เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ9 ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่ 70

วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ9 ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่ 70

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ9. ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่ 70
-------------------------

การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน

- การจัดการประชุม
        ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้อง โฆษณากำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย ๑ ฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และต้องแจ้งไปยังลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบด้วย (มาตรา ๙๐/๑๘ วรรคหนึ่ง)

- การดำเนินการประชุม
        ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธาน ในการประชุมและให้มีรายงานการประชุมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เก็บไว้เป็นหลักฐาน การที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในที่ประชุมก็เพื่อควบคุมให้การประชุมนั้นได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย
        อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ สังกัดกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม มิได้เป็นเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะลงคะแนนเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด หรือลงคะแนนเสียงเพื่อชี้ขาดไม่ได้ (มาตรา  ๙๐/๑๘ วรรคสอง)

- เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
        เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและลูกหนี้ได้ก่อนิติสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม โดยเจ้าหนี้ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประชุมตามแบบพิมพ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดและได้แสดงหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้จนเป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม
        ในการนี้ เจ้าหนี้อื่นหรือลูกหนี้จะขอตรวจหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้ต่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้และในการประชุมเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตัวเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาออกเสียงแทนก็ได้ (มาตรา ๙๐/๒๒)

- องค์ประชุม
        กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนหนี้หรือเจ้าหนี้ที่จะเป็นองค์ประชุมไว้ เพราะฉะนั้น จะมีเจ้าหนี้มาประชุมเท่าใดและมีจำนวนหนี้เพียงใดก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็สามารถดำเนินการประชุมได้ตามกฎหมาย

- การลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้
        ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถามลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มาประชุมว่าจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ถ้ามีผู้คัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้คัดค้าน เจ้าหนี้ผู้ถูกคัดค้านและลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องที่คัดค้านถ้าบุคคลดังกล่าวมาประชุม แล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่ เท่าใด
        คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นที่สุด โดยมีผลเฉพาะให้เจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ เท่านั้น แต่ไม่มีผลให้มติเลือกผู้ทำแผนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลเปลี่ยนแปลงไปหรือกระทบถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ (มาตรา ๙๐/๒๓)

- การเสนอชื่อผู้ทำแผนต่อที่ประชุมเจ้าหนี้
        เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่เสนอชื่อผู้ทำแผนต่อที่ประชุมเจ้าหนี้นั้นจะต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย (มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคท้าย)

- มติที่ประชุม
        มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคสอง ในกรณีที่ลูกหนี้มิได้เสนอผู้ทำแผน มติเลือก ผู้ทำแผนต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝายที่มิจำนวนหนี้ข้างมากฯ ซึ่งได้ออกเสียงลง คะแนนในมตินั้น แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผนด้วย ให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ฝายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นกำหนดให้ บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน ในการลงมติตามมาตรานี้ให้เจ้าหนี้มีประกันออกเสียงได้ เต็มตามจำนวนหนี้

การรายงานมติที่ประชุมต่อศาล
        เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายใน ๓ วัน นับแต่วันประชุม เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่ง (มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคหก) หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกผู้ทำแผนได้ และศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน หากศาลไม่เห็นชอบด้วยก็ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอชื่อเป็นผู้ทำแผน (มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคสาม)
        ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่กรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้ (มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคสี่)


        มาตรา ๙๐/๑๗ วรรคห้า ในการประชุมเจ้าหนี้ในวรรคสามหรือวรรคสี่ ถ้า ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกผู้ทำแทนได้ให้ศาลตั้งบุคคลด้งกล่าวเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ตั้งบุคคลด้งกล่าวเป็นผู้ทำแผนหรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ กรณีนี้คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลงด้วยคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น