เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: สรุปวิแพ่ง ข้อ4
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สรุปวิแพ่ง ข้อ4 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สรุปวิแพ่ง ข้อ4 แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สรุปวิแพ่ง ข้อ4 เนติฯ (ขาดนัดพิจารณา (น่าสนใจ*))

สรุปย่อคำบรรยายเนติ เน้นประเด็นสำคัญ เก็งฎีกา เก็งมาตรา ขอบเขตสำคัญ ที่น่าออกสอบ

ข้อ4 วิธีพิจารณาคดีวิสามัญในศาลชั้นต้น

เจาะประเด็น เน้นฎีกา ที่น่าสนใจ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต สมัยที่ 72


ขาดนัดพิจารณา (น่าสนใจ)


มาตรา ๒๐๐ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๘ ทวิ และมาตรา ๑๙๘ ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาต จากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา
ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่มิใช่วันสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความ ฝ่ายนั้นสละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว”

สรุป จากบทบัญญัติมาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง มีข้อที่จะพิจารณาในเบื้องต้น ดังนี้
คำว่า ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๘ ทวิ และมาตรา ๑๙๘ ตรี หมายความ ว่า บทบัญญัติในเรื่องการขาดนัดพิจารณาไม่นำไปใช้แก่คดีที่จำเลยขาดนัดยื่น คำให้การหรือคดีที่มีจำเลยหลายคนและจำเลยบางคนขาดนัดยื่นคำให้การ หากใน คดีดังกล่าวมีการสืบพยาน ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานก็ต้องบังคับตามมาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคสี่ หรือ มาตรา ๑๙๘ ตรี วรรคสอง กล่าวคือ ไม่ถือว่าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นขาดนัดพิจารณาอีก จะนำบทบัญญัติเรื่องคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๑ หรือโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๒ มา ปรับแก่คดีไม่ได้ ต้องใช้บทกฎหมายเรื่องการขาดนัดยื่นคำให้การมาใช้แก่คดีเพียงอย่างเดียว

คำว่า คู่ความ มีความหมายตามมาตรา ๑ (๑๑) ที่บัญญัติว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณา ให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๘/๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ มอบฉันทะให้ ส. มายื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของผู้ซื้อทรัพย์เพื่อแถลงต่อศาลและวางเงินค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้อง ส. จึงมีอำนาจเพียงยื่นคำร้องและวางเงินค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้องตามที่ระบุไว้ในใบมอบฉันทะเท่านั้น การที่ ส. ท่าคำร้องขอคัดถ่ายสำเนา แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของผู้ซื้อทรัพย์โดยลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งซึ่งต้องกระทำโดยคู่ความหรือทนายความ การมอบฉันทะ ดังกล่าวไม่ทำให้ ส. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑ (๑๑)

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๐/๒๕๔๙ เสมียนทนายจำเลยที่ ๒ ได้รับมอบฉันทะ จากทนายจำเลยที่ ๒ มายื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งของศาลชั้นต้น เสมียนทนายจำเลยที่ ๒ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๑๑) เพราะเสมียนทนายจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิที่จะว่าความหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าวและรับทราบคำสั่งของศาลตามที่รับมอบหมายจากทนายจำเลยที่ ๒ เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยที่ ๒ และทนายจำเลยที่ ๒ ไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์

สรุป คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ เสมียนทนายได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยให้ มายื่นเฉพาะคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับเรื่องการขอถอนทนาย เท่านั้น ไม่ได้รับมอบฉันทะให้มีอำนาจเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีหรือกำหนดวันนัดสืบพยาน เสมียนทนายจึงไม่ถือว่าเป็นคู่ความในกิจการที่ได้รับมอบหมาย เท่ากับไม่มีคู่ความฝ่ายจำเลยที่ ๒ มาศาลในวันสืบพยานโจทก์เลย
แต่ถ้าเสมียนทนายที่มาศาลได้รับมอบฉันทะให้มีอำนาจยื่นคำร้องขอ เลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา ฟังคำสั่งและลงลายมือชื่อแทนทนายจำเลย*** ถือว่าเป็นการมอบฉันทะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพยาน เสมียนทนายจึงมีฐานะเป็น คู่ความในกิจการที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๖๔ จึงเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายจำเลยมาศาลแล้ว ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๙๐/๒๕๔๙ ในวันสืบพยาน ทนายจำเลยมอบฉันทะ ให้ ป. เสมียนทนายมาศาลและมีอำนาจในการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณาฟังคำสั่งและลงลายมือชื่อทนายจำเลยเช่นนี้ ป. จึงมีฐานะเป็นคู่ความแล้ว มิใช่ไม่มีคู่ความฝ่ายจำเลยมาศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ ที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๐๔๙/๒๕๕๘ ในวันสืบพยานโจทก์วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดี ฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ส. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความมิใช่คู่ความฝ่าย จำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลอันจะให้ถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาในคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๓ ทวิ วรรคสอง การไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีคงมีผลเพียงทำให้จำเลย ทั้งสามเสียสิทธิในการซักค้านพยานโจทก์ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น จำเลยทั้งสามยังคงมีสิทธินำพยานเข้าสืบในนัดวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามที่นัดไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๕๙/๒๕๕๘, ๓๗๙๐/๒๕๔๙ วินิจฉัยเช่นกัน) 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง อ.ประเสริฐฯ

-------------------

แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate