เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งเนติ วิอาญา ข้อ2 สมัยที่71 ชุดที่1

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งเนติ วิอาญา ข้อ2 สมัยที่71 ชุดที่1

เก็งฎีกาเด่น เนติ วิอาญา ข้อ2 สมัยที่71 ชุดที่1

-------------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 442/2561  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม.

การยื่นคำร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดจากความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมิได้ประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำร้องของโจทก์ร่วมย่อมเป็นการไม่ชอบฎีกาของโจทก์ร่วมนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 (เดิม)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 1


 การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและการขอค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 30 และมาตรา 44/1

คำพิพากษาฎีกาที่ 1935/2561 โจทก์ร่วมสมัครใจวิวาทกับจำเลย โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญาได้ แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจได้นั้นหมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง มิใช่นำเอาความหมายของคำว่าผู้เสียหายในคดีอาญามาใช้บังคับ แม้โจทก์ร่วมจะไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ แต่ก็มีสิทธิเป็นผู้ร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

ผู้ร้องและจำเลยสมัครใจต่อสู้กันถือได้ว่าต่างฝ่ายต่างก่อให้เกิดความเสียหายด้วยกัน แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งมีวิถีกระสุนกระจายเป็นวงกว้างยิงไปทางผู้ร้องจนกระสุนปืนถูกผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ในขณะที่จำเลยไม่ถูกกระสุนปืนที่ร่างกายเลย ตามพฤติการณ์เป็นที่เห็นได้ว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่าฝ่ายผู้ร้อง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้ร้องกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3554/2561 แม้ตามคำฟ้องและทางพิจารณาคดีจะได้ความว่าการล่วงละเมิดทางเพศของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 นั้นเป็นไปโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงเรื่องพิจารณาตามองค์ประกอบในเรื่องอายุโดยกฎหมายได้คำนึงถึงการคุ้มครองความเป็นผู้เยาว์ของผู้เสียหายที่อายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งยังขาดวุฒิภาวะ ตลอดจนความรู้ และความเข้าใจในการดำรงชีวิต ซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิด หากล่วงรู้และทราบข้อเท็จจริงในองค์ประกอบเรื่องอายุในส่วนนี้ แล้วยังคงกระทำความผิด ก็จะอ้างถึงความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นเหตุปัดความรับผิดในเรื่องดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน กรณีย่อมถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุยังไม่เกิน 13 ปีนั้น แม้จะถูกจำเลยกระทำความผิดโดยยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุพิจารณาว่ามิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนั้น ผู้เสียหายที่ 1 โดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในส่วนความผิดที่ถูกจำเลยกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสามและมาตรา 279 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 โดย น. มารดาโจทก์ร่วมผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้ว และเมื่อเป็นโจทก์ร่วมก็ย่อมมีสิทธิในฐานะที่เป็นคู่ความในคดี จึงมีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาได้ ส่วนเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 นั้น เมื่อจำเลยได้ล่วงละเมิดในทางเพศต่อโจทก์ร่วมและล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลโจทก์ร่วมของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นยายซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโจทก์ร่วมอยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 แล้ว โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1


อ้างอิง : ฎีกาเด่น* ห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคค่ำ) อ.ธนรัตน์ ทั่งทอง 28 ธค 61 สัปดาห์ที่7 สมัยที่71 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น