เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักกฎหมาย ฟ้องซ้ำ (มาตรา ๑๔๘)

ฟ้องซ้ำ (มาตรา ๑๔๘)
 
การฟ้องซ้ำมีขึ้นเพื่อมิให้คู่ความคือ เป็นโจทก์และเป็นจำเลยในคดีเดียวกันนำเรื่องที่เคยพิพาทกันนั้นมาฟ้องร้องกันอีกไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ฟ้อง เพราะจะทำให้เสียเวลาแก่คู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและต่อศาลเพราะมีคดีอยู่ในศาลมากมายโดยไม่จำเป็น
                ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฟ้องซ้ำ มีดังนี้
              ๑ หลักเกณฑ์ฟ้องซ้ำ มีดังนี้
๑.๑ คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว  (มาตรา ๑๔๗) มี ๓ กรณี คือ
                                               ๑.๑.๑ มีกฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด หรือบัญญัติว่าห้ามอุทธรณ์ฎีกาต่อไป – คำพิพากษาจะถึงที่สุด ตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง
                                               ๑.๑.๒ ถ้าคำพิพากษานั้นไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ย่อมถึงที่สุด – คำพิพากษาจะถึงที่สุดเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะอุทธรณ์ หรือฎีกา หรือจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ หากจะนำมายื่นฟ้องใหม่ จะกลายเป็นฟ้องซ้ำ
                                               ๑.๑.๓ ถ้ามีอุทธรณ์หรือฎีกาหรือีคำขอให้พิจารณาใหม่ – และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา หรือศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้นใหม่ มีคำสั่งจำหน่ายคดี กรณีนี้คดีจะถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลสั่งจำหน่ายคดี
                                ๑.๒ คู่ความทั้งสองเป็นคู่ความรายเดียวกัน – แม้จะเปลี่ยนฐานะเป็นโจทก์จำเลย คือเป็นคู่ความกลับกัน ก็ต้องถือว่าเป็นคู่ความเดิมนั่นเอง แต่หากเป็นกรณีจำเลยร่วมฟ้องจำเลยร่วมอีกคนหนึ่งด้วยกันเอง ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๔๖/๒๕๔๕ – ฟ้องซ้ำเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้โจทก์จำเลยซึ่งฟ้องร้องกันและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีก ข้ออ้างของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องรายเดียวกับที่โจทก์และจำเลยถูก ส ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกัน ถือว่าไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓๒/๒๕๑๐ – คดีแรกจำเลยฟ้องขับไล่บิดาโจทก์กับบริวารออกจากที่พิพาทโดยอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีที่สองโจทก์ซึ่งเป็นบริวารของจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์ในที่ดินพิพาทนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคู่ความในคดีทั้งสองมิใช่เป็นคู่ความเดียวกัน
                             ๑.๓ รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน – ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว หากว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี โจทก์มีสิทธิฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ คดีที่ยังไม่วินิจฉัยชี้ขาด เช่น คำสั่งจำหน่ายคดี คำสั่งไม่รับฟ้อง คำสั่งยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม เป็นต้น
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๒๕/๒๕๑๑ – กรณีศาลวินิจฉัยประเด็นในฟ้องซึ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัย เป็นการวินิจฉัยเกินเลยไป ยังไม่ถือว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นอื่น โจทก์จะนำประเด็นนั้นมาฟ้องอีกได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๗๓/๒๕๓๕ – ยกฟ้องเพราะเหตุพยานหลักฐานเกี่ยวกับอำนาจฟ้องไม่พอรับฟัง ไม่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี หากจะฟ้องใหม่ไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำ
 
เหตุแห่งการวินิจฉัยต้องเป็นเหตุอย่างเดียวกัน ถ้าคนละเหตุหรือมูลคดีต่างกัน ไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๙๔/๒๕๓๖ – เดิมโจทก์ฟ้องชำระหนี้ตามสัญญากู้แล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เพราะเหตุจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา ถือเป็นฟ้องซ้ำ เพราะหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เพียงแต่เป็นหลักฐานยืนยันว่าจะชำระหนี้เงินกู้ ไม่ใช่การสร้างหนี้ใหม่ แต่เป็นการทำหลักฐานเพื่อยืนยันว่าจะชำระหนี้เดิมเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๔/๒๔๙๐ – การที่ศาลงดสืบพยาน เพราะโจทก์ขอเลื่อนคดีโดยไม่มีเหตุสมควร จนศาลยกฟ้องโจทก์ โจทก์จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกไม่ได้ ถือเป็นฟ้องซ้ำ
                .๒ ข้อยกเว้นที่ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
                                ๑.๒.๑ การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล – กระบวนพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีในการบังคับคดี ซึ่งอาจซ้ำกับการพิจารณาคดีตอนแรก ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
                                ๑.๒.๒ ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวไว้ให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ – เช่น การกำหนดค่าเสียหายเกี่ยวกับละเมิด หรือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกรณีบิดามารดาหย่าร้างกัน ค่าเลี้ยงชีพ เป็นต้น

                                .๒.๓ ในกรณีที่ศาลยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ยื่นฟ้องใหม่ – แม้ผลจากการสืบพยานได้ความว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง แต่โจทก์ฟ้องผิดมาตรา หรือขอท้ายฟ้องไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้บังคับตามท้ายฟ้องไม่ได้ ศาลจะพิพากษายกฟ้องไปแต่เพียงอย่างเดียวโดยจะไม่พิพากษาต่อไปว่าตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 6245-6246/2555

        คำพิพากษาฎีกาที่ 6245-6246/2555 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดอีก แม้จะเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอของโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในทางไม่จำหน่ายคดีและให้ดำเนินคดีต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2559

     คำพิพากษาฎีกาที่ 5746/2559 ป.พ.พ.มาตรา 572 วรรคสองบัญญัติให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ หมายถึงผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่ายสัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
      เมื่อขณะคู่สัญญาเช่าซื้อทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมีกรรมการของบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทซึ่งไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นสัญญาจึงเป็นโมฆะ แม้ต่อมาโจทก์จะได้ยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อด้วยการใช้ตราประทับในชื่อใหม่ของโจทก์มาประทับในสัญญาเช่าซื้อก็ไม่อาจถือว่าโจทก์ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลย อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นโมฆะกลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้ เพราะโมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 172 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะจำเลยย่อมไม่มีเหตุจะยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ไว้โดยไม่มีมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย จำเลยต้องคืน ทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งตามมาตรา 172 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่ต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าในขณะทำสัญญาทั้งโจทก์และจำเลยทราบว่าสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ทำเป็นหนังสือเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ในขณะทำสัญญา โจทก์จึงรับเงินเป็นค่าเช่าซื้อและจำเลยรับทรัพย์ที่เช่าซื้อไว้โดยสุจริต โจทก์จำต้องคืนเงินให้จำเลยเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามมาตรา 412 และจำเลยจำต้องคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียงบางส่วนไม่คุ้มกับเงินที่โจทก์ลงทุน จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่เหลือเงินที่จะคืนแก่จำเลยในขณะเรียกคืน ส่วนจำเลยต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์