เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551 พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย
          เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อไป

คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี)

  คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร
 
          มาตรา 4 ตรี   "คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
          คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้"

         

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักกฎหมาย ฎีกาเด่น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ)

คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          มาตรา 4 ทวิ   "คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
          ถ้าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์แล้ว การยื่นฟ้องก็เป็นไปตามมาตรา 4 ทวิ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 4 คือให้ยื่นฟ้องที่
          (1) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือ
          (2) ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
          คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า คดีที่การใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องบังคับหรือพิจารณาเกี่ยวด้วยตัวอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เป็นการฟ้องบังคับที่ตัวอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะต้องถูกบังคับตามคำขอนั้นด้วย เช่น ฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน ฟ้องบังคับจำนอง ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น คือ ทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2514   ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เสนอคำฟ้องต่อศาลที่บ้านพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2517   คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527   โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ มิใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินเป็นของจำเลย และตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่ดินที่พิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2532   การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงสิทธิที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำนอง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่จำนองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2532  คดีฟ้องให้ส่งมอบที่ดินตามสัญญาซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2534  โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืน กับเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลยเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ดังกล่าว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2537   ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 1 นำน.ส.3 ก. และ น.ส.3 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อนำออกขายเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำ น.ส.3 ก. และ น.ส.3ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 แล้วยักยอกเงินค่าที่ดินเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น คำฟ้องส่วนนี้มิใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา4 ทวิ แต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2542  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยด้วย คำฟ้องบังคับจำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 ทวิ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551  การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พ.พ. ม.241, ม.472)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559 คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
         จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
       การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559

       คำคัดค้านไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559 คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

หลักเขตอำนาจศาลในคดีแพ่ง (ป.วิแพ่ง มาตรา 4(1)(2))



หลักทั่วไปใช้ภูมิลำเนาและมูลคดีเป็นที่เสนอคำฟ้อง
          มาตรา 4   "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
          (1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
          (2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
          คำฟ้องต้องยื่นต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล กรณีที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่งหรือมีมูลคดีเกิดขึ้นหลายแห่ง ก็สามารถฟ้องที่ศาลใดศาลหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็ได้  ส่วนคำร้องขอ ให้ยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2540  จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศ และจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546   คำว่า "มูลคดีเกิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2546 (ประชุมใหญ่)  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คำว่า มูลคดี หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า ในทางบัญชีหลังจากจำเลยได้ทำสัญญาและรับบัตรเครดิตไปจากโจทก์จำเลยใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการหลายครั้งหลายหน ประกอบสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตกรุงไทยเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ที่ระบุว่า สถานที่รับบัตรเครดิตคือธนาคารกรุงไทย สาขาหนองคาย มิใช่ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ ดังนั้นการอนุมัติและการออกบัตรเครดิตจึงเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติระหว่างโจทก์สำนักงานใหญ่กับสาขาหนองคาย เมื่อจำเลยทำสัญญาและรับบัตรเครดิตจากโจทก์สาขาหนองคายอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการจนเป็นเหตุพิพาทซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิและมูลหนี้ตามฟ้อง หากปราศจากเหตุและขั้นตอนสุดท้ายดังกล่าวเสียแล้วโจทก์จำเลยย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่อกัน เช่นนี้ มูลคดีนี้มิได้เกิดในเขตศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2548  โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาจ้าแรงงานเพื่อว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร โดยทำสัญญาและก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ตามมูลหนี้ค่าก่อสร้างเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานถือว่ามูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลหนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550   ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2542   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลคดีเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่า ซ.เป็นคนไร้ความสามารถและให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล ซ.เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องและคำร้องที่ขออนุญาตให้พิจารณาคดีในศาลที่มูลคดีเกิดว่า ซ.เกิดที่กรุงเทพมหานครและมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซ.ป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้เป็นบุคคลวิกลจริต อาการวิกลจริตและความบกพร่องทางสมองและสติปัญญาของ ซ.มีอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ดังนี้เมื่อ ซ.อยู่ในประเทศไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครเหตุแห่งการวิกลจริตซึ่งเป็นมูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงชอบที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะรับคำร้องขอไว้พิจารณาต่อไป

หลัก ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕

            การจะนำคดีขึ้นสู่ศาลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ได้กำหนดให้บุคคลที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาล มี ๒ ประเภท คือ
๑. บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิ และ
๒. บุคคลที่ต้องใช้สิทธิในทางศาล
 
๑. กรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิ – เป็นคดีมีข้อพิพาท หมายถึง กรณีที่บุคคลฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิเหนือบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งบุคคลฝ่ายหลังปฏิเสธสิทธิของบุคคลฝ่ายแรก หรือกล่าวอ้างสิทธิใหม่ของตน การจะถือว่าโต้แย้งสิทธิได้นั้นไม่จำต้องเป็นการโต้แย้งสิทธิชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการขัดแย้งกันในประโยชน์ตามกฎหมายที่คู่ความยืนยันว่ามีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุน และไม่จำต้องมีวัตถุที่จับต้องได้ก่อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๕/๒๕๓๙ -  การฟ้องเท็จ แจ้งความเท็จ ไม่เป็นความผิดเพราะการวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๕/๒๔๙๓ – การโต้แย้งสิทธินั้นจะต้องมีอยู่ในขณะนั้น ถ้ามีอยู่ก็ฟ้องได้ แม้ในระหว่างพิจารณา สิทธิของโจทก์จะระงับไปก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เสีย
 
ถ้าตามพฤติการณ์แห่งคดีหรือตามคำฟ้องหรือคำให้การ ปรากฏว่าจำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสิทธิในการฟ้องยังไม่เกิดขึ้น (มาตรา ๕๕) จึงนำคดีขึ้นฟ้องศาลไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒๓/๒๕๕๑ – แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพียงแต่โจทก์คิดว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิ ก็เรียกได้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว โจทก์ก็มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๕๗/๒๕๔๖ – ข และ ค แจ้งต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียนว่า ง เป็นบุตรของตน เจ้าหน้าที่จึงออกสูติบัตรให้ ก ฟ้องว่าตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ข และ ค แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียน การแจ้งข้อความเท็จไม่มีข้อความตอนใดพาดพิงถึงโจทก์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
 
การจะนำคดีมาสู่ศาล ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจะต้องพิจารณากฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยว่ากำหนดขั้นตอนไว้หรือไม่ ถ้ามีต้องทำการขั้นตอนนั้นก่อน มิฉะนั้นจะไม่มีอำนาจนำคดีมาสู่ศาล เช่น กรณีฟ้องเรียกเงินปันผล แต่ยังไม่ได้ชำระบัญชีกัน (ฎีกา ๓๕๓๐/๒๕๓๗) โจทก์ไม่อุทธรณ์การประเมินก่อนเพิกถอนการประเมิน (ฎีกา ๑๒๖๒/๒๕๒๐)
 
เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิมีสิทธิ (ฎีกา ๗๔๘/๒๕๔๗) นำคดีขึ้นสู่ศาลได้โดยเลือกที่จะฟ้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าจะฟ้องก็ทำคำฟ้องเสนอต่อศาลชั้นต้น ฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิของตนเป็นจำเลยและตนเองก็เป็นโจทก์ เรียกว่า เป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในเวลายื่นฟ้องตามทุนทรัพย์
 
การฟ้องศาลต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย หากฟ้องทำให้อีกฝ่ายเสียหายโดยมิชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา ๔๒๐ – ๔๒๑
 
 
๒. เมื่อบุคคลจะใช้สิทธิทางศาล – บุคคลนั้นมีสิทธิอยู่แล้วตามกฎหมายและจำต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ หรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ บุคคลนั้นต้องขออนุญาตหรือให้ศาลแสดงหรือรับรองสิทธิของตนเสียก่อน กรณีนี้จัดเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ผู้ที่จะมาร้องในกรณีนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนให้ผู้ร้องนั้นร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เช่น การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก(ฎีกา ๘๖๒-๘๖๔/๒๕๒๕) การร้องขอสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่า (ฎีกา ๑๑๓๒/๒๔๙๕) การร้องขอกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกรณีครอบครองปรปักษ์(ฎีกา ๑๑๕๐/๒๕๑๗)
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๙/๒๕๒๗ – การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องไม่จำต้องเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ในขณะยื่นคำร้อง แต่ผู้ร้องจะต้องได้สิทธิมาก่อนนั้นเรียบร้อยแล้ว
 
มาตรา ๕๕ มิได้กำหนดให้การใช้สิทธิทางศาลต้องมีกฎหมายกำหนด การขอให้ศาลแสดงสิทธิโดยไม่มีกฎหมายบอกให้ไปใช้สิทธิก็น่าจะทำได้ แต่จะทำให้คดีขึ้นสู่ศาลมากเกินควร เช่น การจะจดทะเบียนรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและบุตร เมื่อทั้งคู่ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ (ฎีกา ๒๔๗๓/๒๕๔๕)
 
การใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพราะไม่มีจำเลย ผู้ร้องต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยยื่น “คำร้องขอ” ต่อศาลโดยเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ ๒๐๐ บาท แต่หากมีผู้ร้องคัดค้าน ศาลต้องดำเนินคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท โดยถือว่า ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยและให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อไป
 
 
๓. สิทธิของบุคคลในการดำเนินคดี – สิทธิที่จะดำเนินคดีทางศาล มีได้แต่เฉพาะบุคคลเท่านั้นซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ผู้ที่ไม่ใช่บุคคลจะฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้ เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าถึงไม่ใช่บุคคลก็สามารถฟ้องได้ เช่น กองมรดก ตำแหน่งหน้าที่ราชการ นิติบุคคลนั้นต้องฟ้องในชื่อของนิติบุคคล มิใช่ผู้กระทำการแทนนิติบุคคล (ฎีกา ๗๓๔/๒๕๐๒) สุเหร่าของอิสลามไม่เป็นนิติบุคคล จะฟ้องไม่ได้ (ฎีกา ๖๒๔/๒๔๙๐) แต่มัสยิดอิสลามที่ก่อตั้งขึ้นแล้วถือเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม มีอำนาจตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้
                ๓.๑ ใช้ตำแหน่งราชการดำเนินคดี – หมายถึงคนธรรมดาเพราะเป็นคนจึงมีสิทธิครอบครองสถานภาพนั้นได้ เมื่อเป็นบุคคลจึงฟ้องหรือถูกฟ้องได้ แม้ว่าบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้นได้ย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว คำฟ้องนั้นก็ยังคงอยู่ สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนที่ต่อไปได้ แต่การฟ้องคดีจะนำตำแหน่งหน้าที่มาฟ้องไม่ได้เสมอไป ต้องมีกฎหมายบัญญัติอำนาจไว้เป็นกรณีพิเศษ
                คำพิพากษาฎีกา ๗๗๒/๒๕๐๓ – แม้ปลัดจะเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมเป็นบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด
 
รัฐบาลไม่ถือเป็นนิติบุคคล (ฎีกา ๗๒๔/๒๔๙๐) กระทรวงกลาโหมถือเป็นนิติบุคคล แต่กรมข่าวทหาร กรมยุทธการทหาร กรมพระธรรมนูญ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
 
จังหวัด เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบลเป็นนิติบุคคล ส่วนอำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
กรณีฟ้องผู้ที่ไม่ใช่บุคคล อาจถูกยกฟ้องได้ เพราะถือว่าไม่มีคู่ความที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องได้ และคู่ความไม่สามารถทำการโต้แย้งสิทธิได้
                ๓.๒ ผู้ไร้ความสามารถดำเนินคดี – บุคคลผู้ฟ้องคดีหรือดำเนินคดีต้องมีความสามารถในการฟ้องด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลผู้ไม่มีความสามารถจะเป็นโจทก์ไม่ได้ กรณีผู้ไร้ความสามารถฟ้องคดีต่อศาล จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะเข้าดำเนินคดีแทนเสียเองก็ได้
                คำพิพากษาฎีกา ๖๒๓/๒๕๑๙ – โจทก์เป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม โจทสามารถฟ้องศาลต่อได้ เพียงแต่การฟ้องนั้นบกพร่องเรื่องความสามารถ สามารถแก้ไขได้ตามมาตรา ๕๖ แต่หากในชั้นฎีกา โจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่จำต้องแก้ไข
ผู้ไร้ความสามารถ ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาล ตัวความหรือคู่ความฝ่ายตรงข้ามอาจร้องขอให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา ๕๖ ได้
กรณีผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จะเข้าฟ้องหรือดำเนินคดีแทนไม่ได้ ผู้พิทักษ์มีอำนาจเพียงแต่ให้ความยินยอมเท่านั้น ผู้เสมือนไร้ความสามารถต้องทำนิติกรรมหรือดำเนินคดีเอง หากผู้พิทักษ์จะดำเนินคดีต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้เสมือนไร้ความสามารถเสียก่อน
การตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ใช้ได้ทั้งผู้เยาว์และคนวิกลจริต หากไม่มีผู้แทนหรือมีผู้แทนแต่ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ผู้ไร้ความสามารถก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาล ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้อนุญาตหรือให้ความยินยอมตามที่ขอมา หรือตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ ในกรณีมีผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ไม่ให้ความยินยอมหรืออนุญาตหรือไม่เข้าดำเนินคดีแทน ศาลจะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ (มาตรา ๕๖ วรรคท้าย) ศาลต้องรอคดีไว้แล้วแจ้งอัยการ หรือญาติของผู้เยาว์ให้ร้องขอถอนอำนาจผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
กรณีไร้ความสามารถระหว่างดำเนินคดี ศาลอาจสั่งสอบสวนความสามารถหรือคู่ความอีกฝ่ายอาจร้องขอหรือตัวผู้ไร้ความสามารถอาจร้องขอโดยทำเป็นคำร้อง และศาลจะสั่งแก้ไขภายในระยะเวลาอันสมควรที่พิจารณาสั่ง แต่ห้ามพิพากษาจนกว่าจะได้แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว
                คำพิพากษาฎีกา ๘๐๒/๒๔๙๖ , ๓๕๒/๒๔๙๓ , ๑๖๐๘/๒๕๐๙ – หากมีการยื่นหนังสือให้คำอนุญาตหรือให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมภายหลังจากยื่นคำฟ้องแล้ว ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถในการดำเนินคดี
กรณีมีผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถและศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนพิพากษาโดยมิได้สั่งแก้ไขข้อบกพร่อง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้แยกคดีที่จำเลยเป็นผู้เยาว์ออกเป็นคดีหนึ่งต่างหากและให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องได้ (ฎีกา ๑๕๒๔/๒๕๐๘)
ตามมาตรา ๕๖ ศาลใช้รวมถึงการบกพร่องในเรื่องความสามารถอื่นๆ