เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาค่าฤชาธรรมเนียม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559)

ค่าฤชาธรรมเนียมแม้คู่ความไม่ขอมา ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งไว้ในคำพิพากษา
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 6,000 บาท แทนโจทก์ โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอื่น เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 (เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552 ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560  โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง