เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: บทบรรณาธิการ คำบรรยายเนติบัณฑิต สมัยที่71 เล่มที่1

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บทบรรณาธิการ คำบรรยายเนติบัณฑิต สมัยที่71 เล่มที่1


บทบรรณาธิการ

        คำถาม วางแผนให้ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยไม่ฝีเจตนาผูกพันตามสัญญาเพื่อ ให้ได้รถจักรยานยนต์ไปจะเป็นความผิดฐานใด
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๐๘/๒๕๖๐ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้วางแผนและมอบเงินให้จำเลยที่ ๑ ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จากโจทก์ร่วม โดยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ เพียงแต่อาศัยการหลอกลวง โจทก์ร่วมว่าจะปฏิบัติตามสัญญาเพื่อเป็นช่องทางให้ได้รถจักรยานยนต์ไป ครั้นได้รถจักรยานยนต์มาแล้ว จำเลยที่ ๒ นำรถจักรยานยนต์ไปและให้เงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ ๑ ดังนี้เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ประกอบมาตรา ๘๓

        คำถาม ผู้เสียหายมอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยวางแผนให้พวกจำเลยมาแย่งเอาเงินไปในระหว่างเดินทางไปธนาคาร เป็นความผิดฐานใด?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๑๑๖/๒๕๖๐ ผู้เสียหายประกอบกิจการร้าน ซ. จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหายฝีหน้าที่ดูแล กิจการในร้าน ซ. และนำเงินรายได้ของร้านไปฝากธนาคารโดยเมื่อพนักงานของร้านขายสินค้า ได้แล้วจะนำเงินที่ได้รับจากลูกค้าใส่ซองหย่อนลงไปในตู้นิรภัยของร้าน ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือ กุญแจตู้นิรภัยเพียงคนเดียวและไม่มีสิทธินำเงินรายได้ดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา ของทุกวัน จำเลยต้องนำกุญแจไปไขตู้นิรภัยนำ เงินรายได้ของร้านออกมา แล้วไปตรวจนับต่อหน้า ส. และ ท. เมื่อทราบจำนวนเงินรายได้แล้ว ส. จะเขียนใบนำฝากเงิน และมอบสมุดบัญชีของตนเองให้จำเลย จากนั้นจำเลยจะขับรถยนต์นำเงินพร้อมสมุดบัญชี และใบนำฝากไปฝากเงินที่ธนาคาร วันรุ่งขึ้นจำเลยต้องนำใบรับฝากเงินที่ฝีตราประทับจากธนาคารส่งคืนให้แก่ผู้เสียหายเพื่อตรวจสอบยอดเงินที่นำไปฝากธนาคารว่าครบถ้วนหรือไม่ วันเกิดเหตุ   ธ.   บุตรของ   ท.  ได้ร่วมตรวจนับเงินกับจำเลยแล้วมอบเงินจำนวน   ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยนำไปฝากธนาคาร หลังจากนั้นจำเลยร่วมกับพวกเอาเงินนั้นไป การที่จำเลยใช้กุญแจไขตู้นิรภัยนำเงินรายได้ของร้าน ซ. ออกมาแล้วนำไปตรวจนับต่อหน้า ส. และ ท. เป็นเพียงการทำงานในหน้าที่ดูแลเงินชั่วคราวเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายได้มอบการครอบครองเงินให้แก่จำเลยโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ ขณะนั้นจำเลยจึงไม่ใช่ผู้ครอบครองเงินของผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยเอาเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายไปหลังจากที่ผู้เสียหายตรวจสอบแล้วมอบให้จำเลยนำไปฝากเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคาร กรณีจึงถือได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย แล้วเพราะจำเลยต้องถือและรักษาเงินจำนวนนั้นจนกระทั่งนำไปฝากเข้าบัญชีของผู้เสียหาย ที่ธนาคารให้เรียบร้อย การที่จำเลยวางแผนให้พวกจำเลยมาแย่งเอาเงินไปในระหว่างเดินทางไปธนาคารจึงเป็นความผิดฐานยักยอก เมื่อความผิดฐานดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ และผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒)

        คำถาม ซื้อที่ดินมือเปล่าแล้วผู้ซื้อเข้าครอบครองที่ดิน ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ดังนี้ ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินเริ่มนับเมื่อใด และผู้ซื้อจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังผู้ขายหรือไม่?
        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๗๖/๒๕๖๐ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๘๔๒ จาก ย. เมื่อปี ๒๕๓๖ และเข้าครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ แต่เนื่องจาก ขณะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๘๔๒ ยังเป็นที่ดินมือเปล่าที่บุคคลมีสิทธิครอบครอง จึงย่อมโอนกันได้โดยเพียงส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๘ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตามที่จำเลย ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาแต่เป็นผลให้จำเลยมีได้เพียงสิทธิครอบครองและไม่อาจอ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นซึ่งมีกรรมสิทธิ์ได้ เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๘๔๒ ได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน จำเลยยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลง ดังกล่าวโดยความสงบ และโดย เปิดเผยด้วย เจตนาเป็นเจ้าของ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และเมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนตามป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๑ จึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขายที่ดินพิพาท ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยจึงได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒

        คำถาม การนับระยะเวลา ๑ เดือน ในการฟ้องขอให้เพิกถอนการประชุมและการลงมติในการประชุมบริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีหลักเกณฑ์ในการนับระยะเวลาอย่างไร และจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้แก่กรณีดังกล่าวได้หรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๔/๒๕๖๐ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ซึ่งประชุมในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นั้นเป็นการฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๑ เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๕ หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ของจำเลยที่ ๔ กระทำลงในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ การนับระยะเวลา ๑ เดือน ในการที่โจทก์ทังสองฟ้องขอให้เพิกถอน การประชุมและการลงมติดังกล่าวจะต้องนับระยะเวลา ๓๐ วัน เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้ เพิกถอนการประชุมและมติการประชุมในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ยังอยู่ในกำหนด ๓๐ วันนั้น
        เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๕ ได้บัญญัติไว้ โดยชัดเจนว่าการร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ร้องต่อศาลภายใน ๑ เดือนนับแต่วันลงมตินั้น การนับระยะเวลา ๑ เดือนดังกล่าวตามมาตรา ๑๙๓/๓ วรรคสอง ต้องเริ่มนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกโดยเริ่มนับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ส่วนระยะเวลาสิ้นสุดตามมาตรา ๑๙๓/๕ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้น แห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสินสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ซึ่งหมายความว่าการ นับระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ของจำเลยที่ ๔ ในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ภายในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๖ การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ จึงเป็นการฟ้องเมื่อพ้น กำหนดระยะเวลา ๑ เดือน ตามมาตรา ๑๑๙๕ เช่นนี้โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
        ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๖ โจทก์ทั้งสองและ จำเลยที่ ๔ เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นคดีขอเพิกถอนมติที่ประชุมและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๑๙๓/๑๔ การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า กำหนดเวลาฟ้องหรือร้องขอเพิกถอนมติ ที่ประชุมตามมาตรา ๑๑๙๕ เป็นบทบัญญัติพิเศษตามกฎหมายเฉพาะมีใช่อายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในเรื่องอายุความรวมถึงอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้

        คำถาม ผู้ถือหุ้นของบริษัทลงมติให้สัตยาบันสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ที่ตนเองนำมาฟ้องให้บริษัทใช้หนี้แก่ตน การออกเสียงลงมติชอบหรือไม่?       
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๖๒/๒๕๖๐ บริษัท บ. เป็นหนี้กู้ยืมเพื่อช่วยเหลือให้มีเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการแก่จำเลยที่ ๑ จริง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้หรือเรียกร้องให้บริษัท บ. ชำระหนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ลงมติให้สัตยาบันสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ที่จำเลยที่ ๑ นำมาฟ้องให้บริษัท บ. ใช้หนี้แก่ตน จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในมติข้อดังกล่าว เพราะแม้ไม่มีมติจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ชอบที่จะได้รับชำระหนี้ หรือเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ การออกเสียงลงมติของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ถือว่ากระทำได้โดยชอบไม่ขัดต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘๕
        การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้ประชุมขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณา ข้อพิพาทที่โจทก์ใช้สิทธิซื้อหุ้นของจำเลยที่ ๑ เพื่อให้หุ้นของโจทก์และจำเลยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากันตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้และยังไม่มีการโอนหุ้นของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์ โจทก์ยังไม่มีสิทธิในหุ้นของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยังคงมีสิทธิลงคะแนนเสียงหรือใช้สิทธิในหุ้นของตนในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้

นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น