เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฎีกาที่ดิน ส.ป.ก. (ฎีกาที่ 8222/2553 ,ฎีกาที่ 1417/2542)

ที่ดิน ส.ป.ก.
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553  พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2542 ก่อนทำสัญญาซื้อขายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโครงการกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วในวันนั้นเองโจทก์ก็ได้ไปยื่นคำขอทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาทต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อขอรับหนังสืออนุญาต ให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินอันอาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ดังเช่น ที่ดินมีโฉนด การที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครองและกำลังดำเนินการขอรับหนังสือ อนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีเจตนาให้จำเลยโอนการครอบครอง ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะสวมสิทธิของจำเลยไปดำเนินการขอออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินในนามของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างว่าการที่จำเลยไม่สามารถ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ได้เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย หาได้ไม่

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาข้อกำหนดในพินัยกรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558)

       ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น เป็นกรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558   ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
          แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

คำวินิจฉัยที่ 13/2560 (กฎหมายปกครอง)

การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ว่าใครมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

          คำวินิจฉัยที่ 13/2560 คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม