เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

 

        เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่  ๗๔

------------------------------


        ในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา ๖๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การคํานวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ   

       ตัวอย่าง

         วันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ นาย ก. ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นาย ข. ไปใน ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และมีการส่งมอบสินค้าในวันเดียวกัน กําหนดชําระราคาในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ ดังนี้ จะถือว่านาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในปีใด  

        นาย ก. เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ในปีภาษีใดถือว่าเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น ดังนั้น ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องใช้เกณฑ์เงินสด ในการรับรู้รายได้ นาย ก. ได้รับชําระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ จึงถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปีภาษี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น ปีภาษีที่ นาย ก. ได้รับชําระราคา  

        แต่ถ้า นาย ก. ได้รับเงินในปี ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ก็ต้องนําเงินที่ได้รับไปยื่นเสียภาษีในปี ๒๕๖๓ และในปี ๒๕๖๔ ตามลําดับ

        หากจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนจาก นาย ก. เป็น บริษัท A ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคํานวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ

         ดังนั้น ในกรณีของบริษัท A ต้องถือว่าบริษัท A มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้า คือในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๖๓ แม้ว่าในปี ๒๕๖๓ บริษัท A จะยังมิได้รับชําระราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม

        ในส่วนของค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการใช้สินค้า หรือใช้บริการจากบุคคลอื่นแล้วไม่ว่าจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม

        ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงิน ก็จะถือเป็นรายได้ค้างรับ และรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนํารายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคํานวณกําไรสุทธิด้วย


อ้างอิง กฎหมายภาษีอากร (อ.วิชัย จิตตาณิชย์) สมัยที่ ๗๔


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น