เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: เก็งแพ่ง
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งแพ่ง แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ ๖ ตั๋วเงิน สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑

 


เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ ๖ ตั๋วเงิน สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑


คำถาม การโอนตั๋วระบุชื่อในกรณีที่มีข้อกําหนดห้ามเปลี่ยนมือ หากตั๋วนั้นมีข้อกําหนดว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ และผู้รับเงินฝ่าฝืนคำสั่งโอนตั๋วนั้นให้ไปโดยวิธีสลักหลัง และส่งมอบ ถามว่าการกระทําเช่นนั้นเป็นการโอนที่ชอบหรือไม่

           คำตอบ ถือว่าเป็นการโอนที่ไม่ชอบ เมื่อการโอนนั้นไม่ชอบ ผลตามมาก็ถือว่าไม่มีผลเป็นการโอนตั๋วเงินสิทธิทั้งหลายตามตั๋วเงินก็ไม่โอนไปยังผู้รับโอนตามมาตรา ๙๒๐ และผู้รับโอนก็ไม่เป็นผู้ทรง เมื่อไม่เป็นผู้ทรงจะใช้สิทธิของผู้ทรงไม่ได้ คือเรียกให้ลูกหนี้ตามตั๋วเงินใช้เงินไม่ได้  

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๑๙/๒๕๓๓ วินิจฉัยว่า การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ ผู้สั่งจ่ายเขียนลงด้านหน้าว่าเปลี่ยนมือไม่ได้จะโอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลการ โอนสามัญตามมาตรา ๙๘๕, ๙๑๗ และ ๓๐๖ การโอนระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน ต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนนั้นมิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เมื่อปรากฏเพียงว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้เป็นผู้ออก ผู้โอนได้โอนให้เจ้าหนี้ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบ เท่านั้น การโอนดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ยังไม่เป็นผู้ทรง แม้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วผู้โอนจะได้ทําคำบอกกล่าวให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ทราบถึงการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ ก็หาทําให้เจ้าหนี้ กลับเป็นผู้ทรงโดยชอบไม่ ดังนี้เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชําระหนี้จากกองทรัพย์สินของ ลูกหนี้และไม่อาจนําหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไปหักกลบลบหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นลูกหนี้ได้

 

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



คำถาม ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญา หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่

.
คำตอบ
1. สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของผู้ค้ำประกัน
2. สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำกับผู้ให้กู้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600
3.เป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
 

มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และจะผ่อนชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยงวดแรกชำระภายในวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 2,854.80 บาท และจำเลยชำระงวดต่อไปภายในวันที่1ของทุกเดือน เดือนละ 2,800 บาท จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญารวม 20 งวด งวดสุดท้ายจะชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเงิน 3,115.52 บาท โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแรก หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือกระทำผิดระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์ทันทีโดยมิต้องรอให้การชำระหนี้รายนี้ถึงกำหนด และต้องใช้ค่าเสียหายต่าง ๆให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 2 และดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้และล่วงพ้นระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเพียง 14 งวด รวมเป็นเงิน 49,594 บาท อันเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วน โดยชำระงวดที่ 14 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ซึ่งมีจำนวนเงินไม่เพียงพอและไม่ตรงตามวันที่กำหนดในตารางกำหนดการชำระเงินท้ายสัญญากู้อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไปอีกเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ส่วนดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของดาบตำรวจพีระพลผู้ค้ำประกันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ปัญหานี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของดาบตำรวจพีระพลจึงยังไม่เกิด สัญญาค้ำประกันเป็นสิทธิเฉพาะของผู้ค้ำประกันไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่า ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของดาบตำรวจพีระพลไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ดาบตำรวจพีระพลทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของดาบตำรวจพีระพลผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
.
หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538 วินิจฉัยไว้ดังนี้
.
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากทางราชการให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของโจทก์และทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์โดยมี ก. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายลงในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาและยังไม่ผิดนัด จึงยังไม่มีหนี้ของ ก. ที่โจทก์จะเรียกให้รับผิดได้ สัญญาค้ำประกันของ ก. ที่ทำไว้ต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาท ก. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
.
มีข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 นั้น ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย

 

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ ข้อ ๘ ครอบครัว มรดก สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑

            

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิิชา กฎหมย แพ่ง ข้อ ๘  ครอบครัว มรดก สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑


                          คำถาม  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง โดยสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง พินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่

                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 11034/2553 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลาย เป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้


แนวการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแพ่งเนติฯ ⭐

1. บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ 

2. ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้

3.  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าว

4. ดังนั้น ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705  ทันที



วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เจาะประเด็น เก็ง ท่องพร้อมสอบเนติฯ : แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่ 77(ชุดที่ 1)

เจาะประเด็น เก็ง ท่องพร้อมสอบ

กลุ่มวิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่ 77 (ชุดที่ 1)


                   คำถาม  ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับ เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างตามที่ชนะการประมูล ถือว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้หรือไม่

                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                  คำพิพากษาฎีกาที่  7790/2554  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จำเลยที่ 1 ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างลานกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยได้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1  ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดส่งวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยกำหนดให้เริ่มทำงานภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2549 แจ้งอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย

                   คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินใช้บังคับได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ขณะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างลานกีฬาให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชนะการประมูลงานก่อสร้างลานกีฬาดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 จึงย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างตามแบบของทางราชการและเริ่มงานก่อสร้างกันเมื่อใด หาใช่สาระสำคัญไม่ เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความลงในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า “ ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว"  พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตราองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย ก็เพียงพอที่จะถือว่าองค์การบริหารส่วนตำรบเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า ขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้


เจาะหลักแนวการเขียนตอบข้อสอบเนติฯ (แพ่ง) ⭐

 1. แม้ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น  เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้าง ก็ตาม 

2.  แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้โอน ชนะการประมูลงานก่อสร้างดังกล่าว  จึงย่อมทำให้ผู้โอน ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303



https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Pang