เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 52927 ของโจทก์ และขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ของโจทก์ที่โจทก์เพิ่งซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินมาโดเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยอย่างไรและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย โดยโจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังกล่าวอีก เพราะถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา 146 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น

คดีที่ร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคล (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 เบญจ)

คดีที่ร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคล
 
          มาตรา 4 เบญจ   "คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล"

คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา)

  คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
 
          มาตรา 4 จัตวา   "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
          ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล"
          คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกผู้ร้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลหนึ่งศาลใดดังนี้
          (1) ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในเขตศาลใด และถ้าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาหลายแห่งก็สามารถเลือกยื่นต่อศาลที่มีภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้
          (2) กรณีเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ต้องยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2539  แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดพิจิตรและผู้ตายถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตร แต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันถึง 4 คนที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งผู้ตายได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการ แสดงว่าผู้ตายมีบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย
          เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อไป

คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี)

  คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร
 
          มาตรา 4 ตรี   "คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
          คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้"

         

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักกฎหมาย ฎีกาเด่น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ)

คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          มาตรา 4 ทวิ   "คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
          ถ้าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์แล้ว การยื่นฟ้องก็เป็นไปตามมาตรา 4 ทวิ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 4 คือให้ยื่นฟ้องที่
          (1) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือ
          (2) ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
          คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า คดีที่การใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องบังคับหรือพิจารณาเกี่ยวด้วยตัวอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เป็นการฟ้องบังคับที่ตัวอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะต้องถูกบังคับตามคำขอนั้นด้วย เช่น ฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน ฟ้องบังคับจำนอง ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น คือ ทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2514   ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เสนอคำฟ้องต่อศาลที่บ้านพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2517   คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527   โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ มิใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินเป็นของจำเลย และตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่ดินที่พิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2532   การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงสิทธิที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำนอง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่จำนองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2532  คดีฟ้องให้ส่งมอบที่ดินตามสัญญาซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2534  โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืน กับเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลยเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ดังกล่าว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2537   ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 1 นำน.ส.3 ก. และ น.ส.3 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อนำออกขายเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำ น.ส.3 ก. และ น.ส.3ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 แล้วยักยอกเงินค่าที่ดินเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น คำฟ้องส่วนนี้มิใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา4 ทวิ แต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2542  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยด้วย คำฟ้องบังคับจำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 ทวิ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551  การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พ.พ. ม.241, ม.472)