เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: สรุปฎีกาเนติฯ 1/71 กฎหมายแรงงาน ภาคคค่ำ (อ.อิสราฯ) 23 พ.ค 61 ครั้งที่ 1

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สรุปฎีกาเนติฯ 1/71 กฎหมายแรงงาน ภาคคค่ำ (อ.อิสราฯ) 23 พ.ค 61 ครั้งที่ 1


สรุปฎีกาเนติฯ 1/71 คำบรรยายเนติฯ กฎหมายแรงงาน ภาคคค่ำ (อ.อิสราฯ) 23 พ.ค 61 ครั้งที่ 1


.................................
                
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2559 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้ นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่จะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานเนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้จะมิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ของบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม นอกจากนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในคราวเดียวกันด้วยถึง 6 คน และรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมนัดหยุดงานจำนวน 2 คน เข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือเพราะไปร่วมนัดหยุดงาน การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในการบริหารงานบุคคล มิได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าว


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2546 บริษัทจำเลยมีคำสั่งให้ลูกจ้างรวมถึงโจทก์ทั้งเก้าสิบหกหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ไม่มาทำงานร้อยละห้าสิบของค่าจ้างปกติ ต่อมาตัวแทนโจทก์ทั้งเก้าสิบหกได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการออกคำสั่งดังกล่าวต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนแก่โจทก์ลูกจ้างที่ให้หยุดงานชั่วคราว จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง แต่จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน แต่การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยผู้เป็นนายจ้างหาชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ไม่ เนื่องจากตามบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้นายจ้างซึ่งไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน เมื่อจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม ทั้งมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 3 กรณีดังกล่าวจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2539 ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46กำหนดบทนิยามคำว่าการเลิกจ้างไว้เพื่อให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้นมิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัวส่วนจะมีความผิดทางอาญาตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515หรือไม่นั้นต้องพิเคราะห์ถึงเจตนาของจำเลยว่าได้กระทำไปโดยมีเจตนาไล่ผู้เสียหายออกจากงานและมีเจตนาไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายในฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18660/2557 เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ผู้ใดจะวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมาทำนองเดียวกับเงินเดือน ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพเกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะหรือจ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใด ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 ซึ่งต้องนำไปคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา แม้จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ให้นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 61 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2541 เดิมโจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาตลาดเงินทุน มีหน้าที่ดูแลลูกค้าเงินฝากของจำเลย หลังจากโจทก์เกษียณอายุการทำงาน จำเลยได้ทำสัญญาจ้าง ให้โจทก์ทำงานอีก 1 ปีในหน้าที่เดิม ดังนั้น งานที่โจทก์ทำก่อนเกษียณก็ดี หลังเกษียณก็ดีเป็นงานในลักษณะเดียวกันในธุรกิจเดิมของจำเลย เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลย จึงมิใช่งานอันมี ลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน อันจะเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ ที่โจทก์กับจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาการว่าจ้างโดยกำหนดว่าผู้รับจ้างขอให้สัญญาว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลา และ/หรือ ผู้รับจ้างถูกเลิกสัญญาผู้รับจ้างไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าชดเชย จากบริษัททั้งสิ้นนั้น เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3206/2533 ข้อความที่ว่า "ไม่รวมถึง ลูกจ้างซึ่ง ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน"ตาม บทนิยามคำว่า "ลูกจ้าง" ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น เป็นข้อยกเว้น ต้องตี ความโดย เคร่งครัดดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงหมายถึง ลูกจ้างที่ทำงานเฉพาะ ที่เป็นงานบ้านอย่างเดียวเท่านั้น โดย งานบ้านนั้นจะต้อง มิได้มีลักษณะการประกอบธุรกิจอื่นใด รวมอยู่ด้วย จำเลยเป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับทำกรอบรูปส่งขายต่าง ประเทศ มีลูกจ้างประมาณ 100 คน และ ล. เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลย จำเลยได้จ้าง โจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่ง แม่บ้านมีหน้าที่ซักรีด ทำอาหาร และทำความสะอาดในบ้านพักของ ล. ดังนี้แม้สภาพงานที่โจทก์ทำจะเป็นงานบ้านก็ตาม แต่ งานบ้านดังกล่าวจำเลยได้ จัดเป็นสวัสดิการให้แก่ ล. ซึ่ง เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเอง งานบ้านที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยรวมอยู่ด้วย ถือ ไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่ง ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน โจทก์จึงได้ รับความคุ้มครองตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าจ้างส่วนที่จำเลยจ่ายต่ำ กว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรวมทั้งดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม.

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2522 งานทำความสะอาดร้านตัดผมและเก็บเงินจากลูกค้าที่ ล.ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างนั้น เป็นงานเกี่ยวกับร้านตัดผมที่จำเลยประกอบกิจการอยู่ โดยเฉพาะหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าที่มาตัดผม ย่อมเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวกับงานบ้าน กรณีถือไม่ได้ว่า ล. เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ล. จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2559 การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาบังคับใช้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย
                การจัดตั้งกิจการของจำเลยที่ 1 มีที่มาจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หมวด 7 องค์กรเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนที่ 2 สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ที่บัญญัติให้บริษัทหลักทรัพย์รวมกันจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันได้ โดยต้องมีข้อบังคับ ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้นำ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ การควบคุม การเลิก และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 หมวด 3 การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า มาตรา 22 (1) บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่สมาคมการค้า มาตรา 23 บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้าแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก และมาตรา 4 ให้นิยาม "ผู้ประกอบวิสาหกิจ" หมายความว่าบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจทางการค้า อุตสาหกรรมหรือการเงิน และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจอื่นในทางเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดในกฎกระทรวง การฝ่าฝืนมีโทษปรับตามมาตรา 48 แสดงว่าตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ประกอบ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 กำหนดให้กิจการสมาคมเช่นจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น กล่าวคือไม่สามารถแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก
                ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 กำหนดวัตถุประสงค์ตาม (1) ถึง (8) ไม่ปรากฏว่าได้ระบุวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไว้ ส่วนวัตถุประสงค์ตาม (2) ที่ว่าส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ มีความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ซึ่งไม่ได้กำหนดเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ 6 มุ่งเน้นควบคุมดูแลจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ส่วนข้อ 10 ข้อ 116 ถึงข้อ 118 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าโอนสิทธิ ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่ายื่นคำขอขึ้นทะเบียนข้อมูลตราสารหนี้ได้ก็เพื่อหารายได้ดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อใดที่กำหนดให้นำรายได้ไปแบ่งปันเป็นผลกำไรแก่สมาชิกหรือผู้ใด ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินรายได้สนับสนุนจากกระทรวงการคลังซึ่งใช้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้น และรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายไม่มีการแบ่งให้แก่สมาชิกของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจซึ่งมิให้นำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาใช้บังคับตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

            คำวินิจฉัยฯ ที่ 91/2557 คดีที่ลูกจ้างยื่นฟ้องสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)นายจ้างว่า ได้ออกประกาศกำหนดโครงสร้างองค์กรใหม่จัดแบ่งส่วนงานมีผลให้ยุบเลิกตำแหน่งและมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานหรือขอให้รับกลับเข้าทำงานโดยได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิมและขอให้จ่ายค่าชดเชยกับค่าเสียหายอื่น ๆ ผู้ถูกฟ้องให้การว่า การปรับโครงสร้างองค์กรเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้ออกระเบียบ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอันเป็นประโยชน์ตอบแทนสำหรับการเลิกจ้าง จึงไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนมาใช้บังคับนั้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างไม่เป็นการจ้างแรงงานไม่ การที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)  (แหล่งที่มา: ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ)


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2531 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522มาตรา 8(1)(2)และ(5)แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนโดยโดยไม่มีความผิด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้วให้บังคับจำเลยขึ้นเงินเดือนตามสิทธิ คำฟ้องและคำขอที่เรียกเงินเดือนดังกล่าวไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างโดยตรง จะปรับใช้อายุความว่าด้วยการเรียกเงินจ้างอันมีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) ไม่ได้ การที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างประการใดได้ก็ต่อเมื่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำว่าเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ นายจ้างจะถือเอาการปฎิบัติอันเป็นประเพณีมาลงโทษลูกจ้างมิได้ การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ลูกจ้างเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายจ้าง อำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินกิจการที่นายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง การพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง หาใช่สิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่

..........

หมายเหตุ อยู่ระหว่างถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น เนติฯ แพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* สมัยที่ 71 ที่ LawSiam.com
https://www.lawsiam.com/?file=Thai-Labour-Protection-Act (กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น