เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: คำพิพากษาศาลฎีกา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาลักทรัพย์ของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558  จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาสำคัญผิดในคุณสมบัติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553 สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า อาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ในความเป็นจริงตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวโดยมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา เป็นการผิดเงื่อนไขในข้อจำนวนเนื้อที่ดินอันเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดซึ่งเป็นโมฆียะตามป.พ.พ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558   การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาคำมั่นจะให้เช่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552)

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552  แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก อีกทั้งการตกลงกันยกเลิกคำมั่นดังกล่าวก็หาใช่การที่จำเลยถอนคำมั่นเพียงฝ่ายเดียวอันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่
           แม้สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทน ข้อ 3 ท้ายสัญญาเช่าเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีกเท่านั้น จึงเป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าได้ และคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว ดังนั้นเมื่อคำมั่นจะให้เช่าไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

ฎีกาที่ดิน ส.ป.ก. (ฎีกาที่ 8222/2553 ,ฎีกาที่ 1417/2542)

ที่ดิน ส.ป.ก.
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553  พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2542 ก่อนทำสัญญาซื้อขายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโครงการกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วในวันนั้นเองโจทก์ก็ได้ไปยื่นคำขอทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาทต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอรับหนังสืออนุญาต ให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินอันอาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ดังเช่น ที่ดินมีโฉนด การที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครองและกำลังดำเนินการขอรับหนังสือ อนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีเจตนาให้จำเลยโอนการครอบครอง ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะสวมสิทธิของจำเลยไปดำเนินการขอออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินในนามของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างว่าการที่จำเลยไม่สามารถ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ได้เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย หาได้ไม่

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาข้อกำหนดในพินัยกรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558)

       ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น เป็นกรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558   ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
          แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 - 20112/2556 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน" จึงเห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน เมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รับว่า แชร์วงใหญ่ประกอบด้วยวงแชร์ 2 วง จำนวนสมาชิกวงละ 29 คน จึงมีจำนวนรวมกัน 58 คน เป็นจำนวนมากกว่า 30 คน และแชร์วงเล็กมีจำนวนวงละ 27 คน จึงมีจำนวน 54 คน อันเป็นจำนวนมากกว่า 30 คนเช่นกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2)

ฎีกาค่าฤชาธรรมเนียม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559)

ค่าฤชาธรรมเนียมแม้คู่ความไม่ขอมา ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งไว้ในคำพิพากษา
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 6,000 บาท แทนโจทก์ โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอื่น เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 (เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560  โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาทรัพย์ติดจำนอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558)

แม้ว่าทรัพย์จะติดจำนอง แต่ก็ไม่ตัดอำนาจแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่จะจำหน่าย จ่ายโอนได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558 ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9367/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9367/2559 ในการท้ากันนั้น โจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงให้จำเลยดื่มน้ำสาบานและรับศีลห้าด้วย การดื่มน้ำสาบานและรับศีลห้าจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำท้า ส่วนการที่จำเลยต้องกล่าวคำสาบานให้โจทก์หรือผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และผู้อำนวยการฯ ได้ยินด้วยนั้น เป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของคำท้า เมื่อปรากฏว่าจำเลยกล่าวคำสาบานโดยผู้อำนวยการฯ ได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยขณะอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 1 เมตร เมื่อผู้อำนวยการฯ แจ้งให้โจทก์เข้าไปใกล้จำเลยเพื่อจะได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลย ฝ่ายโจทก์กลับปฏิเสธว่าต้องการให้จำเลยพูดเสียงดังเพื่อให้ได้ยินทั่วกัน ถือว่าโจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทั่วไปได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยด้วย ซึ่งมิใช่เป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของคำท้า และก็ไม่ได้กำหนดให้จำเลยกล่าวสาบานผ่านเครื่องขยายเสียง อันจะแปลเจตนาของคำท้าได้ว่าจำเลยต้องกล่าวคำสาบานให้บุคคลทั่วไปได้ยิน โจทก์ย่อมสามารถเข้าไปใกล้จำเลยได้ แต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่เข้าไปใกล้เพื่อให้ได้ยินเสียงถ้อยคำสาบาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายเสียเปรียบกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขที่ฝ่ายโจทก์ต้องได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยด้วยนั้นไม่สำเร็จ ถือได้ว่าจำเลยสาบานตนตรงตามคำท้าครบถ้วน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560
ป.วิ.พ. ม.172 สอง
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.17, ม.25 (4)
          แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559

      สินไถ่ไม่ใช่การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ จึงกำหนดสินไถ่เกินกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงได้ ซึ่งถ้าหากเกินกำหนดร้อยละ 15 ผู้ไถ่ก็สามารถไถ่ได้ตามราคาที่ขายฝากโดยรวมประโยชน์ตอบแทนได้เพียงร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นแม้จะเรียกสินไถ่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่เป็นการขัดต่อ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่ทำให้เป็นโมฆะแต่อย่างใด
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559  น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560 คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรม คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่งแล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว จึงยังไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เจ้าของที่ดินที่แท้จริง กับ บุคคลภายนอกที่รับจำนองโดยสุจริต ใครมีสิทธิดีกว่ากัน ?

         คำถาม เจ้าของที่ดินที่แท้จริง กับ บุคคลภายนอกที่รับจำนองโดยสุจริต ใครมีสิทธิดีกว่ากัน ?
       คำตอบ แยกการพิจารณาศึกษาดังต่อไปนี้
       1. หนังสือมอบอำนาจที่มีการปลอมลายมือชื่อเจ้าของที่ดินลงในหนังสือมอบอำนาจ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตถือว่าเป็นการรับจำนองจากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน การจำนองไม่ผูกพันเจ้าของ เจ้าของที่ดินมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ฎ.3444/2559,5927/2548 
       ข้อสังเกต  เรื่องนี้ศาลฎีกาให้ผลแก่คดีแรง กล่าวคือนิติกรรมจำนองไม่ผูกพันเจ้าของที่แท้จริงเลยทีเดียว เพราะเหตุผลที่ว่าการปลอมลายมือชื่อเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม ปอ.มาตรา 264. วรรคสอง จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆที่กฎหมายจะรับรองคุ้มครองให้ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ตาม
       2. กรณีมีการลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดยที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเจ้าของที่ดินประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จริงอยู่เเม้การกรอกข้อความจะเป็นการกรอกที่ฝ่าฝืนความประสงค์ของเจ้าของที่ดินซึ่งถือว่าเป็นการปลอมเอกสาร ตาม ปอ.มาตรา 264 วรรคแรกก็ตาม แต่ขณะเดียวกันกฎหมายก็ต้องคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาจึงผ่อนปรนและออกหลักว่าหากบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตแล้ว เจ้าของที่ดินไม่อาจฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักที่ว่าสุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ฎีกากลุ่มนี้เช่นฎ.3009/2552,14285/2556,7906/2544
      3. เจ้าของที่ดินยินยอมให้ผู้อื่นมีชื่อในโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนต่อมาผู้มีชื่อแทนนำที่ดินไปจำนอง กรณีเช่นนี้ทำให้ผู้รับจำนองเข้าใจว่าผู้มีชื่อแทนเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงต้องคุ้มครองผู้รับจำนองโดยสุจริต และต้องถือว่าเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ ฎ.2026/2557
        4. เจ้าของที่ดินที่แท้จริงมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้ไว้ เมื่อมีการปลอมลายมือชื่อเจ้าของที่ดินมอบอำนาจให้ไปจำนอง กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเจ้าของที่ดินประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สัญญาจำนองไม่ผูกพันเจ้าของที่แท้จริง แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ตาม ฎ.14492/2556
  5. เจ้าของที่ดินต้องการนำที่ดินไปจำนอง จึงลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมามีการกรอกข้อความแล้วให้นำไปขายโดยเจ้าของไม่ยินยอม หลังจากนั้นก็มีการทำสัญญาขาย(ไม่ใช่จำนอง)ให้แก่บุคคลภายนอกผู้สุจริต กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้คืนที่ดินแก่เจ้าของที่แท้จริงไม่ว่าผู้ซื้อจะซื้อโดยสุจริตหรือไม่ ฎ.12058/2558

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 52927 ของโจทก์ และขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ของโจทก์ที่โจทก์เพิ่งซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินมาโดเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยอย่างไรและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย โดยโจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังกล่าวอีก เพราะถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา 146 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย
          เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อไป