เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: สรุปเก็ง ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่ 10 วิแพ่ง ภาค1 อ.สมชัยฯ 23 มค 61 สมัยที่70

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

สรุปเก็ง ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่ 10 วิแพ่ง ภาค1 อ.สมชัยฯ 23 มค 61 สมัยที่70

สรุปเก็ง ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่ 10 วิแพ่ง ภาค1 อ.สมชัยฯ 23 มค 61 สมัยที่70
 
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2559 คดีมโนสาเร่ กรณีคดีมีประเด็นว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องชัดเจนขึ้นก่อน หากโจทก์ไม่ทำการแก้ไขจึงจะถือว่ามีประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุจพินิจพิจารณาแล้วว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมต้องถือว่าประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เป็นอันยุติไปตามสภาพที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จำเลยไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2538 ผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ช.เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของ ช. และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเมื่อพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสามอีกต่อไปแม้ผู้ร้องทั้งสามมิได้อุทธรณ์แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีคดีของผู้ร้องทั้งสามจึงยังไม่ถึงที่สุดในการพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดตัดสินเกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าว โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์มีส่วนได้1ส่วนใน5ส่วนการแบ่งที่ดินหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาทตามส่วนอันเป็นการขอให้แบ่งทรัพย์ระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์มีส่วนได้ในที่ดินมรดก1ส่วนใน5ส่วนและจำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้แบ่งตามคำขอของโจทก์

                คำพิพากษาฎีกาที่ 6475/2556 (เน้น***) หลังจากศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207 /2553 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องในคดีดังกล่าว ขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน โดยอ้างว่าจำเลยนำพินัยกรรมฉบับแรก (ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2533) ซึ่งเป็นโมฆะแล้ว เพราะถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง มาอ้างต่อศาลเพื่อแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก อันมีพฤติกรรมไม่สุจริตและเท่ากับจำเลยสละสิทธิตามพินัยกรรมฉบับหลังสุด (ลงวันที่ 29 เมษายน 2536) และพินัยกรรมทุกฉบับสิ้นผลบังคับเพราะล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย คำร้องของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้อง คำคัดค้านของจำเลยจึงเป็นคำให้การ แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นข้อพิพาทว่า ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ศาลจังหวัดสีคิ้วจะมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดกันมรดก หรือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่หรือไม่นั้น ศาลในคดีดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ที่ผู้ตายระบุตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับแล้วตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุทำนองเดียวกันกับคดีดังกล่าวว่า จำเลยใช้พินัยกรรมที่ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังแล้วยื่นต่อศาลขอให้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้แบ่งที่ดินมรดกแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองในคดีนี้จะมีคำขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า พินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207/2553 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นด้วยกันและมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในเรื่องเดียวกับคดีนี้ฟ้องคดีนี้ ฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558 ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตน โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ผู้ร้องสอดจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้
                ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว
                ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก).
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2552 ประเด็นข้อพิพาทในคดีจะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ เป็นข้อสำคัญ มิใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้พยานโจทก์จะได้เบิกความถึงว่า มีการเสนอว่าจะให้ค่าทดแทนแก่จำเลยแล้วก็ตาม แต่ในคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้มีการเสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยแต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 หรือไม่ เมื่อคดีไม่มีประเด็นดังกล่าวเสียแล้ว ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามฟ้องโจทก์และกำหนดค่าทดแทนเพื่อให้โจทก์ชำระแก่จำเลยได้เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2553 จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์จำเลย 40,000 บาท แต่โจทก์กลับนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากูยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ไปกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงเป็นเอกสารปลอม คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ไม่มีประเด็นว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจะนำสืบว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหาได้ไม่ เป็นการนำสืบนอกประเด็น ส่วนที่จำเลยให้การไว้ตอนหนึ่งว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเป็นการให้การประกอบข้ออ้างที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท มิใช่เป็นการให้การในประเด็นที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนตามฟ้องให้โจทก์แล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น


            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17094/2555 คำให้การของจำเลยตอนต้นเป็นการกล่าวให้เห็นที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทว่าเนื่องมาจากการซื้อจากบุคคลภายนอกโดยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันเพื่อให้เห็นเหตุและเจตนาในการเข้าครอบครอง ส่วนที่ให้การต่อมาว่า จากนั้นจำเลยและครอบครัวจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 40 ปี ก็เพื่อให้เห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นแล้วโดยการครอบครอง อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ถือว่าขัดแย้งกัน หากแต่เป็นการลำดับที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่แรกจนได้กรรมสิทธิ์โดยชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวซึ่งจะต้องพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ด้วย เพราะหากจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเสียแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมิได้วินิจฉัยนอกประเด็น


***ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น* สรุปคำบรรยายเล่ม1-16 ท่องพร้อมสอบ อัพเดทที่ LawSiam.com***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น