เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยปัจจุบัน

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เจาะประเด็น เก็ง ท่องพร้อมสอบเนติฯ : แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่ 77(ชุดที่ 1)

เจาะประเด็น เก็ง ท่องพร้อมสอบ

กลุ่มวิชา กฎหมาย แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่ 77 (ชุดที่ 1)


                   คำถาม  ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับ เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างตามที่ชนะการประมูล ถือว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้หรือไม่

                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                  คำพิพากษาฎีกาที่  7790/2554  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จำเลยที่ 1 ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างลานกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยได้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1  ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดส่งวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยกำหนดให้เริ่มทำงานภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2549 แจ้งอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย

                   คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินใช้บังคับได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ขณะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างลานกีฬาให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชนะการประมูลงานก่อสร้างลานกีฬาดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 จึงย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างตามแบบของทางราชการและเริ่มงานก่อสร้างกันเมื่อใด หาใช่สาระสำคัญไม่ เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความลงในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า “ ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว"  พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตราองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย ก็เพียงพอที่จะถือว่าองค์การบริหารส่วนตำรบเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า ขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้


เจาะหลักแนวการเขียนตอบข้อสอบเนติฯ (แพ่ง) ⭐

 1. แม้ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น  เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้าง ก็ตาม 

2.  แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้โอน ชนะการประมูลงานก่อสร้างดังกล่าว  จึงย่อมทำให้ผู้โอน ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303



https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Pang

เก็งอาญา เนติ ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่4

 


ทบทวนประเด็นกฎหมายที่น่าออกสอบ เนติฯ

วิิชา กฎหมาย อาญา ข้อ ๒-๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๔


ประเด็นข้อสอบ ที่ว่า “ประมาท” หรือไม่ ต้องเขียนอธิบาย และพิจารณา ....

          ๑. ภาวะ

          ๒. วิสัย และ

          ๓. พฤติการณ์


ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

          ฎีกาที่ ๑๙๖๑/๒๕๒๘ วินิจฉัยว่า บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่กําลังหนีภัยจากการถูกกลุ้มรุมทําร้ายเช่นจําเลยในขณะนั้น ย่อมจะเกณฑ์ให้มีความระมัดระวังเหมือนอย่างบุคคลธรรมดาย่อมไม่ได้อยู่เอง 


๑. การที่ถูกคนร้ายเอาปืนจ่อหัว คนร้ายสั่งให้ขับรถด้วยความเร็วสูง

         การที่คนขับรถแท็กซี่ถูกคนร้าย เอาปืนจี้หัว สั่งให้ขับรถด้วยความเร็วสูง ในเวลากลางคืน แล้วคนร้ายบังคับคนขับ แท็กซี่ด้วยว่าอย่าเปิดไฟหน้ารถ คนขับรถแท็กซี่คือดำกลัวตาย ก็ทําตามที่คนร้ายสั่ง รถที่คนขับแท็กซี่ขับไปก็ไปชนนายขาว ขาวตาย ภาวะ วิสัยและพฤติการณ์ อย่างนี้ คงจะต้องวินิจฉัยว่า ดำไม่ประมาท


๒. มีคนร้ายวิ่งไล่ตามจะทําร้ายจําเลย จําเลยวิ่งหนี โดยยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า ๑ นัด แล้วปืน ไปลั่นถูกผู้เสียหาย ผู้เสียหายตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จําเลยไม่ประมาท 



คำบรรยายเนติ วิชา กฎหมายอาญา ม.๕๙-๑๐๖ อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๓ สมัยที่ ๗๗



เก็ง เนติ กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่3

                     

เก็ง เนติ กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่ 3


                     คำถาม  สามีเห็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนอนหนุนตักชายอื่นและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน สามีใช้มีดแทง จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่กระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน โดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อ จ. ก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิ แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72


แนวการเขียนตอบข้อสอบเนติฯ ⭐

1. ประเด็น ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

           ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อภริยา ก็เป็นไปโดย ภริยาสมัครใจยินยอม 

          ดังนั้น พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำต้องกระทำเพื่อป้องสิทธิ ตามมาตรา ๖๘


2. ประเด็น อ้างบันดาลโทสะ ได้หรือไม่

         แต่การกอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อสามีเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของสามีที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่เข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา 

       การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72


https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Aya


วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เก็ง เนติ ภาค1 กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77 ชุดที่ 2

 

เก็ง เนติ ภาค ๑ กลุ่มอาญา 

ข้อ ๒- ๓ สมัยที่ ๗๗ ชุดที่ ๒

---------------------


ประเด็น : บิดา “ฆ่า” บุตรผู้เยาว์เป็นการ “ฆ่า” โดย “งดเว้น” โดยมี “บุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดด้วย”

ตัวอย่าง นายแดงและนางขาววางแผนฆ่าเด็กหญิงดําบุตรผู้เยาว์ของนายแดง แต่ยังหาโอกาสไม่ได้ วันหนึ่งนายแดงและนางขาวไปเดินเที่ยวเล่นด้วยกัน เห็นเด็กหญิงดําซึ่งพลัดตกลงไปในสระน้ำกําลังจะจมน้ำตาย นายแดงและนางขาวช่วยได้ แต่ไม่ช่วยเมื่อเห็นนายเขียวพลเมืองดีเดินมา นางขาวก็หลอกให้เดินไปทางอื่น ในที่สุด เด็กหญิงดําก็จมน้ำตาย

ดังนี้ นายแดง “ฆ่า” เด็กหญิงดํา เป็นการฆ่าโดยการกระทำโดย “งดเว้น” (ไม่ต่างไปจากใช้ปืนยิงเด็กหญิงดํา) จึงมีความผิดตามมาตรา ๒๘๙ (๔) โดยนางขาว มีความผิดฐานเป็น “ตัวการ” ตามมาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๓ (หมายเหตุ นอกเหนือไปจากความผิดฐานไม่ช่วยตามมาตรา ๓๗๔ ซึ่งเป็นการกระทำโดย “ละเว้น”)

ข้อสังเกต แม้นางขาวจะมิใช่มารดาของเด็กหญิงดํา นางขาวก็เป็น “ตัวการ" ในความผิดตามมาตรา ๒๘๙ (๔) ได้ ตามหลักที่ว่า “ตัวการอิงความผิดของผู้ลงมือ”


 คำบรรยายเนติ วิชา กฎหมายอาญา ม. ๕๙ - ๑๐๖  อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๒  สมัยที่ ๗๗

https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Aya

เก็งเนติ ภาค1 กลุ่มอาญา ข้อ 2-3 สมัยที่ 77

 

เก็งเนติ ภาค1 กลุ่มอาญา สมัยที่ 77

 ข้อ 2-3 


กระทำโดย “ประมาท” (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่) + การกระทำโดยงดเว้น

กรณีที่เป็นการกระทำโดย “ประมาท” (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่) เช่น มาตรา ๓๐๐ ธงคำตอบ เนติฯ สมัย ๗๒ ข้อ ๓ มีข้อความ ดังนี้

นางสาวหนึ่งและนางสาวสองรับหน้าที่เป็นคนดูแลเด็กหญิงมะลิ จึงมีหน้าที่ โดยเฉพาะที่จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กหญิงมะลิได้รับอันตราย การร่วมกันเล่มเกมทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทำให้เด็กหญิงมะลิคลานไปตกท่อนํ้าข้างสนามหญ้าได้รับอันตรายสาหัส เป็นการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้อง กระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคท้าย เมื่อเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคล ในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ ทั้งสองคนจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตามมาตรา ๓๐๐ โดยถือว่าต่างคนต่างประมาท มิได้เป็นตัวการร่วมกัน เพราะมิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา

หลักเกณฑ์ที่สําคัญของการกระทำโดยงดเว้น คือ ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำและหน้าที่นั้นจะต้องเป็นหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องกระทำาเพื่อป้องกันมิให้เกิดผล ซึ่งเกิดขึ้นนั้น


ข้อสังเกต เวลาตอบข้อสอบ* อย่าตอบว่า ผิดฐานงดเว้น


ประเด็นที่น่าสนใจ

บิดาเห็นบุตรผู้เยาว์ของตนกําลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น บิดาสามารถห้ามปรามและ “ลงโทษ” บุตรผู้เยาว์ของตนได้ แต่ไม่สนใจใยดี (เน้น*)

ในกรณีเช่นนี้ หากบุตรผู้เยาว์มีความผิด เช่น มาตรา ๒๙๕ ก็อาจต้องถือว่า บิดาผิดฐานทำร้ายร่างกายบุคคลที่สามด้วย (ถ้าบิดา “เจตนา” ก็ผิดมาตรา ๒๙๕ ถ้า “ประมาท” ก็ผิดมาตรา ๓๙๐) เพราะ “งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

 ข้อสังเกต

๑.) “ผล” ตามมาตรา ๒๙๕ และมาตรา ๓๙๐ คือ “อันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น”

๒.) “จักต้อง กระทำ” หมายความว่า “มีหน้าที่ต้องห้ามปราม” เพราะ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๗ (๒) ให้อํานาจบิดา “ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน”

 ดังนั้น เมื่อบิดาไม่สนใจ ใยดีห้ามปรามและลงโทษบุตรผู้เยาว์ของตน ปล่อยให้ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อหน้าต่อตา บิดาก็ผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย แต่เมื่อบิดาไม่มี “เจตนา” ก็ไม่ผิด มาตรา ๒๙๕ แต่อาจถือว่า “ประมาท” และผิดมาตรา ๓๙๐ ได้


https://www.lawsiam.com/?name=Thaibar1-Aya



เก็งเนติ อาญา ข้อ 4 กฎหมายอาญา "อัังยี่ ซ่องโจร" สมัยที่ 77

 

 เก็งเนติ อาญา ข้อ 4 กฎหมายอาญา สมัยที่ 77


 หลักกฎหมายที่ต้องท่องจำ

ความผิดฐานเป็น อัังยี่ ซ่องโจร

อัังยี่ 

๑. การมีบุคคลตั้งแต่ ๒ คน ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว 

๒. ปกปิดวิธีดําเนินการ หมายถึง ปกปิดไม่ให้ทราบว่ามีวิธีการดําเนินการอย่างไร เหตุผลที่ต้องปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ นอกจากหมู่คณะของตนก็เพราะว่ามีความมุ่งหมาย เพื่อที่จะกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๔/๒๕๕๗ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการและมีความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นช่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๐ เป็นขั้นตอนการกระทําความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทําความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทําแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม


คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๘๐/๒๕๕๖  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจร ย่อมเป็นความผิดสําเร็จแล้ว ตั้งแต่มีการสมคบวางแผนเพื่อกระทําการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทําการตามที่ได้สมคบกันก็ตามจึงเป็นการกระทําความผิดกรรมหนึ่ง เมื่อต่อมาจำเลยกับพวกวางแผนการอย่างใด ๆ เพื่อก่อความไม่สงบสุขร่วมกันดักซุ่มยิงทหารชุดคุ้มครองครูจึงเป็นเจตนาอีกอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังแยกออกจากกัน การกระทําความผิดฐานพยายาม ฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง


ความผิดฐานซ่องโจร 

๑. การกระทํา ได้แก่ การสมคบกันตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๐/๒๕๓๔ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปคบคิดประชุมหารือร่วมกัน และตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ แห่ง ป.อ. และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยการประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไรเป็นข้อสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร ได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้และเสียทรัพย์พนัน แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหนเมื่อใด และได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใดหรือไม่ จึงจะลงโทษจำเลยฐานเป็นซ่องโจรมิได้

 

หากได้ความเพียงว่ามีกลุ่มคนร้ายวัยรุ่น จะเข้ามาชิงหรือปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองกําแพงเพชรเท่านั้น แต่โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้คบคิดร่วมกันประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใดและได้ตกลงกันจะกระทําความผิดอย่างใดหรือไม่  หากโจทก์สามารถพิสูจน์ในส่วนนี้ได้ ศาลจึงจะลงโทษจำเลยฐานซ่องโจรได้ (ฎีกาที่ ๓๒๐๑/๒๕๒๗)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๐๑/๒๕๒๗ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น การประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไร เป็นข้อสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่


     ๒. การสมคบกันนั้นต้องเป็นการสมคบกันระหว่างผู้ที่เป็นตัวการร่วมกัน จำนวน ๕ คน ไม่ใช่กับบุคคลภายนอก

หากรวมกันแล้วไม่ถึง ๕ คน ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้เช่นกัน เช่น การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตํารวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตํารวจ มีลักษณะเป็นการกระทําต่อบุคคลภายนอก เป็นต้น


๓. ความผิดที่สมคบกันเพื่อกระทําความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ในประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิด ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑ ปี ขึ้นไป ด้วย

ดังนั้น หากเป็นฐานความผิดที่อยู่ในภาค ๓ ลหุโทษ ก็ไม่เข้า หรือเป็นฐานความผิด อยู่ในภาค ๒ แต่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง ๑ ปี ก็ไม่เข้าเกณฑ์เช่นกัน ในส่วนนี้ จึงทําให้ความผิดฐานซ่องโจรต่างจากความผิดฐานอั้งยี่ เพราะความผิดฐานอั้งยี่ ไม่ได้จำกัดว่าความผิดอาญาดังกล่าวต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดเท่านั้น 


วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

        ทนายความจะมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ได้หรือไม่?

          ฎีกาที่ ๔๒๖/๒๕๑๒ จําเลยที่ ๒ เรียงคําฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของ ทนายความ ข้อความที่ปรากฏในคําฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคําบอกเล่าของจําเลยที่ ๑ (ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นําสืบ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คําฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ จําเลยที่ ๑ หาใช่จําเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคําฟ้องตามคําบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่


        แต่หากทนายความรู้เห็นร่วมกันกับผู้เสียหาย ทนายก็อาจเป็นตัวการร่วม ฟ้องเท็จได้

        ฎีกาที่ ๑๙๙๘๐/๒๕๕๕ การเป็นทนายความผู้เรียงคําฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทําความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทําไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

 

            ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓  เป็นความผิดสําเร็จ เมื่อใด?

     ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ เป็นความผิดสําเร็จทันที เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความ (ฎีกาที่ ๑๐๗๖/๒๕๕๑)



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?

 

         แจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” แต่บุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด มีความผิดฐานใดหรือไม่?


        การแจ้งความเพียงว่า “สงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิด” ยังไม่พอฟัง ว่ามีเจตนาแกล้งให้ผู้ต้องสงสัยรับโทษ

        ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าบุคคลใดกระทําความผิด ต้องใช้คําว่า “สงสัย” มิใช่ยืนยันว่าบุคคลนั้นการกระทําผิด (เน้น**)

        ฎีกาที่ ๑๔๒๔/๒๕๕๔ ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจําเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จําเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสาร คือ โจทก์ โดยจําเลยแจ้งความเพียงว่าจําเลยสงสัยโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจําเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืน มีความผิดฐานใด?

 

      ฎีกาที่ ๕๙๘/๒๕๓๖ สมัครใจร่วมประเวณีแต่ไปแจ้งว่าถูกข่มขืนกระทําชําเรา เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๑๘๑

 

ข้อสังเกต

        ๑. ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๗๔**ป็นการกระทําในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทําความผิดที่มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทําต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ตามมาตรา ๑๘๑ (๑)

 

        ๒. ข้อเท็จจริงมักมีการแจ้งความดําเนินคดีเช่นนี้บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อในทางพิจารณาฟังได้ว่าฝ่ายหญิงยินยอมร่วมประเวณี ฝ่ายหญิงก็เป็นผู้กระทําความผิดตามมาตรานี้



อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74