เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยที่ 74

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยที่ 74

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ สมัยที่ 74

วิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญ  

--------------------------------


ประเด็นที่น่าสนใจ

        กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ส่งไปไม่ใช่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี เพราะบทบัญญัตินั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีและไม่รับวินิจฉัย   

        คําสั่งศาล รธน.ที่ ๖๒/๒๕๖๒ เป็นกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ กล่าวหาว่า ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกในคลังสินค้าที่จําเลยทั้งสามใช้เป็นหลักประกันในการทําสัญญาทางธุรกิจกับบริษัทธนาคาร กรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายออกไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับหลักประกัน ไม่อาจบังคับหลักประกันเอากับจําเลยทั้งสามทั้งหมดหรือแต่บางส่วน อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘๖ มีโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

        จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และยื่นคําโต้แย้งต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ เพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีจําเลยทั้งสามโต้แย้ง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ว่า บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ดําเนินการทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ทางทะเบียน มีผลให้จําเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้หลักประกันไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขรายการจดทะเบียนหรือยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการดําเนินการทางทะเบียนที่คู่สัญญาสามารถยกขึ้นโต้แย้งในข้อพิพาททางแพ่ง แต่คําฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลยทั้งสามฐาน ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าหลายครั้งโดยไม่ได้รับความยินยอม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔๖ กรณีคําโต้แย้งของจําเลยทั้งสามดังกล่าวไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์จะใช้บังคับแก่คดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย

 

ข้อสังเกต

        พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ที่จําเลยทั้งสามขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน และการยกเลิกการจดทะเบียนที่ให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ไปดําเนินการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับการนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าโดยมิชอบ อันเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย


อ้างอิง วิชา กฏหมายรัฐธรรมนูญ (อ.อธิคม อินทุภูติ) สมัยที่ 74


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น