เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: เก็งอาญา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งอาญา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งอาญา แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ ๒-๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๓

 


ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ ๒-๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๓


นายแดงต้องการให้รถไฟตกราง เอาท่อนไม้เล็ก ๆ ไปวางขวางทางรถไฟ ประสงค์ให้รถไฟที่กําลังจะแล่นมาตกราง วินิจฉัยความรับผิดของนายแดง

 คําตอบ คือ น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือไม่ เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทํา ไม่คํานึงถึงความรู้ความเข้าใจของผู้กระทํา

ดังนั้น เมื่อสิ่งที่เอาไปวางนั้น แม้ว่าจะเป็นการกีดขวางทางรถไฟ แต่เป็นเพียงท่อนไม้เล็ก ๆ วิญญูชนเห็นได้ว่า ไม่น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ เพราะฉะนั้น ตอบได้เลยว่า นายแดงไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๓๐ แม้ฐานพยายามก็ไม่ผิด เพราะ ขาดองค์ประกอบภายนอก เนื่องจากวิญญูชน เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ

ตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่นายแดงเอาไปวางนั้น นายแดงเห็นว่าไม่น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ แต่วิญญูชนเห็นว่า น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ การ กระทําของนายแดงก็เป็นความผิดสําเร็จตามมาตรา ๒๓๐ นายแดง จะยกเอามาตรา ๕๙ วรรคสาม มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือ จะเอาหลักที่ว่า “ไม่รู้ว่าน่าจะเกิดอันตราย” เพราะ ฉะนั้นจึงไม่มีเจตนาตามมาตรา ๒๓๐ มาใช้ไม่ได้ เพราะ เป็นองค์ประกอบ ภายนอกที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จึงไม่อยู่ภายใต้หลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม


อ้างอิง กฎหมายอาญา ม. ๕๙- ๑๐๖ อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๕ สมัยที่ ๗๗

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ 5-6 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1


เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ 5-6 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1


                        คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยมีมีดถืออยู่ในมือถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน เมื่อผู้เสียวิ่งหนี ผู้ร่วมกระทำผิดดังกล่าววิ่งไล่ตามจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่ ขู่เข็ญ แสดงท่าทีหรือแทงประทุษร้าย จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่

                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่  11865/2554  การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ หากแต่เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าที่โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83


แนวการเขียนตอบข้อสอบ ⭐

1. วางหลัก การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ 

2. วิเคราะห์ ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ การกระทำ

2.1 (ลอก สรุป ข้อเท็จจริงจากข้อสอบป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลย

2.2 ตามพฤติการณ์ ไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป  

       ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์

3. แต่การกระทำของ....  เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83

 


วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เก็ง เนติ กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่3

                     

เก็ง เนติ กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่ 3


                     คำถาม  สามีเห็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนอนหนุนตักชายอื่นและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน สามีใช้มีดแทง จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่กระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน โดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อ จ. ก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิ แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72


แนวการเขียนตอบข้อสอบเนติฯ ⭐

1. ประเด็น ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

           ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อภริยา ก็เป็นไปโดย ภริยาสมัครใจยินยอม 

          ดังนั้น พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำต้องกระทำเพื่อป้องสิทธิ ตามมาตรา ๖๘


2. ประเด็น อ้างบันดาลโทสะ ได้หรือไม่

         แต่การกอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อสามีเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของสามีที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่เข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา 

       การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72


https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Aya