เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ 8 ธ.ค 62 สมัยที่72

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ 8 ธ.ค 62 สมัยที่72

         


ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ  สมัยที่72
อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ วันที่ 8 ธ.ค 62 
------------


        ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน การนำพยานบุคคลเข้ามาสืบว่าเป็นตัวแทน ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสาร
        ฟ้องเรียกเอาอสังหาริมทรัพย์คืน ถ้าศาลพิพากษาให้ชนะคดี และศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยได้ไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5042/2561 (อ.เน้น***)
        จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ กรณีตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับมาตรา 798 แห่ง ป.พ.พ. การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการอันใด จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใดกรณีนี้โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ และการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลในความจริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นมิใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
            โจทก์ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีอำนาจพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) จึงไม่เป็นการที่ศาลพิพากษาเกินคำขอ



         คดีนี้ ศาลสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน ระหว่าง น. ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ผู้รับโอน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินต่อไปยังจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนการโอนแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง    

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561
            คดีก่อนโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทของ น. ที่โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบ ซึ่งผลของคำพิพากษาทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอน และ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องเพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อนซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว คดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ เพราะจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งได้สิทธิมาในภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
           คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีเดิม


แก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ ป.วิ.พ.มาตรา 180

คำพิพากษาฎีกาที่ 6951-6952/2560 
            จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้องเสียก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองสำนวนอ้างเหตุขาดอายุความ 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดหนี้ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในแต่ละคราว แต่ที่ขอแก้ไขคำให้การใหม่เป็นว่าค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระเกินระยะเวลาสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 หรือมาตรา 193/34 ซึ่งหมายถึงอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามลำดับ อันเป็นการเพิ่มเติมคำให้การขึ้นใหม่ แยกเป็นประเด็นตามเงื่อนไขของสองอนุมาตราดังกล่าว แม้จะอยู่ในประเด็นอายุความก็ตาม แต่วันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ก็ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการไว้ชัดเจน จำเลยย่อมทราบดี หากประสงค์จะต่อสู้ในประเด็นอายุความเรื่องใดก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่แรก แต่หาได้กระทำไม่ คงปล่อยให้ล่วงเลยเวลาจนพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามประเภทของหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการ ลักษณะเป็นการตั้งประเด็นเรื่องขาดอายุความขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับมิใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยและมิใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งประเด็นเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 แม้จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การมาแล้วครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โจทก์รับสำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับแล้วไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมในคำร้องฉบับแรก แล้วสั่งใหม่ว่ายกคำร้อง ส่วนคำร้องฉบับหลังสั่งว่าไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตครั้งแรกเป็นการไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิกถอนคำสั่งอันมิชอบได้ การที่โจทก์ไม่คัดค้านแล้วจะถือว่าเป็นการยอมรับหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่ ตราบใดที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลชอบที่จะสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้

            จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสำนวนแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามมาตรา 228 (3) จำเลยทั้งสองสำนวนจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์สำนวนละ 200 บาทรวม 400 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองสำนวนเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 600 บาทจึงเกินมา 200 บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งสองสำนวน


แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น