เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่มที่1 ภาค1 สมัยที่ 77

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่มที่1 ภาค1 สมัยที่ 77

 บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต  ภาค ๑ สมัยที่ ๗๗ (เล่มที่๑)


คําถาม วางเพลิงเผาโรงเรือนของผู้อื่น มิใช่ของตนเอง จะเป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง นอกจากความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ด้วยหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๔๓/๒๕๖๖ จําเลยวางเพลิงเผาโรงเรือนเลขที่ ๔๑... ของนางสาว ป. ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา จําเลยทําให้เพลิงไหม้โรงเรือนดังกล่าวทั้งหลัง อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนอนและตู้เสื้อผ้า ซึ่งเป็นของผู้เสียหายในโรงเรือนดังกล่าวรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๖๐,๐๐๐ บาท

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยประการแรกว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ อีกบทหนึ่ง หรือไม่

เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทํา ให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ...” บทบัญญัติดังกล่าว หาได้หมายความว่า วัตถุใด ๆ ที่ถูก กระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้นจะต้องเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้เท่านั้น แต่ หมายความรวมถึงวัตถุใด ๆ ของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น วัตถุใด ๆ ที่ถูกกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ไม่ว่าจะเป็นของผู้อื่นหรือเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้ก็เข้าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้ การที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้น ทําให้โรงเรือนของผู้เสียหายไหม้หมดทั้งหลัง ย่อมเห็นได้ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นตามฟ้อง เมื่อ วัตถุใด ๆ ที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้เป็นโรงเรือนของผู้เสียหาย การกระทําของจําเลย จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๑๘ (๑) จึงชอบแล้ว

 

คําถาม จดทะเบียนโอนขายที่ดินโดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินดังกล่าวต่อมาจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีอํานาจฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากที่ดิน หรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๓๖/๒๕๖๖ จําเลยยินยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท ให้แก่ น. เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว น. ให้นําที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพักอาศัยไปจํานอง แก่ธนาคารเพื่อนําเงินมาใช้ในการลงทุน โดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง การทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน ระหว่างจําเลยกับ น. นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านย่อมตกเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕

โจทก์ทั้งสองรู้เห็นว่าจําเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับ น. โดยจําเลย เคยเตือนโจทก์ทั้งสองมิให้ทํานิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมบ้านซึ่งจําเลยยังพักอาศัย ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสองกลับทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจาก น. ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริตซึ่งต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวง โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๑๕๕ เมื่อการทําสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็น โมฆะกรรม น. ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอน ต่อจาก น. ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลย

 

คําถาม สัญญาจํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี แต่ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้อัตรา ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดังนี้ ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานองหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๓/๒๕๖๖ แม้สัญญาจํานองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับ โจทก์จะระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สามารถเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ ก็ตาม แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจาก อ. ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ (๑) มีผลทําให้ข้อตกลงในส่วนของดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องขอบังคับจํานองโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่ศาลเห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนดไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดอกเบี้ยตามสัญญาจํานองจึงตกเป็นโมฆะ แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ยังถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์นําคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ยังคงมีสิทธิบังคับจํานองโดยยึดทรัพย์จํานองออกขายทอดตลาดชําระหนี้ต้นเงินที่เหลือ พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันผิดนัดได้

หนังสือสัญญาจํานองที่ดินระบุว่า จํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ตกลงนําส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง โดยไม่ได้กําหนดเวลาชําระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทินไว้ โจทก์จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวกําหนดเวลาให้จําเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ชําระหนี้เสียก่อน หากจําเลยไม่ชําระภายในเวลาที่กําหนด จึงจะถือว่าจําเลยผิดนัด

โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจําเลยให้ชําระหนี้ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว จําเลยได้รับหนังสือบอกกล่าววันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จําเลยชอบที่จะชําระหนี้เพื่อไถ่ถอนจํานองภายในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แต่จําเลยไม่ชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าวจําเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าว

 

คําถาม หลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีแล้วโอนเข้าบัญชีบุคคลอื่น โดยไม่มี ข้อความว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้โดยมีพยานบุคคล เบิกความประกอบว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๐๖/๒๕๖๕ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสําคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐาน แห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุ อย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจําเลยนั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจําเลยเป็นเงินที่จําเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ จําเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอํานาจฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความเพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชี โจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น