เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เก็งเนติ อาญา ข้อ 4 กฎหมายอาญา "อัังยี่ ซ่องโจร" สมัยที่ 77

 

 เก็งเนติ อาญา ข้อ 4 กฎหมายอาญา สมัยที่ 77


 หลักกฎหมายที่ต้องท่องจำ

ความผิดฐานเป็น อัังยี่ ซ่องโจร

อัังยี่ 

๑. การมีบุคคลตั้งแต่ ๒ คน ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว 

๒. ปกปิดวิธีดําเนินการ หมายถึง ปกปิดไม่ให้ทราบว่ามีวิธีการดําเนินการอย่างไร เหตุผลที่ต้องปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ นอกจากหมู่คณะของตนก็เพราะว่ามีความมุ่งหมาย เพื่อที่จะกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๔/๒๕๕๗ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการและมีความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นช่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๐ เป็นขั้นตอนการกระทําความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทําความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทําแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม


คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๘๐/๒๕๕๖  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจร ย่อมเป็นความผิดสําเร็จแล้ว ตั้งแต่มีการสมคบวางแผนเพื่อกระทําการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทําการตามที่ได้สมคบกันก็ตามจึงเป็นการกระทําความผิดกรรมหนึ่ง เมื่อต่อมาจำเลยกับพวกวางแผนการอย่างใด ๆ เพื่อก่อความไม่สงบสุขร่วมกันดักซุ่มยิงทหารชุดคุ้มครองครูจึงเป็นเจตนาอีกอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังแยกออกจากกัน การกระทําความผิดฐานพยายาม ฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง


ความผิดฐานซ่องโจร 

๑. การกระทํา ได้แก่ การสมคบกันตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๐/๒๕๓๔ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปคบคิดประชุมหารือร่วมกัน และตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ แห่ง ป.อ. และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยการประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไรเป็นข้อสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร ได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้และเสียทรัพย์พนัน แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหนเมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใดหรือไม่ จึงจะลงโทษจำเลยฐานเป็นซ่องโจรมิได้

 

หากได้ความเพียงว่ามีกลุ่มคนร้ายวัยรุ่น จะเข้ามาชิงหรือปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองกําแพงเพชรเท่านั้น แต่โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้คบคิดร่วมกันประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใดและได้ตกลงกันจะกระทําความผิดอย่างใดหรือไม่  หากโจทก์สามารถพิสูจน์ในส่วนนี้ได้ ศาลจึงจะลงโทษจำเลยฐานซ่องโจรได้ (ฎีกาที่ ๓๒๐๑/๒๕๒๗)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๐๑/๒๕๒๗ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น การประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไร เป็นข้อสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่


     ๒. การสมคบกันนั้นต้องเป็นการสมคบกันระหว่างผู้ที่เป็นตัวการร่วมกัน จำนวน ๕ คน ไม่ใช่กับบุคคลภายนอก

หากรวมกันแล้วไม่ถึง ๕ คน ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้เช่นกัน เช่น การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตํารวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตํารวจ มีลักษณะเป็นการกระทําต่อบุคคลภายนอก เป็นต้น


๓. ความผิดที่สมคบกันเพื่อกระทําความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ในประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิด ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑ ปี ขึ้นไป ด้วย

ดังนั้น หากเป็นฐานความผิดที่อยู่ในภาค ๓ ลหุโทษ ก็ไม่เข้า หรือเป็นฐานความผิด อยู่ในภาค ๒ แต่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง ๑ ปี ก็ไม่เข้าเกณฑ์เช่นกัน ในส่วนนี้ จึงทําให้ความผิดฐานซ่องโจรต่างจากความผิดฐานอั้งยี่ เพราะความผิดฐานอั้งยี่ ไม่ได้จำกัดว่าความผิดอาญาดังกล่าวต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดเท่านั้น 


วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

        ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

          ฎีกาที่ ๔๒๖/๒๕๑๒ จําเลยที่ ๒ เรียงคําฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของ ทนายความ ข้อความที่ปรากฏในคําฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคําบอกเล่าของจําเลยที่ ๑ (ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นําสืบ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คําฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ จําเลยที่ ๑ หาใช่จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคําฟ้องตามคําบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่


        แต่หากทนายความรู้เห็นร่วมกันกับผู้เสียหาย ทนายก็อาจเป็นตัวการร่วม ฟ้องเท็จได้

        ฎีกาที่ ๑๙๙๘๐/๒๕๕๕ การเป็นทนายความผู้เรียงคําฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทําความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทําไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

 

            ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓  เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

     ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จทันที เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความ (ฎีกาที่ ๑๐๗๖/๒๕๕๑)



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?

 

         แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?


        การแจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” ยังไม่พอฟัง ว่ามีเจตนาแกล้งให้ผู้ต้องสงสัยรับโทษ

        ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าบุคคลใดกระทําความผิด ต้องใช้คําว่า “สงสัย” มิใช่ยืนยันว่าบุคคลนั้นการกระทําผิด (เน้น**)

        ฎีกาที่ ๑๔๒๔/๒๕๕๔ ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจําเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จําเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสาร คือ โจทก์ โดยจําเลยแจ้งความเพียงว่าจําเลยสงสัยโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจําเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืน มีความผิดฐานใด?

 

      ฎีกาที่ ๕๙๘/๒๕๓๖ สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืนกระทําชําเรา เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๑๘๑

 

ข้อสังเกต

        ๑. ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๗๔**ป็นการกระทําในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทําความผิดที่มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทําต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ตามมาตรา ๑๘๑ (๑)

 

        ๒. ข้อเท็จจริงมักมีการแจ้งความดําเนินคดีเช่นนี้บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อในทางพิจารณาฟังได้ว่าฝ่ายหญิงยินยอมร่วมประเวณี ฝ่ายหญิงก็เป็นผู้กระทําความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งข้อความเท็จว่าในอาคารของบริษัทมีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อน แต่ความจริงไม่มี ผิดฐานอะไร?

        ฎีกาที่ ๑๐๔๑/๒๕๔๒ มาตรา ๑๗๔ แจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๓ เพื่อจะแกล้งให้บริษัทเจ้าของสถานที่และกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ถูกกล่าวหาด้วย ข้อความเท็จว่าในอาคารของบริษัทมีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อนอยู่แต่ความจริงไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ เป็นความผิดมาตรา ๑๗๓ เพราะรู้ว่ามิได้มีการกระทําผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทําผิด



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ประเด็นนี้เคยนําไปออกข้อสอบ อาญา ข้อ ๑ เนติฯ สมัยที่ ๖๐

 

         คําว่า “แกล้ง” ตามมาตรา ๑๗๔ และ มาตรา ๒๐๐ ศาลใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานในการให้ความหมาย ซึ่งหมายความว่า จงใจทํา พูด หรือ แสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เขาเสียหาย อาย เดือดร้อน ขัดข้อง เข้าใจผิด เป็นต้น

        ข้อสังเกต ประเด็นนี้เคยนําไปออกข้อสอบเนติฯ สมัยที่ ๖๐ ร่วมกับความผิด เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร****

        ฎีกาที่ ๒๐๙/๒๕๐๖ จําเลยเกิดปากเสียงกับนายชิงชองแล้วถูกนายชิงชอง ชกต่อยเอา แต่จําเลยกลับนําความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า มีนักเลง ๓ คน กลุ้มรุมทําร้ายจําเลย โดยคนหนึ่งใช้ไม้ตีคนหนึ่งล็อกคอ อีกคนหนึ่งล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อไป ๓๐๐ บาท ซึ่งเป็นความเท็จ การกระทําของจําเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการแกล้งจะให้นายชิงชองต้องรับโทษหนักขึ้น




อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การกระทําเดียวอาจเป็นความผิดทั้งหมิ่นประมาท และความผิดฐานแจ้งเท็จ ได้หรือไม่?

 

         การกระทําเดียวอาจเป็นความผิดทั้งหมิ่นประมาท มาตรา ๓๒๖ และ แจ้งเท็จ ปอ. มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๗๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๓ ได้ โดยความผิดฐานแจ้งเท็จ เมื่อเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๗๓ ซึ่งเป็นบทเฉพาะ แล้วไม่จําต้องปรับบทมาตรา ๑๓๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

        ฎีกาที่ ๘๖๑๑/๒๕๕๒ จําเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทําในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นแต่กลับไป แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทําผิดในข้อหาลักทรัพย์ อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ปอ. มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๗๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๓ จําเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดําเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม เพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทําของจําเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

 

อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

เข้าใจว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้วไปแจ้งกับพนักงานสอบสวน มีความผิดฐานใด?

 

       กรณีเข้าใจโดยสุจริตว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้วไปแจ้ง แม้ความจริงจะไม่มีความผิดเกิดขึ้น ถือว่าไม่มีเจตนาไม่เป็นความผิด

        ฎีกาที่ ๘๙๗/๒๕๐๗ จําเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนโดยเล่าเรื่องให้ฟังตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าในขณะที่โจทก์ออกจากบ้านได้มีเสียงปืนดังขึ้น ๑ นัด จําเลย ไม่เห็นคนยิง แต่เชื่อหรือเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ยิงพนักงานสอบสวนได้สรุปข้อความตามคําแจ้งความไว้แล้ว มีความตอนหนึ่งว่าโจทก์ใช้ปืนพกยิงจําเลยเข้าใจว่าโจทก์มีเจตนาจะยิ่งจําเลยให้ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ข้อความที่บันทึกไว้นั้นก็เป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนบอกให้ตํารวจเขียน ไม่ใช่ถ้อยคําที่จําเลยแจ้งโดยแท้จริง ทั้งพฤติการณ์จําเลยมิได้เจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก็ไม่ผิด มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย มีความผิดอาญาฐานใด?

 

        ฎีกาที่ ๕๙๔/๒๕๒๑ แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ซึ่งขณะนั้น เป็นรองอธิบดีกรมตํารวจมีอํานาจสืบสวนคดีอาญาด้วย แต่แจ้งความในฐานะรัฐมนตรี ไม่เป็นความผิด ตามมาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74