เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน: เก็งเนติ แพ่ง ข้อ6
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งเนติ แพ่ง ข้อ6 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เก็งเนติ แพ่ง ข้อ6 แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็งแพ่ง เนติ วิชา กฎหมายกฎหมายตั๋วเงิน ข้อ 7 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1

      


เทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายกฎหมายตั๋วเงิน ข้อ 7 สมัยที่ 77 (เก็ง) ชุดที่ 1


                     คำถาม  ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หากผู้ทรงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้สลักหลังเช็ค ผู้ทรงจะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คหรือไม่

                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  2569/2551  ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็ครวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว

                      คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ ได้อีกหรือไม่

                      เห็นว่า การที่บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว

                       ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด

                        หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500 วินิจฉัยไว้ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500  การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 - 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 - 2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 - 2  นั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1 - 2 พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป


สกัดหลักไล่สายแนวการเขียนตอบข้อสอบแพ่ง ⭐

 1. ผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 

2. ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อผู้ทรงย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม 

3. เมื่อผู้ทรงทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง

4. ผู้ทรงคงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้สลักหลัง ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สลักหลัง ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก 

5. สิทธิของผู้ทรงที่จะเรียกร้องต่อผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อผู้ทรงในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของผู้ทรงได้ระงับสิ้นไปแล้ว



https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Pang