เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74: คำพิพากษาศาลฎีกา
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ คำพิพากษาศาลฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พ.พ. ม.241, ม.472)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559 คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
         จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
       การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559

       คำคัดค้านไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559 คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247