เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: เก็งเนติ ภาค1 กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เก็งเนติ ภาค1 กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77

 

เก็งเนติ ภาค1 กลุ่มอาญา สมัยที่ 77

 ข้อ 2-3 


กระทำโดย “ประมาท” (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่) + การกระทำโดยงดเว้น

กรณีที่เป็นการกระทำโดย “ประมาท” (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่) เช่น มาตรา ๓๐๐ ธงคำตอบ เนติฯ สมัย ๗๒ ข้อ ๓ มีข้อความ ดังนี้

นางสาวหนึ่งและนางสาวสองรับหน้าที่เป็นคนดูแลเด็กหญิงมะลิ จึงมีหน้าที่ โดยเฉพาะที่จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กหญิงมะลิได้รับอันตราย การร่วมกันเล่มเกมทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทำให้เด็กหญิงมะลิคลานไปตกท่อนํ้าข้างสนามหญ้าได้รับอันตรายสาหัส เป็นการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้อง กระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคท้าย เมื่อเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคล ในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ ทั้งสองคนจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามมาตรา ๓๐๐ โดยถือว่าต่างคนต่างประมาท มิได้เป็นตัวการร่วมกัน เพราะมิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา

หลักเกณฑ์ที่สําคัญของการกระทำโดยงดเว้น คือ ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำและหน้าที่นั้นจะต้องเป็นหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องกระทำาเพื่อป้องกันมิให้เกิดผล ซึ่งเกิดขึ้นนั้น


ข้อสังเกต เวลาตอบข้อสอบ* อย่าตอบว่า ผิดฐานงดเว้น


ประเด็นที่น่าสนใจ

บิดาเห็นบุตรผู้เยาว์ของตนกําลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น บิดาสามารถห้ามปรามและ “ลงโทษ” บุตรผู้เยาว์ของตนได้ แต่ไม่สนใจใยดี (เน้น*)

ในกรณีเช่นนี้ หากบุตรผู้เยาว์มีความผิด เช่น มาตรา ๒๙๕ ก็อาจต้องถือว่า บิดาผิดฐานทำร้ายร่างกายบุคคลที่สามด้วย (ถ้าบิดา “เจตนา” ก็ผิดมาตรา ๒๙๕ ถ้า “ประมาท” ก็ผิดมาตรา ๓๙๐) เพราะ “งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

 ข้อสังเกต

๑.) “ผล” ตามมาตรา ๒๙๕ และมาตรา ๓๙๐ คือ “อันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น”

๒.) “จักต้อง กระทำ” หมายความว่า “มีหน้าที่ต้องห้ามปราม” เพราะ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๗ (๒) ให้อํานาจบิดา “ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน”

 ดังนั้น เมื่อบิดาไม่สนใจ ใยดีห้ามปรามและลงโทษบุตรผู้เยาว์ของตน ปล่อยให้ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อหน้าต่อตา บิดาก็ผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย แต่เมื่อบิดาไม่มี “เจตนา” ก็ไม่ผิด มาตรา ๒๙๕ แต่อาจถือว่า “ประมาท” และผิดมาตรา ๓๙๐ ได้


https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Aya



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น