายหลังจากการหักด้วยราคาหุ้นที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกจากผู้ค้ำประกันได้ตามสิทธิที่มีอยู่ หากดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายชอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(3) แล้ว
     ในการขอฟื้นฟูกิจการนั้นกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจน ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ที่ว่ามีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการเป็นปัญหาในชั้นพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จนกระทั่งมีการทำแผนและแผนนั้นได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ถึงชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาล กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

การแก้ไขแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     คดีนี้คงเหลือเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจำนวน 5 ราย แผนฟื้นฟูกิจการเสนอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวน 3 ราย ส่วนเจ้าหนี้รายบริษัท ท. เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลูกหนี้และผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 9 แผนกำหนดให้เจ้าหนี้สองรายนี้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 เฉพาะผู้คัดค้านเพียงรายเดียวเท่านั้นที่คัดค้านแผนโดยอ้างเหตุหลักที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามแผนเพราะถูกลดหนี้ที่ขอรับชำระลงถึงร้อยละ 85 และได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 15 และการที่ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนต่อศาลเป็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 แม้การแก้ไขแผนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระตามแผนน้อยเกินไปจริง แต่เมื่อปรากฏว่า ในวันพิจารณาแผน ผู้คัดค้านได้ยื่นคำแถลงยืนยันอีกว่า หากได้รับชำระหนี้ตามที่ระบุในคำแถลงนี้ซึ่งมากกว่าที่ผู้ทำแผนได้แก้ไขแผนดังกล่าว ผู้คัดค้านไม่ติดใจคัดค้านแผนของผู้ทำแผนต่อไป และผู้ทำแผนก็ยินยอมที่จะแก้ไข แม้จะไม่แก้ไขให้ถึงจำนวนที่ผู้คัดค้านเสนอก็ตาม เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินต่อไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่จะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางชอบที่รับคำร้องขอแก้ไขแผนดังกล่าวไว้เพียงเพื่อส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2546 (ที่มา หนังสือฟื้นฟู อ.เอื้อน)
     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/45 มาตรา 90/48 มาตรา 90/44 และมาตรา 90/63 ได้กำหนดวิธีการแก้ไขแผนไว้ 2 ช่วงด้วยกันคือ ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนตามมาตรา 90/44 และมาตรา 90/45 อันเป็นการแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนนั้น กับการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วตามมาตรา 90/63 ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การขอแก้ไขแผนไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขแผนก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาแผนหรือแก้ไขแผนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว จะต้องยื่นคำขอแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมเพื่อพิจารณาแผนไม่น้อยกว่า 3 วัน และผู้ที่มีอำนาจจะให้แก้ไขแผนหรือไม่คือ ที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้น ผู้ทำแผนหามีอำนาจที่จะแก้ไขแผนเองไม่ นอกจากนั้นแม้ที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีมติให้แก้ไขแผนได้ ก็จะต้องนำแผนที่แก้ไขนั้นเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติพิเศษตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานให้ศาลทราบเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ โดยขอให้ศาลนัดพิจารณาตามมาตรา 90/56 ต่อไป เป็นที่เห็นได้ว่า แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขแล้วที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณายอมรับแผนโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้เสียก่อน
     เมื่อตามคำร้องของผู้ทำแผนที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางอ้างเพียงว่า การที่ผู้ทำแผนแก้ไขแผนในส่วนจำนวนหนี้ที่ผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) จะได้รับชำระตามแผนเดิมร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นให้ได้รับชำระร้อยละ 45 ของจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้แล้วเท่านั้น เมื่อไม่ได้ทำการแก้ไขโดยมติที่ประชุมเจ้าหนี้และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว การแก้ไขแผนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขโดยวิธีการดังกล่าวของผู้ทำแผนจึงไม่ชอบไปด้วย

ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10897/2546
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26, 90/27

     ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจะมีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ โดยรวม เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตามมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน เช่นนี้แม้ว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จริงจากการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องนำจำนวนหนี้ดังกล่าวนั้นมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้จะถือว่าตนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและขอบังคับคดีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหาได้ไม่
     ผู้ร้องและลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ผู้ร้องเรียกร้องค่าธรรมเนียมอันเกิดจากสัญญายืมใบหุ้นที่ผู้ร้องนำใบหุ้นของตนไปทำสัญญาจำนำกับธนาคาร ก. เพื่อประกันสินเชื่อที่ลูกหนี้มีต่อธนาคารดังกล่าว ในการที่จะวินิจฉัยว่า หนี้นี้มีลักษณะเป็นหนี้การค้าหรือหนี้อื่น ๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องพิจารณาจากเนื้อความในแผนและความมุ่งหมายของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อหนี้การค้าจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตามปกติการค้าของการประกอบธุรกิจและจะมีการชำระหนี้ส่วนนี้คืนตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ ที่ผู้ร้องให้บริษัทในเครือเดียวกันยืมใบหุ้นไปจำนำเพื่อประกันหนี้นั้นมีลักษณะเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือลูกหนี้ทางด้านการเงิน ถือว่าเป็นหนี้อื่น ๆ มิใช่เจ้าหนี้การค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12, 90/27, 90/60

     พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (7) ที่ใช้คำว่า “ยึด” ย่อมหมายถึงการอายัดด้วย การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อนที่ศาลมีคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อมูลหนี้ของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงยื่นขอชำระหนี้ได้โดยชอบเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้คัดค้านจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 90/60 ผู้คัดค้านไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้อีกต่อไป ผู้บริหารแผนชอบที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2548
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12(7), 90/27, 90/60

     พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (7) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่กฎหมายได้กำหนดให้เกิดสภาวะหยุดนิ่งหรือพักการชำระหนี้ (automatic stay) ขึ้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณา โดยมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามระบบที่กฎหมายกำหนดไว้ภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการ และให้เวลาแก่ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนสำรวจความบกพร่องของกิจการนำไปวางแผน ปรับปรุง แก้ไข ให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งลดความกดดันทางการเงินจากการถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์สินหรือหลักประกัน บทบัญญัติมาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นว่า มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการสะสางภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป สำหรับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้มีคำสั่งยึดและอายัดไว้ก่อนวันที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณานั้น เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองในการห้ามมิให้เจ้าหนี้ยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปแล้ว ก็เพื่อให้การชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามแผนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่า มูลหนี้ของเจ้าหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไว้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว เจ้าหนี้จึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแผนซึ่งรวมถึงการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ด้วย ไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากจำนวนและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ได้ยึดและอายัดไว้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546 (ข้อสอบเนติ สมัย 61)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14, 90/60

     การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
     การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
     การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

กระบวนการในการรวบรวมทรัพย์สิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2549
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25, 90/39, 90/59

     การที่ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 คดีนี้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลภายนอกของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ดังกล่าว โจทก์โดยผู้ทำแผนไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง