เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: หลัก ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลัก ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕

            การจะนำคดีขึ้นสู่ศาลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ได้กำหนดให้บุคคลที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาล มี ๒ ประเภท คือ
๑. บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิ และ
๒. บุคคลที่ต้องใช้สิทธิในทางศาล
 
๑. กรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิ – เป็นคดีมีข้อพิพาท หมายถึง กรณีที่บุคคลฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิเหนือบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งบุคคลฝ่ายหลังปฏิเสธสิทธิของบุคคลฝ่ายแรก หรือกล่าวอ้างสิทธิใหม่ของตน การจะถือว่าโต้แย้งสิทธิได้นั้นไม่จำต้องเป็นการโต้แย้งสิทธิชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการขัดแย้งกันในประโยชน์ตามกฎหมายที่คู่ความยืนยันว่ามีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุน และไม่จำต้องมีวัตถุที่จับต้องได้ก่อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๕/๒๕๓๙ -  การฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จ ไม่เป็นความผิดเพราะการวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๕/๒๔๙๓ – การโต้แย้งสิทธินั้นจะต้องมีอยู่ในขณะนั้น ถ้ามีอยู่ก็ฟ้องได้ แม้ในระหว่างพิจารณา สิทธิของโจทก์จะระงับไปก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เสีย
 
ถ้าตามพฤติการณ์แห่งคดีหรือตามคำฟ้องหรือคำให้การ ปรากฏว่าจำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสิทธิในการฟ้องยังไม่เกิดขึ้น (มาตรา ๕๕) จึงนำคดีขึ้นฟ้องศาลไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒๓/๒๕๕๑ – แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพียงแต่โจทก์คิดว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิ ก็เรียกได้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว โจทก์ก็มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๕๗/๒๕๔๖ – ข และ ค แจ้งต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียนว่า ง เป็นบุตรของตน เจ้าหน้าที่จึงออกสูติบัตรให้ ก ฟ้องว่าตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ข และ ค แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียน การแจ้งข้อความเท็จไม่มีข้อความตอนใดพาดพิงถึงโจทก์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
 
การจะนำคดีมาสู่ศาล ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจะต้องพิจารณากฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยว่ากำหนดขั้นตอนไว้หรือไม่ ถ้ามีต้องทำการขั้นตอนนั้นก่อน มิฉะนั้นจะไม่มีอำนาจนำคดีมาสู่ศาล เช่น กรณีฟ้องเรียกเงินปันผล แต่ยังไม่ได้ชำระบัญชีกัน (ฎีกา ๓๕๓๐/๒๕๓๗) โจทก์ไม่อุทธรณ์การประเมินก่อนเพิกถอนการประเมิน (ฎีกา ๑๒๖๒/๒๕๒๐)
 
เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิมีสิทธิ (ฎีกา ๗๔๘/๒๕๔๗) นำคดีขึ้นสู่ศาลได้โดยเลือกที่จะฟ้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าจะฟ้องก็ทำคำฟ้องเสนอต่อศาลชั้นต้น ฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิของตนเป็นจำเลยและตนเองก็เป็นโจทก์ เรียกว่า เป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในเวลายื่นฟ้องตามทุนทรัพย์
 
การฟ้องศาลต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย หากฟ้องทำให้อีกฝ่ายเสียหายโดยมิชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา ๔๒๐ – ๔๒๑
 
 
๒. เมื่อบุคคลจะใช้สิทธิทางศาล – บุคคลนั้นมีสิทธิอยู่แล้วตามกฎหมายและจำต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ หรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ บุคคลนั้นต้องขออนุญาตหรือให้ศาลแสดงหรือรับรองสิทธิของตนเสียก่อน กรณีนี้จัดเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ผู้ที่จะมาร้องในกรณีนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนให้ผู้ร้องนั้นร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เช่น การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก(ฎีกา ๘๖๒-๘๖๔/๒๕๒๕) การร้องขอสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่า (ฎีกา ๑๑๓๒/๒๔๙๕) การร้องขอกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกรณีครอบครองปรปักษ์(ฎีกา ๑๑๕๐/๒๕๑๗)
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๙/๒๕๒๗ – การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องไม่จำต้องเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ในขณะยื่นคำร้อง แต่ผู้ร้องจะต้องได้สิทธิมาก่อนนั้นเรียบร้อยแล้ว
 
มาตรา ๕๕ มิได้กำหนดให้การใช้สิทธิทางศาลต้องมีกฎหมายกำหนด การขอให้ศาลแสดงสิทธิโดยไม่มีกฎหมายบอกให้ไปใช้สิทธิก็น่าจะทำได้ แต่จะทำให้คดีขึ้นสู่ศาลมากเกินควร เช่น การจะจดทะเบียนรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและบุตร เมื่อทั้งคู่ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ (ฎีกา ๒๔๗๓/๒๕๔๕)
 
การใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพราะไม่มีจำเลย ผู้ร้องต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยยื่น “คำร้องขอ” ต่อศาลโดยเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ ๒๐๐ บาท แต่หากมีผู้ร้องคัดค้าน ศาลต้องดำเนินคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท โดยถือว่า ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยและให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อไป
 
 
๓. สิทธิของบุคคลในการดำเนินคดี – สิทธิที่จะดำเนินคดีทางศาล มีได้แต่เฉพาะบุคคลเท่านั้นซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ผู้ที่ไม่ใช่บุคคลจะฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้ เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าถึงไม่ใช่บุคคลก็สามารถฟ้องได้ เช่น กองมรดก ตำแหน่งหน้าที่ราชการ นิติบุคคลนั้นต้องฟ้องในชื่อของนิติบุคคล มิใช่ผู้กระทำการแทนนิติบุคคล (ฎีกา ๗๓๔/๒๕๐๒) สุเหร่าของอิสลามไม่เป็นนิติบุคคล จะฟ้องไม่ได้ (ฎีกา ๖๒๔/๒๔๙๐) แต่มัสยิดอิสลามที่ก่อตั้งขึ้นแล้วถือเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม มีอำนาจตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้
                ๓.๑ ใช้ตำแหน่งราชการดำเนินคดี – หมายถึงคนธรรมดาเพราะเป็นคนจึงมีสิทธิครอบครองสถานภาพนั้นได้ เมื่อเป็นบุคคลจึงฟ้องหรือถูกฟ้องได้ แม้ว่าบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้นได้ย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว คำฟ้องนั้นก็ยังคงอยู่ สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนที่ต่อไปได้ แต่การฟ้องคดีจะนำตำแหน่งหน้าที่มาฟ้องไม่ได้เสมอไป ต้องมีกฎหมายบัญญัติอำนาจไว้เป็นกรณีพิเศษ
                คำพิพากษาฎีกา ๗๗๒/๒๕๐๓ – แม้ปลัดจะเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมเป็นบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด
 
รัฐบาลไม่ถือเป็นนิติบุคคล (ฎีกา ๗๒๔/๒๔๙๐) กระทรวงกลาโหมถือเป็นนิติบุคคล แต่กรมข่าวทหาร กรมยุทธการทหาร กรมพระธรรมนูญ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
 
จังหวัด เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบลเป็นนิติบุคคล ส่วนอำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
กรณีฟ้องผู้ที่ไม่ใช่บุคคล อาจถูกยกฟ้องได้ เพราะถือว่าไม่มีคู่ความที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องได้ และคู่ความไม่สามารถทำการโต้แย้งสิทธิได้
                ๓.๒ ผู้ไร้ความสามารถดำเนินคดี – บุคคลผู้ฟ้องคดีหรือดำเนินคดีต้องมีความสามารถในการฟ้องด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลผู้ไม่มีความสามารถจะเป็นโจทก์ไม่ได้ กรณีผู้ไร้ความสามารถฟ้องคดีต่อศาล จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะเข้าดำเนินคดีแทนเสียเองก็ได้
                คำพิพากษาฎีกา ๖๒๓/๒๕๑๙ – โจทก์เป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม โจทสามารถฟ้องศาลต่อได้ เพียงแต่การฟ้องนั้นบกพร่องเรื่องความสามารถ สามารถแก้ไขได้ตามมาตรา ๕๖ แต่หากในชั้นฎีกา โจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่จำต้องแก้ไข
ผู้ไร้ความสามารถ ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาล ตัวความหรือคู่ความฝ่ายตรงข้ามอาจร้องขอให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา ๕๖ ได้
กรณีผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จะเข้าฟ้องหรือดำเนินคดีแทนไม่ได้ ผู้พิทักษ์มีอำนาจเพียงแต่ให้ความยินยอมเท่านั้น ผู้เสมือนไร้ความสามารถต้องทำนิติกรรมหรือดำเนินคดีเอง หากผู้พิทักษ์จะดำเนินคดีต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้เสมือนไร้ความสามารถเสียก่อน
การตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ใช้ได้ทั้งผู้เยาว์และคนวิกลจริต หากไม่มีผู้แทนหรือมีผู้แทนแต่ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ผู้ไร้ความสามารถก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาล ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้อนุญาตหรือให้ความยินยอมตามที่ขอมา หรือตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ ในกรณีมีผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ไม่ให้ความยินยอมหรืออนุญาตหรือไม่เข้าดำเนินคดีแทน ศาลจะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ (มาตรา ๕๖ วรรคท้าย) ศาลต้องรอคดีไว้แล้วแจ้งอัยการ หรือญาติของผู้เยาว์ให้ร้องขอถอนอำนาจผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
กรณีไร้ความสามารถระหว่างดำเนินคดี ศาลอาจสั่งสอบสวนความสามารถหรือคู่ความอีกฝ่ายอาจร้องขอหรือตัวผู้ไร้ความสามารถอาจร้องขอโดยทำเป็นคำร้อง และศาลจะสั่งแก้ไขภายในระยะเวลาอันสมควรที่พิจารณาสั่ง แต่ห้ามพิพากษาจนกว่าจะได้แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว
                คำพิพากษาฎีกา ๘๐๒/๒๔๙๖ , ๓๕๒/๒๔๙๓ , ๑๖๐๘/๒๕๐๙ – หากมีการยื่นหนังสือให้คำอนุญาตหรือให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมภายหลังจากยื่นคำฟ้องแล้ว ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถในการดำเนินคดี
กรณีมีผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถและศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนพิพากษาโดยมิได้สั่งแก้ไขข้อบกพร่อง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้แยกคดีที่จำเลยเป็นผู้เยาว์ออกเป็นคดีหนึ่งต่างหากและให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องได้ (ฎีกา ๑๕๒๔/๒๕๐๘)
ตามมาตรา ๕๖ ศาลใช้รวมถึงการบกพร่องในเรื่องความสามารถอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น