เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: ถอดเทปแพ่ง 1/71
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดเทปแพ่ง 1/71 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถอดเทปแพ่ง 1/71 แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ถอดเทปวิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (อ.ปัญญา ถนอมรอด) (ภาคปกติ) 21 พ.ค 61 ครั้งที่1 สมัยที่ 71


   ถอดเทป วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ 
อ.ปัญญา ถนอมรอด (ภาคปกติ) 21 พ.ค 61 ครั้งที่1 สมัยที่ 71


อยู่ระหว่างถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น แพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* สมัยที่ 71

                                              ..........

 ผมเป็นผู้ได้มอบหมายให้เป็นผู้บรรยายคนแรกขอต้อนรับด้วยความยินดี ในปี ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ มีการแก้ไขกฎหมายค้ำประกันและจำนองให้แตกต่างจากเดิม แนวคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องใช้ไม่ได้แล้ว บางเรื่องใช้ได้เพียงบางส่วน จึงเป็นเรื่องที่ท่านต้องศึกษาเพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาจารย์จะบรรยายให้ทราบว่าตรงไหนใช้ได้ หรือตรงไหนใช้ไม่ได้แล้ว

ยืม
        ยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดไว้เป็นเอกเทศสัญญาโดยบัญญัติไว้ในบรรพ ๓

หลักพิจารณา
๑. เจตนาของคู่สัญญา
        สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย เกิดขึ้นโดยการ แสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เมื่อเป็นนิติกรรมก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ ของมาตรา ๑๔๙ ที่ว่า “มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล”
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๒๙ โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๔๐ และมาตรา๖๕๐ ลักษณะ ๙ เรื่องยืมเป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่การที่โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเองรูปเรื่องจึงปรับเข้าด้วยลักษณะ๙เรื่องยืมแห่งบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงผูกพันกันในลักษณะอื่นโดยเฉพาะต้องพิจารณาเจตนารมณ์ระหว่างคู่กรณีมุ่งผูกพันกันแค่ไหนอย่างไรการที่จำเลยลงชื่อในใบยืมเงินทดรองของโจทก์นั้นได้กระทำไปโดยตำแน่งหน้าที่ของจำเลยในฐานะพนักงานของโจทก์ในขอบเขตแห่งหน้าที่ของตนตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ที่วางไว้เพื่อใช้ดำเนินงานของโจทก์โดยมอบให้ จ.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปดำเนินการต่อไปเพื่อให้งานของโจทก์ดำเนินไปโดยเรียบร้อยแม้จะมีข้อบังคับให้ผู้ยืมต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องพร้อมทั้งเงินที่เหลือจ่ายส่งใช้แก่โจทก์ตามกำหนดก็เป็นเรื่องกำหนดความรับผิดชอบของผู้ยืมไว้เป็นการเฉพาะเป็นหลักปฏิบัติงานในหน่วยงานของโจทก์เมื่อจำเลยมิได้อยู่ในฐานะของผู้ยืมตามกฎหมายแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินรายพิพาทแก่โจทก์


         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๑๔/๒๕๕๑ จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติโจทก์ และได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา การที่จำเลยขอยืมจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การทำสัญญาการยืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลย จึงมิใช่เป็นการยืมตามลักษณะ ๙ แห่ง ป.พ.พ. และไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ ๙ มาใช้บังคับในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๔๖/๒๕๓๘ โจทก์ยืมเงินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นกรณีที่โจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการและเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้นหาใช่ทำในฐานะส่วนตัวไม่การคืนเงินยืมดังกล่าวก็เพียงแต่นำใบสำคัญที่คณะกรรมการจ่ายเงินได้จ่ายไปนำไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดินแล้วนำไปชำระแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหาจำต้องนำเงินส่วนตัวมาชำระคืนไม่โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา๖๕๐เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ยืมเงินโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อกันหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์จึงไม่มีผลบังคับ

       
๒. ความสามารถในการทำนิติกรรม
        ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล นิติบุคคลต้องผูกพันและรับผิดตามนิติกรรมนั้น สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจการค้าจำเป็นจะต้องมีเงินทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ ดังนั้น การที่ผู้แทนของนิติบุคคลกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพื่อใช้ในกิจการของนิติบุคคลนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น (ฎีกาที่ ๓๕๙๖/๒๕๒๕ และ ๕๐๐๒/๒๕๔๐)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๙๖/๒๕๒๕ การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์มาใช้ในกิจการค้าของจำเลยที่ ๑ หาเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ไม่
        การที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กู้ และรับเงินจากโจทก์ไปต่างกับฟ้องที่ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กู้ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติ และตามอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยยอมรับว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กู้เงินโจทก์แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหานี้
       

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๐๒/๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการค้า การประกอบธุรกิจดังกล่าวจึงต้องมีการซื้อขายและต้องมีเงินทุนในการดำเนินกิจการ การกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ ๑ นั่นเอง หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนือวัตถุประสงค์อย่างใดไม่ การที่จำเลยที่ ๑ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
        หลังจากจำเลยที่ ๒ พ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ ๒ ยังคงแสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ยอมให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญารับมอบสินค้าเชื่อกับโจทก์รวมทั้งดำเนินการขายลดเช็คแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เชิดหรือให้จำเลยที่ ๒ เชิดตัวเองทำการแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ สัญญาที่จำเลยที่ ๒ ทำกับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับได้
        สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๓ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ ๑ ก็ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์มิได้บอกเลิก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่ออายุสัญญาออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีอยู่ ดังนั้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อมาได้ ภายหลังโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ซึ่งครบกำหนดวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันหักทอนบัญชีนับแต่นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป
        ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการนอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ตามปกติแล้วนิติบุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด เช่น กรรมการบริษัทใช้เงินในบัญชีของบริษัทเป็น ประกันหนี้ของตนที่มีต่อธนาคาร (ฎีกาที่ ๔๑๙๓/๒๕๒๘)
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๙๓/๒๕๒๘ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แล้ว ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในใบถอนเงินฝากประจำทำการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ แล้วโอนไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๓ อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับและเป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียเงินฝากประจำขาดดอกเบี้ยที่จะได้รับ และต้องเสียชื่อเสียงในการดำเนินกิจการ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เคลือบคลุมกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำใบถอนเงินฝากประจำของโจทก์โดยมิได้ลงวันถอนมอบให้จำเลยที่๑ ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้อันเกิดจากการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ ลงวันเดือนปีในใบถอนเงินแล้วใช้หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๓ เพื่อชำระหนี้ แม้จะกระทำภายหลังที่โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ขอยกเลิกลายเซ็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วก็ตามถือได้ว่าโจทก์ยินยอมหรือสมัครใจให้ทำเช่นนั้น จึงไม่เป็นการทำละเมิด
        โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้ำประกันหนี้ผู้อื่น การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทำใบถอนเงินฝากประจำของโจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ได้

๓. วัตถุประสงค์ของนิติกรรม
        สัญญายืมจะใช้บังคับได้ต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๕๐ คือ มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจงโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการชัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าเราขอยืมเงิน จากเพื่อน ธนบัตรหรือเงินที่ยืมเป็นวัตถุแห่งหนี้ วัตถุประสงค์ของการยืมก็คือยืมเงิน นั้นไปเพื่อทำอะไร ถ้าวัตถุประสงค์เป็นการไม่ชอบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๐ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้ สัญญานั้นเป็นโมฆะ เช่น
         กู้เงินโดยบอกผู้ให้กู้ว่า จะเอาไปลงทุนค้าฝิ่นเถื่อน (ฎีกาที่ ๗๐๗/๒๔๘๗) กู้เงินโดยบอกว่าจะเอาไปใช้หนี้ค่าจ้าง มือปืนไปยิงครู (ฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๑) ให้กู้เงินโดยรู้ว่าผู้กู้จะนำเงินนั้นไปใช้ในการวิ่งเต้น กับกรรมการคุมสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ (ฎีกาที่ ๕๗๑๘/๒๕๕๒) พระภิกษุให้กู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยได้ (ฎีกาที่ ๓๗๗๓/๒๕๓๘) สัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้มาจากการพนัน หวยใต้ดิน เป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อหนี้ ที่พึงชำระต่อกัน (ฎีกาที่ ๔๘๒๒/๒๕๕๐) ธนาคารหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้กู้ยืม ให้ลูกค้ากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดข้อตกลง เรื่องดอกเบี้ยต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๔๐๐๑/๒๕๕๑ และ ๖๒๒๓/๒๕๕๖)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๑๘/๒๕๕๒ โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีจุดประสงค์ให้จำเลยที่ ๑ นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปใช้ในการวิ่งเต้นกับคณะกรรมการคุมสอบเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรสาวโจทก์ให้ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยวิธีการอันมิชอบ ซึ่งจะทำให้บุตรสาวโจทก์ได้เปรียบผู้สมัครสอบรายอื่น และทำให้การวัดผลไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมา ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการ วัตถุประสงค์ของการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๐๑/๒๕๕๑ ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๘ แห่ง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ ๕ แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ ๔. () ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ ๑๕ ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ ๒๘ ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ ๒๘ ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน ๑๘,๙๐๐ บาท นั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑.๒๕ ต่อปี หรือร้อยละ ๑๕ ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ ๕.๒๙ ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ ๓๐.๒๙ เกินกว่าอัตราร้อยละ ๒๘ ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๐๗/๒๕๕๘ โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒๗/๒๕๕๙ (ฎีกาใหม่) การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาโดยมอบเงินจำนวนมากถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นข้าราชการทหารมียศสูงถึงพลโทสามารถวิ่งเต้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้ อ. เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้ โดยผ่านช่องทางหรือกระบวนการพิเศษที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาเหมือนกรณีการสอบเข้ารับราชการตามปกติทั่วไป หาใช่มอบเงินให้เพื่อตอบแทนหรือเป็นค่าใช้จ่ายการพา อ. ไปสมัครสอบ พาไปติวและดำเนินการสอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ ๑ เป็นจำนวนมากก็โดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขัน เพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเอื้ออำนวยให้ อ. ได้เข้ารับราชการ หรือโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะต้องนำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำการอันมิชอบ อันเป็นการสนับสนุนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันก็ทำลายระบบคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง สัญญาฝากเข้าทำงาน ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ และแม้ตามสัญญาฝากเข้าทำงานจะระบุไว้ว่า "ผู้ให้สัญญา (จำเลยที่ ๑) ยอมรับว่าเงินที่ผู้รับสัญญา (โจทก์) จ่ายให้ตามข้อ ๔ ไม่ใช่เงินที่ผู้รับสัญญาให้เพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อให้ อ. เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้" ก็หาอาจลบล้างวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ไม่

ยืมใช้คงรูป
        ลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูป มาตรา ๖๔๐ บัญญัติว่า “อันว่ายืมใช้ คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิงหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สิน นั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว” และมาตรา ๖๔๑ บัญญัติว่า “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป
        ๑. หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูป เมื่อผู้ยืมได้รับมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ผู้ยืมมีสิทธิ ที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และมีหน้าที่ ๕ ประการตามที่ระบุไว้ ในมาตรา ๖๔๒, ๖๔๓, ๖๔๔, ๖๔๖ และ ๖๔๗

        . หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา ส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๒ ว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย” ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา คือ ค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้แก่รัฐในการทำสัญญายืม ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ายืมอะไรที่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม สำหรับค่าส่งมอบและค่าส่งคืน ทรัพย์สินที่ยืมถ้าไม่ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ส่วนปัญหาว่าจะต้องส่งมอบและส่งคืน ณ สถานที่ใด ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ที่ทรัพย์นั้นอยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น
        หน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๓ ว่า “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่น นอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืม จะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”
        คำว่า “ใช้การอย่างอื่นนอกจากการเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น” คือ ทรัพย์ที่ยืม ไปนั้นปกติคนทั่วไปเขาใช้ทำอะไร ผู้ยืมก็ต้องใช้อย่างนั้น เช่น ยืมรถเก๋งไปใช้ ผู้ยืมต้องเอาไปใช้ให้คนนั่ง ไม่ใช่เอาไปใช้บรรทุกของ

        ส่วนการใช้ “นอกจากการอันปรากฏในสัญญา” เช่น ยืมรถเก่งที่กรุงเทพ โดย บอกว่าจะไปธุระที่เชียงใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะนำไปใช้ในเส้นทางอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้

        คำว่า “เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย” หมายความว่าผู้ยืมจะต้องเป็นคนใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเอง การใช้สอยนี้ต้องดูสภาพของทรัพย์ที่ยืมประกอบด้วย เช่น ยืมรถไปใช้เราขับเองหรือใช้คนขับรถที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนั้นโดยเราสามารถควบคุม ได้ก็ถือว่าเราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น ยืมถ้วยยืมจานไปใช้ในงานทำบุญเลี้ยงพระ แม้ในงานทำบุญนั้นจะมีคนอื่นมาใช้ถ้วยใช้จานนั้นด้วยก็ยังถือว่าเราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น

        ส่วนคำว่า “เอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้” เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ผู้ยืมจะต้องรีบคืนทรัพย์ที่ยืมเมื่อใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จแล้วหรือเมื่อใช้ครบกำหนดเวลา ตามที่ตกลงยันไว้ เช่น ยืมรถมาใช้ ๓ วัน เมื่อครบ ๓ วัน ก็ต้องคืน จะอ้างว่า ยืมมาแล้วยังไม่ได้ใช้ขอเก็บไว้ก่อนจนกว่าจะใช้รถคันนั้นครบ ๓ วัน อย่างนี้เป็นการผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓

        ในกรณีที่ผู้ยืมผิดหน้าที่ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย ผู้ยืมจะต้องรับผิดตามมาตรา ๖๔๓ ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด เช่น ยืม โทรทัศน์มาใช้ ๑ สัปดาห์ เมื่อยืมมาได้เพียง ๒ วัน เพื่อนบ้านประมาททำให้เกิดไฟไหม้ ไฟลามมาไหม้บ้านผู้ยืมทำให้โทรทัศน์ที่ยืมถูกไฟไหม้ กรณีนี้ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าผู้ยืมใช้โทรทัศน์ไป ๑๐ วันแล้วยังไม่ยอมคืน เกิดไฟไหม้เช่นเดียวกับกรณีแรก ผู้ยืมจะต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔๓ ตอนท้าย เช่น พิสูจน์ได้ว่า บ้านต้นเพลิง บ้านผู้ยืมและบ้านผู้ให้ยืมเป็นตึกแถวติดกันถูกไฟไหม้หมดทั้ง ๓ คูหา อย่างนี้ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด

        . หน้าที่สงวนทรัพย์สินที่ยืม กรณีนี้เป็นหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๔ ซึ่งบัญญัติ ว่า “ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง” เช่น ตามปกติเราชอบเอาโน๊ตบุ๊คมาใช้ที่ระเบียงคอนโดมิเนียม ใช้เสร็จก็วาง ไว้ตรงนั้น เพราะคนมาลักไปไม่ได้ แต่ตรงนั้นมันไม่กันแดดกันฝนร้อยเปอร์เซ็นต์ คน ธรรมดาทั่วๆ ไปเขาจะเก็บโน๊ตบุ๊คไว้ในที่ไม่ร้อนจัด แห้งและไม่ถูกละอองน้ำ เรายืม โน๊ตบุ๊คคนอื่นมาใช้ เราก็ต้องนำมาเก็บไว้ในห้อง จะวางไว้ที่ระเบียงเหมือนของเราเองไม่ได้ ปัญหาว่าขนาดไหนเป็นการสงวนทรัพย์สินอย่างวิญญูชนนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด ต้องดูพฤติการณ์เป็นกรณีไปว่า กรณีเช่นนั้นคนธรรมดาทั่วๆ ไปในภาวะเช่นนั้นเขาปฏิบัติ อย่างไร

        . หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๐ตอนท้ายว่า “ผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว” และ
        มาตรา ๖๔๖ บัญญัติว่า “ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้ว
        ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อ การใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้”

        มาตรา ๖๔๖ บัญญัติหน้าที่ผู้ยืมไว้ ถ้ายืมมีกำหนดเวลา ๕ วัน เมื่อครบ ๕ วัน ก็ต้องคืน ในกรณีที่ไม่มีกำหนดเวลากันไว้ก็ต้องคืนทรัพย์สินเมื่อใช้สอยทรัพย์สิน นั้นเสร็จ เช่น ยืมรถขุดไปขุดปอเมื่อขุดเสร็จก็ต้องคืน ถ้าการขุดบ่อนั้นตามปกติใช้เวลา ๕ วัน เราขุดเสร็จโดยใช้เวลา ๔ วันเราก็ต้องคืน ถ้าเอารถมา ๕ วันแล้วยังไม่ลงมือขุด ผู้ให้ยืมมีสิทธิเรียกรถนั้นคืนได้ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดว่าจะคืนเมื่อไร และไม่ปรากฏในสัญญาว่ายืมไปเพื่อการใด มาตรา ๖๔๖ วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืน เมื่อไรก็ได้ คือ เรียกคืนได้ทันที ส่วนจะคืนที่ไหนต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ถ้าไปตกลงกันไว้ต้องคืน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อหนี้ ค่าใช้จ่าย ในการคืนต้องเป็นไปตามมาตรา ๖๔๒ คือผู้ยืมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ไม่นำมาตรา ๓๒๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับ

        ๕. หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๗ ว่า “ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่ง ยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย” ค่าใช้จ่ายตามมาตรานี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ยืมจ่ายไป เนื่องจากการบำรุงรักษาตามปกติ เช่น ยืมรถไปใช้ผู้ยืมต้องบำรุงรักษารถนั้นให้อยู่ในสภาพดี ต้องตรวจและเติมน้ำ น้ำกลั่น น้ำมันเครื่องยนต์ และลมยาง ค่าใช้จ่ายนี้ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ยืมจะเรียกคืนจากผู้ให้ยืมไม่ได้
        ปัญหาว่า ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่การบำรุงรักษาตามปกติ แต่เป็นค่าซ่อมใหญ่ จะเรียกคืนได้หรือไม่ กฎหมายเรื่องยืมไม่ได้บัญญัติไว้ ปัญหาว่าจะนำหลักตามมาตรา ๕๕๐ เรื่องเช่าทรัพย์ที่บัญญัติให้ผู้ให้เช่าทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในค่าซ่อมใหญ่มาใช้ในเรื่อง ยืมได้หรือไม่ ผมเห็นว่ายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทน ผู้ยืมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินที่ยืมได้โดยไม่ต้องชำระค่าตอบแทน ผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมแล้วผู้ให้ยืมไม่มีหน้าที่อื่นอีก เป็นเรื่องที่ผู้ยืมจะต้องพิจารณาเองว่าทรัพย์นั้นใช้ได้หรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ก็ต้องส่งคืนโดยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการส่งคืนด้วย ดังนั้นถ้าผู้ยืมเอาทรัพย์นั้นไปซ่อมใหญ่ โดยพลการ และไม่ได้ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายกับผู้ให้ยืมก่อน ผู้ยืมจะเรียกให้ผู้ให้ยืมชดใช้ คืนไม่ได้

ความรับผิดของผู้ยืมในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย
        เมื่อทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายจะมีปัญหาว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมหรือไม่ เพียงใด และถ้าผู้ยืมไม่ต้องรับผิดผู้ยืมจะฟ้องบุคคลผู้ทำละเมิดเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหายได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
        ๑. ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเมื่อผิดหน้าที่ มาตรา ๖๔๓ บัญญัติถึง หน้าที่ของผู้ยืมว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบถ้าเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้ หรือเอาทรัพย์สินไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้และมาตรา ๖๔๔ กำหนด ให้ผู้ยืมต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบเฉพาะเมื่อผิดหน้าที่ตามสัญญาหรือตามกฎหมาย ๒ มาตรานี้ ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ แต่ยังเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด (ฎีกาที่ ๕๓๔/๒๕๐๖ และ ๗๔๑๖/๒๕๔๘)
        ๒. ผู้ยืมฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหายได้หรือไม่ กรณีนี้ ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ยืมมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมหรือไม่ ถ้าผู้ยืมใช้ทรัพย์ตามปกติไม่ผิด หน้าที่ แต่มีบุคคลที่สามมาทำละเมิดทำให้ทรัพย์ที่ยืมเสียหาย แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่าย ในการซ่อมทรัพย์ที่ยืมให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดใช้ค่าเสียหาย เป็นเรื่องที่ผู้ให้ยืมจะต้องฟ้องเอง
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๘๓/๒๕๓๗ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ประกอบด้วยมาตรา ๔๓๘ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นเป็นการเฉพาะไว้แล้วโจทก์ผู้ยืมรถยนต์ของผู้อื่นมาแล้วถูกจำเลยทำละเมิดชนท้ายได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ซ่อมรถยนต์คันที่ถูกทำละเมิดได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม จึงมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพเดิม

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๕๑/๒๕๒๔ ในการยืมใช้คงรูปนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๖๔๓ ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่กรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชนไม่ได้เป็นเจ้าของไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม. และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ฉะนั้นโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถและแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ความระงับของสัญญายืมใช้คงรูป
        ๑. สัญญาระงับเพราะผู้ยืมตาย มาตรา ๖๔๘ บัญญัติว่า “อันการยืม ใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม” เฉพาะผู้ยืมตายเท่านั้นที่มีผลทำให้ สัญญายืมระงับ ถ้าผู้ให้ยืมตายสัญญายืมไม่ระงับ เช่น จำเลยยืมเรือของนาย ก. ไปใช้ โดยมีข้อตกลงว่ายืมกันตลอดอายุของจำเลย เมื่อผู้ให้ยืมตาย ผู้รับมรดกยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์ที่ให้ยืมคืน เพราะมาตรา ๖๔๕ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมิได้ประสงค์ให้ถือเอาความมรณะของผู้ให้ยืมเป็นเหตุให้สัญญาระงับ (ฎีกาที่ ๓๓๕/๒๔๗๙) ถ้ายืมเรือ ๔ ปี ผู้ยืม ใช้เรือได้ ๑ ปี ก็ตาย สัญญายืมระงับ
        ๒. สัญญาระงับเพราะเหตุอื่น นอกจากเหตุตามมาตรา ๖๔๘ แล้ว สัญญา ยืมยังระงับไปตามหลักทั่วไปของสัญญาอีก คือ ๑. เมื่อส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ๒. เมื่อทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายจนหมดสิ้นไป ๓. เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา มาตรา ๖๔๕ บัญญัติว่าถ้าผู้ยืมปฏิบัติผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓ หรือมาตรา ๖๔๔ เช่น ใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมจะบอก เลิกสัญญาเสียก็ได้ ส่วนการเลิกสัญญาจะทำอย่างไรและมีผลตั้งแต่เมื่อไรต้องเป็นไปตาม บรรพ ๑ และบรรพ ๒

อายุความ
        ๑. อายุความเรียกค่าทดแทน มาตรา ๖๔๙ บัญญัติว่า “ในข้อความรับผิด เพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลา หกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา” อายุความตามมาตรานี้ใช้เฉพาะการเรียกค่าทดแทน หรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหรือหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๒, ๖๔๓, ๖๔๔ และ ๖๔๗ ถ้าการผิดหน้าที่ดังกล่าวเลยไปถึงขนาดเป็นการละเมิดต่ออีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องนำอายุความละเมิดมาใช้บังดับเมื่อมีการฟ้องให้รับผิดฐานละเมิด

        ๒. อายุความเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม การฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม หรือให้ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องภายในอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ หรือ มาตรา ๑๖๔ เดิม
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๙/๒๕๒๖ อายุความตามมาตรา ๖๔๙ เป็นกรณี ฟ้องให้รับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป เช่น ค่าเสียหายเกี่ยวกับ การชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม ในกรณีฟ้องเรียกคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืมไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องปรับด้วยมาตรา ๑๖๔ (เดิม) คือ มีอายุความ ๑๐ ปี
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๖/๒๕๓๖ ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยืมไปพร้อมขวดแก้วซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ ๑ จึงนำมาตรา ๖๔๙ มาบังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๔ (เดิม)
        กรณีดังกล่าวถ้าผู้ให้ยืมเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ผู้ให้ยืมนอกจากมีสิทธิในฐานะคู่สัญญาฟ้องเรียกทรัพย์สินที่ยืมคืนภายใน ๑๐ ปีแล้ว เขายังมีสิทธิตามมาตรา ๑๓๓๖ ที่จะติดตามเอาทรัพย์สินของตนได้โดยไม่มีอายุความ ตราบใดที่ยังไม่มีการครอบครอง ปรปักษ์โดยผู้อื่นเจ้าของมีสิทธิเรียกคืนได้เสมอ

ยืมใช้สิ้นเปลือง
        ลักษณะของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง มาตรา ๖๕๐  วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้นคือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืมและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็น ประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้'แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น”

        ๑. เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน ผู้ยืมเท่านั้นที่มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ให้ยืม ผู้ให้ยืมไม่มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญายืม การล่งมอบทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมเป็นการกระทำที่ทำให้สัญญายืมบริบูรณ์ไม่ใช่หนี้ตามสัญญา แม้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจเป็นสัญญามีค่าตอบแทนได้ เช่น ให้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย

        ๒. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม ทั้งนี้เพราะมาตรา ๖๕๐ วรรคหนึ่ง ใช้คำว่า “โอนกรรมสิทธิ์...ให้ไปแก่ผู้ยืม” การที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ ที่ยืมนี้ ทำให้มีผลหลายประการที่สำคัญ
        ๑. ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืม เพราะถ้าไม่ใช่ เจ้าของทรัพย์สินก็ไม่มีสิทธิที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมได้ ในกรณีที่ขณะทำสัญญาผู้ให้ยืมไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ แต่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ได้รับรองในการกระทำของผู้ให้ยืมจนทำให้สัญญายืมสมบูรณ์ ผู้ยืมซึ่งได้ประโยชน์ตามสัญญาไปแล้วจะปฏิเสธว่าผู้ให้ยืมไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ เช่น เงินที่ให้กู้ยืมเป็นเงินของภรรยาหรือมารดาของโจทก์ (ฎีกาที่ ๗๕๔/๒๕๒๓ และ ๑๖/๒๕๓๔)
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๔/๒๕๒๓ แม้เงินที่จำเลยที่ ๑ กู้ไปจากโจทก์จะเป็นเงินของภริยาโจทก์แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้ให้ไว้กับโจทก์ผู้ให้กู้และจำเลยที่ ๒ ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์เจ้าหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

        . กรณีที่เกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม เมื่อมีภัยพิบัติ เกิดแก่ทรัพย์สินที่ยืมความเสียหายนั้นตกแก่ผู้ยืม
        ๓. วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป เช่น ยืมข้าวสารมาหุง ยืมน้ำมันมาใช้ การยืมทรัพย์บางอย่างมาใช้ไม่แน่ชัดว่าทรัพย์นั้น จะเป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไปหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ต้องดูเจตนาของคู่กรณีด้วยว่ายืมมา ทำอะไร ถ้ายืมมาใช้แล้วเป็นที่เห็นได้ว่าจะคืนทรัพย์สินต่างชิ้นกับที่ยืมมา ก็เป็นยืม ใช้สิ้นเปลืองได้ เช่น ยืมไม้ ยืมสังกะสี ตามปกติทรัพย์ ๒ ชนิดนี้ไม่ใช่ทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป แต่การยืมทรัพย์ดังกล่าวเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองได้เมื่อเจตนาของคู่สัญญาต้องการ ให้ผู้ยืมใช้ทรัพย์นั้นไปตลอดและเวลาคืนจะต้องนำทรัพย์ชิ้นอื่นมาใช้แทน จำเลยยืมไม้ และสังกะสีจากผู้ร้องเพื่อปลูกบ้านย่อมหมายความว่าเอาทรัพย์นั้นมาขาดทีเดียว ไม่ใช่จะเอาทรัพย์นั้นไปคืนอีก จึงถือว่าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกย่อมตกเป็นของจำเลยตามมาตรา ๖๕๐ (ฎีกาที่ ๙๐๕/๒๕๐๕)
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๐๕/๒๕๐๕ จำเลยยืมไม้และสังกะสีของผู้ร้องเพื่อปลูกเรือน ย่อมหมายความว่า เอาทรัพย์นั้นๆ มาขาดทีเดียว ไม่ใช่จะเอาทรัพย์นั้นไปคืนอีกจึงถือว่าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองกรรมสิทธิ์ในเรือนที่ปลูกขึ้น ดังกล่าวย่อมเป็นของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๐
        การใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ที่ว่าเจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่ต้องใช้ค่าแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๗ นั้น หมายความว่า สัมภาระจะต้องเป็นของบุคคลอื่นอยู่ในขณะที่ได้เอาสัมภาระนั้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นใหม่เมื่อเป็นกรณียืมใช้สิ้นเปลืองสัมภาระนั้นย่อมตกเป็นของผู้ยืมแล้วในขณะปลูกสร้างจึงไม่เข้าตาม มาตรา ๑๓๑๗

        ๔. เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๕๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม” เป็นเรื่องความสมบูรณ์ ของสัญญา คำว่า บริบูรณ์ ในมาตรานี้มีความหมายเช่นเดียวกับในมาตรา ๖๔๑ เรื่องยืมใช้คงรูป

สัญญาจะให้ยืม
         ปัญหาว่ามีสัญญาจะให้ยืมหรือไม่ มีกฎหมายใกล้เคียง กับเรื่องนี้คือ เรื่องซื้อขายมีสัญญาจะซื้อจะขายตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง เรื่องให้มีคำมั่นว่าจะให้ตามมาตรา ๕๒๖ แต่ในเรื่องยืมกฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงสัญญาจะให้ยืม หรือคำมั่นจะให้ยืมดังเช่นที่มีบัญญัติไว้ในเรื่องซื้อขายและให้ ดังนั้น จึงน่าจะไม่มีสัญญาจะให้ยืม เว้นแต่จะไปทำสัญญาที่มีข้อตกลงทำนองเดียวกับการจะให้ยืมและข้อสัญญานี้ ปนอยู่ในสัญญาต่างตอบแทนชนิดอื่น ข้อตกลงนั้นจึงจะมีผลบังคับได้ในฐานะที่เป็นสัญญาต่างตอบแทน เช่น
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๒๓/๒๕๒๕ จำเลยจะจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านขาย จึงทำสัญญากับบริษัทโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเช้าควบคุมการก่อสร้างโดยจำเลยต้องจ่าย ค่าควบคุมงานปลูกบ้านหลังละ ๗๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ต้องให้จำเลย และผู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากจำเลยกู้ร้อยละ ๗๕ ของราคาที่ดินและบ้าน ต่อมามีการผิดสัญญา โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ให้กู้ยืมไปแล้วคืน จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์รับเงินค่าจ้างควบคุมงานไปแล้วไม่ยอมให้จำเลยและลูกค้ากู้เงิน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าตามกฎหมายไม่มีสัญญาจะให้ยืม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมธรรมดา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกู้เงินโจทก์ตามข้อตกลง โจทก์จึงต้องรับผิดใช้ ค่าเสียหายแก่จำเลย
         ข้อสังเกต  ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยให้ชัดว่าเป็นสัญญาจะให้ยืม หรือไม่ และฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นการฟ้องให้ใช้ค่าเสียหายไม่ใช่การฟ้องแย้งให้ล่งมอบเงิน ที่ตกลงกันว่าจะให้จำเลยกู้ยืม



    อยู่ระหว่างถอดเทป+เน้นประเด็นแพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* สมัยที่ 71

       *** อัพเดท ข้อมูลเตรียมสอบเนติฯ ทันก่อนสอบ ดาวน์โหลด ที่ LawSiam.com ****