เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ ๒-๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๓

 


ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ ๒-๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๓


นายแดงต้องการให้รถไฟตกราง เอาท่อนไม้เล็ก ๆ ไปวางขวางทางรถไฟ ประสงค์ให้รถไฟที่กําลังจะแล่นมาตกราง วินิจฉัยความรับผิดของนายแดง

 คําตอบ คือ น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือไม่ เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทํา ไม่คํานึงถึงความรู้ความเข้าใจของผู้กระทํา

ดังนั้น เมื่อสิ่งที่เอาไปวางนั้น แม้ว่าจะเป็นการกีดขวางทางรถไฟ แต่เป็นเพียงท่อนไม้เล็ก ๆ วิญญูชนเห็นได้ว่า ไม่น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ เพราะฉะนั้น ตอบได้เลยว่า นายแดงไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๓๐ แม้ฐานพยายามก็ไม่ผิด เพราะ ขาดองค์ประกอบภายนอก เนื่องจากวิญญูชน เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ

ตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่นายแดงเอาไปวางนั้น นายแดงเห็นว่าไม่น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ แต่วิญญูชนเห็นว่า น่าจะเกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟ การ กระทําของนายแดงก็เป็นความผิดสําเร็จตามมาตรา ๒๓๐ นายแดง จะยกเอามาตรา ๕๙ วรรคสาม มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือ จะเอาหลักที่ว่า “ไม่รู้ว่าน่าจะเกิดอันตราย” เพราะ ฉะนั้นจึงไม่มีเจตนาตามมาตรา ๒๓๐ มาใช้ไม่ได้ เพราะ เป็นองค์ประกอบ ภายนอกที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จึงไม่อยู่ภายใต้หลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม


อ้างอิง กฎหมายอาญา ม. ๕๙- ๑๐๖ อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๕ สมัยที่ ๗๗

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ ๖ ตั๋วเงิน สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑

 


เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ ๖ ตั๋วเงิน สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑


คำถาม การโอนตั๋วระบุชื่อในกรณีที่มีข้อกําหนดห้ามเปลี่ยนมือ หากตั๋วนั้นมีข้อกําหนดว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ และผู้รับเงินฝ่าฝืนคำสั่งโอนตั๋วนั้นให้ไปโดยวิธีสลักหลัง และส่งมอบ ถามว่าการกระทําเช่นนั้นเป็นการโอนที่ชอบหรือไม่

           คำตอบ ถือว่าเป็นการโอนที่ไม่ชอบ เมื่อการโอนนั้นไม่ชอบ ผลตามมาก็ถือว่าไม่มีผลเป็นการโอนตั๋วเงินสิทธิทั้งหลายตามตั๋วเงินก็ไม่โอนไปยังผู้รับโอนตามมาตรา ๙๒๐ และผู้รับโอนก็ไม่เป็นผู้ทรง เมื่อไม่เป็นผู้ทรงจะใช้สิทธิของผู้ทรงไม่ได้ คือเรียกให้ลูกหนี้ตามตั๋วเงินใช้เงินไม่ได้  

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๑๙/๒๕๓๓ วินิจฉัยว่า การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ ผู้สั่งจ่ายเขียนลงด้านหน้าว่าเปลี่ยนมือไม่ได้จะโอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลการ โอนสามัญตามมาตรา ๙๘๕, ๙๑๗ และ ๓๐๖ การโอนระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน ต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนนั้นมิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เมื่อปรากฏเพียงว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้เป็นผู้ออก ผู้โอนได้โอนให้เจ้าหนี้ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบ เท่านั้น การโอนดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ยังไม่เป็นผู้ทรง แม้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วผู้โอนจะได้ทําคำบอกกล่าวให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ทราบถึงการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ ก็หาทําให้เจ้าหนี้ กลับเป็นผู้ทรงโดยชอบไม่ ดังนี้เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชําระหนี้จากกองทรัพย์สินของ ลูกหนี้และไม่อาจนําหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไปหักกลบลบหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นลูกหนี้ได้

 

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ 5-6 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1


เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย อาญา ข้อ 5-6 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1


                        คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยมีมีดถืออยู่ในมือถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน เมื่อผู้เสียวิ่งหนี ผู้ร่วมกระทำผิดดังกล่าววิ่งไล่ตามจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่ ขู่เข็ญ แสดงท่าทีหรือแทงประทุษร้าย จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่

                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่  11865/2554  การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ หากแต่เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าที่โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83


แนวการเขียนตอบข้อสอบ ⭐

1. วางหลัก การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ 

2. วิเคราะห์ ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ การกระทำ

2.1 (ลอก สรุป ข้อเท็จจริงจากข้อสอบป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลย

2.2 ตามพฤติการณ์ ไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป  

       ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์

3. แต่การกระทำของ....  เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83

 


วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ 1 วิชา ทรัพย์-ที่ดิน สมัยที่ 77 ชุดที่2

ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ 1 วิชา ทรัพย์-ที่ดิน สมัยที่ 77 ชุดที่2


                    คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นมายังไม่ครบ 10 ปี หากเจ้าของที่ดินโอนขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นไป โดยผู้ซื้อสุจริต การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับใหม่หรือไม่

                    คำตอบ

                    1.  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นมายังไม่ครบ 10 ปี หากเจ้าของที่ดินโอนขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นไป โดยผู้ซื้อสุจริต  กรณีจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อผู้ซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง

                    2. การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ มีการซื้อที่ดิน เป็นต้นมา เมื่อนับถึงวันที่ ฟ้องคดี เมื่อยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี  จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

                      มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                    คำพิพากษาฎีกาที่   6147/2554  แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3262 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 บริษัท ค. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 จากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนซื้อขายและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อบริษัท ค. ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์



 

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ 1 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1

   เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายแพ่ง ข้อ 1 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1



                    คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จะเริ่มนับเมื่อใด

                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                    คำพิพากษาฎีกาที่  17094/2555  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่

                    เห็นว่า การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งหากครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของบุคคลอื่นแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นของตนเองก็ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น ชอบแล้ว


แนวการเขียนตอบข้อสอบไล่สาย "แบบวิชาแพ่ง" ⭐

1. การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ

2.  ซึ่งหากครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของบุคคลอื่นแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ 

3. แม้จำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นของตนเอง ก็ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382



วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ8 สมัยที่ 77ชุดที่ 2



คำถาม ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญา หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่

.
คำตอบ
1. สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของผู้ค้ำประกัน
2. สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำกับผู้ให้กู้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600
3.เป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
 

มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และจะผ่อนชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยงวดแรกชำระภายในวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 2,854.80 บาท และจำเลยชำระงวดต่อไปภายในวันที่1ของทุกเดือน เดือนละ 2,800 บาท จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญารวม 20 งวด งวดสุดท้ายจะชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเงิน 3,115.52 บาท โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแรก หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือกระทำผิดระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์ทันทีโดยมิต้องรอให้การชำระหนี้รายนี้ถึงกำหนด และต้องใช้ค่าเสียหายต่าง ๆให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 2 และดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้และล่วงพ้นระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเพียง 14 งวด รวมเป็นเงิน 49,594 บาท อันเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วน โดยชำระงวดที่ 14 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ซึ่งมีจำนวนเงินไม่เพียงพอและไม่ตรงตามวันที่กำหนดในตารางกำหนดการชำระเงินท้ายสัญญากู้อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไปอีกเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ส่วนดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของดาบตำรวจพีระพลผู้ค้ำประกันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ปัญหานี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของดาบตำรวจพีระพลจึงยังไม่เกิด สัญญาค้ำประกันเป็นสิทธิเฉพาะของผู้ค้ำประกันไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่า ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของดาบตำรวจพีระพลไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ดาบตำรวจพีระพลทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของดาบตำรวจพีระพลผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
.
หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538 วินิจฉัยไว้ดังนี้
.
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากทางราชการให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของโจทก์และทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์โดยมี ก. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายลงในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาและยังไม่ผิดนัด จึงยังไม่มีหนี้ของ ก. ที่โจทก์จะเรียกให้รับผิดได้ สัญญาค้ำประกันของ ก. ที่ทำไว้ต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาท ก. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
.
มีข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 นั้น ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย

 

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 77 (เล่มที่ 2)


บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค ๑ สมัยที่ ๗๗ (เล่มที่ ๒)


คําถาม ผู้รับจ้างทําหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่ ผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างทั้งหมดเพียงผู้เดียว และต่างมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง ไปยังผู้ว่าจ้างแล้ว หากผู้รับจ้างมีหนังสือถึงผู้ว่าจ้างขอเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากเดิมที่เป็นผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างกลับมาเป็นผู้รับจ้างเช่นเดิม โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ให้บริการส่งวัสดุก่อสร้างทราบ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๕๒/๒๕๖๖ การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ผู้กระทําความผิดจะต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามด้วย

หนังสือบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินแผ่นที่ ๒ มีระบุข้อความไว้ในข้อ ๓ ให้เข้าใจได้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่จําเลยที่ ๑ จะได้รับจากทางราชการตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑/๒๕๖๑ จํานวน ๘,๒๑๐,๐๐๐ บาท ไปเป็นของโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประกันหนี้และ เพื่อชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่จําเลยที่ ๑ มีอยู่แก่โจทก์ หากเงินที่โจทก์ได้รับจากทางราชการไม่เพียงพอแก่การชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง จําเลยที่ ๑ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องชําระให้แก่โจทก์จน ครบถ้วน แต่หากมีส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ก็จะคืนให้แก่จําเลยที่ ๑ ดังนี้ บ่งชี้ว่า เหตุที่โจทก์ยอมส่ง วัสดุก่อสร้างให้แก่จําเลยที่ ๑ นําไปใช้ก่อสร้างตามสัญญาที่ทําไว้กับทางราชการก่อนโดยยังไม่ต้อง ชําระราคาก็เพราะจําเลยที่ ๑ ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่มีอยู่แก่ทางราชการให้แก่ โจทก์ทั้งหมดแล้ว อันเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะได้รับการชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ให้การ สนับสนุนจําเลยที่ ๑ อย่างแน่นอน ฉะนั้น หากจะฟังว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ โดยมีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะไม่โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างให้โจทก์ด้วยการบิดพลิ้ว เปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่เป็นของโจทก์กลับคืนมาเป็นของจําเลยดังเดิม ในภายหลังตามที่โจทก์บรรยายมาในคําฟ้องจริง ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นเพราะจําเลยทั้งสองประสงค์ที่จะได้รับวัสดุก่อสร้างจากโจทก์มาใช้ในการทํางานโดยทุจริตด้วยการไม่ชําระราคา ให้แก่โจทก์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เงินค่าจ้างของจําเลยที่ ๑ อันโจทก์ควรได้รับจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงเป็นเพียงสิทธิของโจทก์มีอยู่เหนือทางราชการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นลูกหนี้ของจําเลยที่ ๑ ในอันจะต้องชําระเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นทรัพย์สินอันจําเลยที่ ๑ ได้ไปจากโจทก์โดยตรงจากผลการหลอกลวงของจําเลยทั้งสองไม่ ทั้งยังถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นทรัพย์สินอันจําเลยที่ ๑ ได้ไปจากทางราชการซึ่งเป็นบุคคลที่สามจากการหลอกลวงโจทก์ เพราะการที่ทางราชการจ่ายเงินค่าจ้างในงวดงานที่ ๔ ถึง ๗ ให้แก่จําเลยที่ ๑ ไปจํานวน ๔,๑๐๕,๐๐๐ บาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากจําเลยที่ ๑ มีหนังสือเปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างกลับคืน มาเป็นของจําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการมาแต่แรกเป็นสําคัญ หาได้มีการหลอกลวง ใด ๆ ไม่ และแม้การกระทําดังกล่าวเป็นการกระทําโดยมิชอบ ทําให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย เพราะการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๑ เกิดขึ้นสําเร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าว ดําเนินการแก่จําเลยทั้งสองเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไป เมื่อเงินค่าจ้างในงวดงานที่ ๔ ถึง ๗ ซึ่งจําเลยที่ ๑ รับไปจากทางราชการ มิใช่ทรัพย์สินที่จําเลยที่ ๑ ได้รับมาจากการที่จําเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์เสียแล้ว การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ไม่เป็นความผิด

 

คําถาม การนําสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าผู้กู้ชําระหนี้ด้วยการโอนเงินหรือ ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนผู้ให้กู้ ว่ามีการชําระเงินกู้ให้แก่ผู้ให้กู้แล้ว ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่

สัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้ผู้กู้ชําระดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ แต่ไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราเท่าใดและเริ่มคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เมื่อใด

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๙๖/๒๕๖๕ จําเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์หรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืน หรือแทงเพิกถอนเป็นพยานหลักฐานในคดี จึงต้องห้ามมิให้นําสืบเรื่องการใช้เงินชําระหนี้กู้ยืม จึงไม่อาจรับฟังคําเบิกความของจําเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานว่า จําเลยชําระหนี้เป็นเงินสด แก่โจทก์เป็นพยานหลักฐานได้ เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวและ ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวห้ามการนําสืบเฉพาะกรณีการใช้เงิน ไม่ห้ามการนําสืบกรณีการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งการนําสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าจําเลยชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง และ ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ (ก)

จําเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ส. เพื่อชําระหนี้แก่โจทก์แล้ว ส. โอนเงิน ดังกล่าวทั้งหมดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยโจทก์ยินยอมรับเงินที่ ส. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของ โจทก์ ซึ่งเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ วรรคหนึ่ง และจําเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ย. ผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนโจทก์ เพื่อชําระหนี้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจําเลยชําระหนี้จํานวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๑๕

หนังสือสัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้จําเลยชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ไม่ได้ตกลงอัตรา ดอกเบี้ยไว้ ซึ่งตามปกติแล้วจําเลยต้องชําระดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ ซึ่งขณะทําสัญญา อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไป ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องเรียกร้อง ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ศาลจึงต้องพิพากษาให้จําเลยชําระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จําเลยผิดนัดเป็นต้นไป ไม่อาจพิพากษาให้จําเลยชําระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ จําเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไปได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคําฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง

คําบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นว่า โจทก์เข้าใจว่าจําเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ครบ กําหนดระยะเวลาตามหนังสือสัญญากู้เงิน แต่ภายหลังจากครบกําหนดเวลาดังกล่าวตามหนังสือ สัญญากู้เงินแล้ว โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับยังยินยอม รับชําระหนี้จากจําเลยโดยไม่อิดเอื้อนถือได้ว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอากําหนดเวลาชําระหนี้ตามสัญญา เป็นสําคัญ ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนจําเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้ว จําเลยยังไม่ชําระหนี้ จึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่ง และมีสิทธิ เรียกร้องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง

โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จําเลยชําระเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จําเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ดังนั้น หากจําเลยไม่ชําระหนี้ภายในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

จําเลยชําระหนี้ให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปแล้วโอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากของ ส. แล้ว ส. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอํานาจรับชําระหนี้แทนโจทก์ ซึ่งเกินกว่าจํานวนเงินต้นตามสัญญาแล้ว ต้องถือว่า จําเลยชําระหนี้เงินต้นให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จําเลยไม่ต้องรับผิดชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ให้แก่โจทก์อีก


คําถาม ได้ที่ดินมือเปล่ามาโดยการส่งมอบการครอบครอง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมหรือไม่ และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจํานองที่ดินดังกล่าว โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ได้หรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๘๔/๒๕๖๖ ผู้ร้องเป็นบุตรจําเลย จําเลยมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖ จําเลยนําที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ไปจดทะเบียนจํานองเพื่อประกันการชําระหนี้กู้ยืมแก่โจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จําเลยชําระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จําเลยไม่ชําระโจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับ คดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ เพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องบรรยายคําร้องขอถึงสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ร้องว่าได้รับการ ยกให้จากจําเลยและมีการส่งมอบให้ผู้ร้องเข้าครอบครองทําประโยชน์โดยการทํานาปลูกพืช หมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์มาเป็นเวลา ๒๔ ปี แล้วก็ตาม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการส่งมอบการครอบครองอันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งหากยังมิได้จดทะเบียนผู้ร้องจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจํานองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีร้องขัดทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๒๓ ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายคําร้องขอโดยชัดแจ้งว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่งอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นด้วย ผู้ร้องจึงจะมีสิทธินําพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้บรรยายคําร้องขอว่าโจทก์รับจํานองที่ดินตามหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือไม่สุจริต หรือไม่ได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนําพยานเข้าสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

คดีจึงต้องฟังว่าโจทก์รับจํานองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ โดยเสีย ค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องจะอ้างสิทธิครอบครอง ในที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ เลขที่ ๓๑ ที่ผู้ร้องได้มาโดยการส่งมอบการครอบครองแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้นขึ้นยันโจทก์ไม่ได้

          ส่วนผู้ร้องฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ไม่อาจนํามาใช้บังคับกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่านั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์มีเพียงสิทธิครอบครอง จึงอาจโอนได้โดยการส่งมอบการครอบครองตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๙ ถึงมาตรา ๑๓๘๐ ก็ตาม แต่เมื่อการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ด้วย 




บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่มที่1 ภาค1 สมัยที่ 77

 บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต  ภาค ๑ สมัยที่ ๗๗ (เล่มที่๑)


คําถาม วางเพลิงเผาโรงเรือนของผู้อื่น มิใช่ของตนเอง จะเป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง นอกจากความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ด้วยหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๔๓/๒๕๖๖ จําเลยวางเพลิงเผาโรงเรือนเลขที่ ๔๑... ของนางสาว ป. ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา จําเลยทําให้เพลิงไหม้โรงเรือนดังกล่าวทั้งหลัง อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนอนและตู้เสื้อผ้า ซึ่งเป็นของผู้เสียหายในโรงเรือนดังกล่าวรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๖๐,๐๐๐ บาท

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยประการแรกว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ อีกบทหนึ่ง หรือไม่

เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทํา ให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ...” บทบัญญัติดังกล่าว หาได้หมายความว่า วัตถุใด ๆ ที่ถูก กระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้นจะต้องเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้เท่านั้น แต่ หมายความรวมถึงวัตถุใด ๆ ของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น วัตถุใด ๆ ที่ถูกกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ไม่ว่าจะเป็นของผู้อื่นหรือเป็นของผู้กระทําให้เกิดเพลิงไหม้ก็เข้าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้ การที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้นั้น ทําให้โรงเรือนของผู้เสียหายไหม้หมดทั้งหลัง ย่อมเห็นได้ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นตามฟ้อง เมื่อ วัตถุใด ๆ ที่จําเลยกระทําให้เกิดเพลิงไหม้เป็นโรงเรือนของผู้เสียหาย การกระทําของจําเลย จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๑๘ (๑) จึงชอบแล้ว

 

คําถาม จดทะเบียนโอนขายที่ดินโดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินดังกล่าวต่อมาจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีอํานาจฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากที่ดิน หรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๓๖/๒๕๖๖ จําเลยยินยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท ให้แก่ น. เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว น. ให้นําที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพักอาศัยไปจํานอง แก่ธนาคารเพื่อนําเงินมาใช้ในการลงทุน โดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง การทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน ระหว่างจําเลยกับ น. นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านย่อมตกเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕

โจทก์ทั้งสองรู้เห็นว่าจําเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับ น. โดยจําเลย เคยเตือนโจทก์ทั้งสองมิให้ทํานิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมบ้านซึ่งจําเลยยังพักอาศัย ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสองกลับทํานิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจาก น. ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริตซึ่งต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวง โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๑๕๕ เมื่อการทําสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและบ้านระหว่างจําเลยกับ น. เป็น โมฆะกรรม น. ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอน ต่อจาก น. ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลย

 

คําถาม สัญญาจํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี แต่ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้อัตรา ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดังนี้ ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานองหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๓/๒๕๖๖ แม้สัญญาจํานองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับ โจทก์จะระบุว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สามารถเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ ก็ตาม แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจาก อ. ร้อยละ ๒ ต่อเดือน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ (๑) มีผลทําให้ข้อตกลงในส่วนของดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องขอบังคับจํานองโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง แต่ศาลเห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนดไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาจํานอง ดอกเบี้ยตามสัญญาจํานองจึงตกเป็นโมฆะ แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ ยังถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์นําคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ยังคงมีสิทธิบังคับจํานองโดยยึดทรัพย์จํานองออกขายทอดตลาดชําระหนี้ต้นเงินที่เหลือ พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันผิดนัดได้

หนังสือสัญญาจํานองที่ดินระบุว่า จํานองเป็นประกันการกู้ยืมเงินและถือสัญญาจํานองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ตกลงนําส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง โดยไม่ได้กําหนดเวลาชําระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทินไว้ โจทก์จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวกําหนดเวลาให้จําเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ชําระหนี้เสียก่อน หากจําเลยไม่ชําระภายในเวลาที่กําหนด จึงจะถือว่าจําเลยผิดนัด

โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจําเลยให้ชําระหนี้ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว จําเลยได้รับหนังสือบอกกล่าววันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จําเลยชอบที่จะชําระหนี้เพื่อไถ่ถอนจํานองภายในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แต่จําเลยไม่ชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าวจําเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าว

 

คําถาม หลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีแล้วโอนเข้าบัญชีบุคคลอื่น โดยไม่มี ข้อความว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้โดยมีพยานบุคคล เบิกความประกอบว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่

คําตอบ มีคําพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๐๖/๒๕๖๕ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสําคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐาน แห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุ อย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจําเลยนั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจําเลยเป็นเงินที่จําเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ จําเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอํานาจฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความเพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชี โจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้



เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ ข้อ ๘ ครอบครัว มรดก สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑

            

เก็ง ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิิชา กฎหมย แพ่ง ข้อ ๘  ครอบครัว มรดก สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๑


                          คำถาม  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง โดยสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง พินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่

                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 11034/2553 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลาย เป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้


แนวการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแพ่งเนติฯ ⭐

1. บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ 

2. ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้

3.  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าว

4. ดังนั้น ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705  ทันที



เก็งแพ่ง เนติ วิชา กฎหมายกฎหมายตั๋วเงิน ข้อ 7 สมัยที่ 77 ชุดที่ 1

      


เทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิชา กฎหมายกฎหมายตั๋วเงิน ข้อ 7 สมัยที่ 77 (เก็ง) ชุดที่ 1


                     คำถาม  ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หากผู้ทรงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้สลักหลังเช็ค ผู้ทรงจะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คหรือไม่

                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  2569/2551  ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็ครวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว

                      คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ ได้อีกหรือไม่

                      เห็นว่า การที่บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว

                       ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด

                        หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500 วินิจฉัยไว้ดังนี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500  การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 - 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 - 2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 - 2  นั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1 - 2 พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป


สกัดหลักไล่สายแนวการเขียนตอบข้อสอบแพ่ง ⭐

 1. ผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 

2. ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อผู้ทรงย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม 

3. เมื่อผู้ทรงทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง

4. ผู้ทรงคงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้สลักหลัง ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สลักหลัง ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก 

5. สิทธิของผู้ทรงที่จะเรียกร้องต่อผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อผู้ทรงในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของผู้ทรงได้ระงับสิ้นไปแล้ว



https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Pang