เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: บทบรรณาธิการเนติ
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 77 (เล่มที่ 2)


บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค ๑ สมัยที่ ๗๗ (เล่มที่ ๒)


คําถาม ผู้รับจ้างทําหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่ ผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างทั้งหมดเพียงผู้เดียว และต่างมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง ไปยังผู้ว่าจ้างแล้ว หากผู้รับจ้างมีหนังสือถึงผู้ว่าจ้างขอเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากเดิมที่เป็นผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างกลับมาเป็นผู้รับจ้างเช่นเดิม โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างทราบ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๕๒/๒๕๖๖ การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ผู้กระทําความผิดจะต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามด้วย

หนังสือบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินแผ่นที่ ๒ มีระบุข้อความไว้ในข้อ ๓ ให้เข้าใจได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่จําเลยที่ ๑ จะได้รับจากทางราชการตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑/๒๕๖๑ จํานวน ๘,๒๑๐,๐๐๐ บาท ไปเป็นของโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประกันหนี้และ เพื่อชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่จําเลยที่ ๑ มีอยู่แก่โจทก์ หากเงินที่โจทก์ได้รับจากทางราชการไม่เพียงพอแก่การชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง จําเลยที่ ๑ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องชําระให้แก่โจทก์จน ครบถ้วน แต่หากมีส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ก็จะคืนให้แก่จําเลยที่ ๑ ดังนี้ บ่งชี้ว่า เหตุที่โจทก์ยอมส่ง วัสดุก่อสร้างให้แก่จําเลยที่ ๑ นําไปใช้ก่อสร้างตามสัญญาที่ทําไว้กับทางราชการก่อนโดยยังไม่ต้อง ชําระราคาก็เพราะจําเลยที่ ๑ ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่มีอยู่แก่ทางราชการให้แก่ โจทก์ทั้งหมดแล้ว อันเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะได้รับการชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ให้การ สนับสนุนจําเลยที่ ๑ อย่างแน่นอน ฉะนั้น หากจะฟังว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ โดยมีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะไม่โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างให้โจทก์ด้วยการบิดพลิ้ว เปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่เป็นของโจทก์กลับคืนมาเป็นของจําเลยดังเดิม ในภายหลังตามที่โจทก์บรรยายมาในคําฟ้องจริง ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นเพราะจําเลยทั้งสองประสงค์ที่จะได้รับวัสดุก่อสร้างจากโจทก์มาใช้ในการทํางานโดยทุจริตด้วยการไม่ชําระราคา ให้แก่โจทก์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เงินค่าจ้างของจําเลยที่ ๑ อันโจทก์ควรได้รับจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงเป็นเพียงสิทธิของโจทก์มีอยู่เหนือทางราชการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นลูกหนี้ของจําเลยที่ ๑ ในอันจะต้องชําระเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นทรัพย์สินอันจําเลยที่ ๑ ได้ไปจากโจทก์โดยตรงจากผลการหลอกลวงของจําเลยทั้งสองไม่ ทั้งยังถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นทรัพย์สินอันจําเลยที่ ๑ ได้ไปจากทางราชการซึ่งเป็นบุคคลที่สามจากการหลอกลวงโจทก์ เพราะการที่ทางราชการจ่ายเงินค่าจ้างในงวดงานที่ ๔ ถึง ๗ ให้แก่จําเลยที่ ๑ ไปจํานวน ๔,๑๐๕,๐๐๐ บาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากจําเลยที่ ๑ มีหนังสือเปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างกลับคืน มาเป็นของจําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการมาแต่แรกเป็นสําคัญ หาได้มีการหลอกลวง ใด ๆ ไม่ และแม้การกระทําดังกล่าวเป็นการกระทําโดยมิชอบ ทําให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย เพราะการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๑ เกิดขึ้นสําเร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าว ดําเนินการแก่จําเลยทั้งสองเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไป เมื่อเงินค่าจ้างในงวดงานที่ ๔ ถึง ๗ ซึ่งจําเลยที่ ๑ รับไปจากทางราชการ มิใช่ทรัพย์สินที่จําเลยที่ ๑ ได้รับมาจากการที่จําเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์เสียแล้ว การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ไม่เป็นความผิด

 

คําถาม การนําสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าผู้กู้ชําระหนี้ด้วยการโอนเงินหรือ ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนผู้ให้กู้ ว่ามีการชําระเงินกู้ให้แก่ผู้ให้กู้แล้ว ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่

สัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้ผู้กู้ชําระดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ แต่ไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราเท่าใดและเริ่มคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เมื่อใด

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๙๖/๒๕๖๕ จําเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์หรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืน หรือแทงเพิกถอนเป็นพยานหลักฐานในคดี จึงต้องห้ามมิให้นําสืบเรื่องการใช้เงินชําระหนี้กู้ยืม จึงไม่อาจรับฟังคําเบิกความของจําเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานว่า จําเลยชําระหนี้เป็นเงินสด แก่โจทก์เป็นพยานหลักฐานได้ เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวและ ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวห้ามการนําสืบเฉพาะกรณีการใช้เงิน ไม่ห้ามการนําสืบกรณีการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งการนําสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าจําเลยชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง และ ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ (ก)

จําเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ส. เพื่อชําระหนี้แก่โจทก์แล้ว ส. โอนเงิน ดังกล่าวทั้งหมดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยโจทก์ยินยอมรับเงินที่ ส. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของ โจทก์ ซึ่งเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง และจําเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ย. ผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนโจทก์ เพื่อชําระหนี้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจําเลยชําระหนี้จํานวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๑๕

หนังสือสัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้จําเลยชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ไม่ได้ตกลงอัตรา ดอกเบี้ยไว้ ซึ่งตามปกติแล้วจําเลยต้องชําระดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ ซึ่งขณะทําสัญญา อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไป ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องเรียกร้อง ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ศาลจึงต้องพิพากษาให้จําเลยชําระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จําเลยผิดนัดเป็นต้นไป ไม่อาจพิพากษาให้จําเลยชําระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ จําเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไปได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคําฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง

คําบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นว่า โจทก์เข้าใจว่าจําเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ครบ กําหนดระยะเวลาตามหนังสือสัญญากู้เงิน แต่ภายหลังจากครบกําหนดเวลาดังกล่าวตามหนังสือ สัญญากู้เงินแล้ว โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับยังยินยอม รับชําระหนี้จากจําเลยโดยไม่อิดเอื้อนถือได้ว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอากําหนดเวลาชําระหนี้ตามสัญญา เป็นสําคัญ ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนจําเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้ว จําเลยยังไม่ชําระหนี้ จึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่ง และมีสิทธิ เรียกร้องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง

โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จําเลยชําระเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จําเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ดังนั้น หากจําเลยไม่ชําระหนี้ภายในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

จําเลยชําระหนี้ให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปแล้วโอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากของ ส. แล้ว ส. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนโจทก์ ซึ่งเกินกว่าจํานวนเงินต้นตามสัญญาแล้ว ต้องถือว่า จําเลยชําระหนี้เงินต้นให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จําเลยไม่ต้องรับผิดชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ให้แก่โจทก์อีก


คําถาม ได้ที่ดินมือเปล่ามาโดยการส่งมอบการครอบครอง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมหรือไม่ และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจํานองที่ดินดังกล่าว โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ได้หรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๘๔/๒๕๖๖ ผู้ร้องเป็นบุตรจําเลย จําเลยมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖ จําเลยนําที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ไปจดทะเบียนจํานองเพื่อประกันการชําระหนี้กู้ยืมแก่โจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จําเลยชําระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จําเลยไม่ชําระโจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับ คดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ เพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องบรรยายคําร้องขอถึงสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ร้องว่าได้รับการ ยกให้จากจําเลยและมีการส่งมอบให้ผู้ร้องเข้าครอบครองทําประโยชน์โดยการทํานาปลูกพืช หมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์มาเป็นเวลา ๒๔ ปี แล้วก็ตาม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการส่งมอบการครอบครองอันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งหากยังมิได้จดทะเบียนผู้ร้องจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจํานองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีร้องขัดทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๒๓ ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายคําร้องขอโดยชัดแจ้งว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่งอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นด้วย ผู้ร้องจึงจะมีสิทธินําพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้บรรยายคําร้องขอว่าโจทก์รับจํานองที่ดินตามหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือไม่สุจริต หรือไม่ได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนําพยานเข้าสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

คดีจึงต้องฟังว่าโจทก์รับจํานองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ โดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องจะอ้างสิทธิครอบครอง ในที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ที่ผู้ร้องได้มาโดยการส่งมอบการครอบครองแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้นขึ้นยันโจทก์ไม่ได้

          ส่วนผู้ร้องฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ไม่อาจนํามาใช้บังคับกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่านั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์มีเพียงสิทธิครอบครอง จึงอาจโอนได้โดยการส่งมอบการครอบครองตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๙ ถึงมาตรา ๑๓๘๐ ก็ตาม แต่เมื่อการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ด้วย 




บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่มที่1 ภาค1 สมัยที่ 77

 บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต  ภาค ๑ สมัยที่ ๗๗ (เล่มที่๑)


คําถาม วางเพลิงเผาโรงเรือนของผู้อื่น มิใช่ของตนเอง จะเป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง นอกจากความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ด้วยหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๔๓/๒๕๖๖ จําเลยวางเพลิงเผาโรงเรือนเลขที่ ๔๑... ของนางสาว ป. ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา จําเลยทําให้เพลิงไหม้โรงเรือนดังกล่าวทั้งหลัง อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนอนและตู้เสื้อผ้า ซึ่งเป็นของผู้เสียหายในโรงเรือนดังกล่าวรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๖๐,๐๐๐ บาท

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยประการแรกว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ อีกบทหนึ่ง หรือไม่

เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทํา ให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ...” บทบัญญัติดังกล่าว หาได้หมายความว่า วัตถุใด ๆ ที่ถูก กระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้นจะต้องเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้เท่านั้น แต่ หมายความรวมถึงวัตถุใด ๆ ของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น วัตถุใด ๆ ที่ถูกกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ไม่ว่าจะเป็นของผู้อื่นหรือเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้ก็เข้าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้ การที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้น ทําให้โรงเรือนของผู้เสียหายไหม้หมดทั้งหลัง ย่อมเห็นได้ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นตามฟ้อง เมื่อ วัตถุใด ๆ ที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้เป็นโรงเรือนของผู้เสียหาย การกระทําของจําเลย จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๑๘ (๑) จึงชอบแล้ว

 

คําถาม จดทะเบียนโอนขายที่ดินโดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินดังกล่าวต่อมาจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีอํานาจฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากที่ดิน หรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๓๖/๒๕๖๖ จําเลยยินยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท ให้แก่ น. เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว น. ให้นําที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพักอาศัยไปจํานอง แก่ธนาคารเพื่อนําเงินมาใช้ในการลงทุน โดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง การทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน ระหว่างจําเลยกับ น. นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านย่อมตกเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕

โจทก์ทั้งสองรู้เห็นว่าจําเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับ น. โดยจําเลย เคยเตือนโจทก์ทั้งสองมิให้ทํานิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมบ้านซึ่งจําเลยยังพักอาศัย ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสองกลับทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจาก น. ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริตซึ่งต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวง โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๑๕๕ เมื่อการทําสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็น โมฆะกรรม น. ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอน ต่อจาก น. ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลย

 

คําถาม สัญญาจํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี แต่ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้อัตรา ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดังนี้ ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานองหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๓/๒๕๖๖ แม้สัญญาจํานองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับ โจทก์จะระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สามารถเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ ก็ตาม แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจาก อ. ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ (๑) มีผลทําให้ข้อตกลงในส่วนของดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องขอบังคับจํานองโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่ศาลเห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนดไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดอกเบี้ยตามสัญญาจํานองจึงตกเป็นโมฆะ แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ยังถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์นําคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ยังคงมีสิทธิบังคับจํานองโดยยึดทรัพย์จํานองออกขายทอดตลาดชําระหนี้ต้นเงินที่เหลือ พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันผิดนัดได้

หนังสือสัญญาจํานองที่ดินระบุว่า จํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ตกลงนําส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง โดยไม่ได้กําหนดเวลาชําระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทินไว้ โจทก์จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวกําหนดเวลาให้จําเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ชําระหนี้เสียก่อน หากจําเลยไม่ชําระภายในเวลาที่กําหนด จึงจะถือว่าจําเลยผิดนัด

โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจําเลยให้ชําระหนี้ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว จําเลยได้รับหนังสือบอกกล่าววันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จําเลยชอบที่จะชําระหนี้เพื่อไถ่ถอนจํานองภายในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แต่จําเลยไม่ชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าวจําเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าว

 

คําถาม หลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีแล้วโอนเข้าบัญชีบุคคลอื่น โดยไม่มี ข้อความว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้โดยมีพยานบุคคล เบิกความประกอบว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๐๖/๒๕๖๕ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสําคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐาน แห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุ อย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจําเลยนั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจําเลยเป็นเงินที่จําเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ จําเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอํานาจฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความเพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชี โจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้