เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องติดสินบนไปอภิปรายและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์

 

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๐/๒๕๔๓ จําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตน โดยพูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตาม ข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทําอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์กระบะ ๑ คน แก่จําเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก (โจทก์ ไม่ได้บรรยายขอให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๘)

ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี

 

         ในกรณีที่ผู้ถูกข่มขืนใจแม้จะกระทําความผิดจริง แต่ผู้ที่ขู่ว่าจะจับไม่มีสิทธิเช่นนั้น เช่น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการกระทําความผิดของผู้ที่ถูกข่มขืนใจ ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจ โดยไม่มีสิทธิ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๑๔ แม้ ท. จะกระทําความผิดจริง ช. ก็ไม่มีอํานาจเรียกเงินจาก ท. ซึ่ง ช. แสดงให้ ท. เข้าใจว่า ช. สามารถทําให้ ท. เข้าคุก หรือไม่เข้าคุกก็ได้ ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี เรียกเงินหนึ่งแสนบาท เป็นการกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

        สรุป ฎีกานี้ชี้ให้เห็นว่า ช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ ท. หลีกเลี่ยงภาษีและการขู่ดังกล่าวเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ย่อมเป็นการขู่ที่แสดงให้เห็นว่า ทําให้ห้างฯ จะได้รับความเสียหายและการขู่นั้นเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ จึงต้องด้วยกรณี ทั้งมาตรา ๓๓๗ และ ๓๓๘ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การกระทําดังกล่าวเป็นทั้งความผิดฐานกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

 

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๘/๒๕๓๐ จําเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายลักสติกเกอร์ ราคา ๑ บาทของห้างฯ ซึ่งจําเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการอยู่ไป การที่จําเลยเรียกผู้เสียหาย ชําระค่าปรับแก่ห้างฯ จํานวน ๓๐ บาท มิฉะนั้นจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตํารวจนั้น เป็นการที่จําเลยชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดําเนินคดีแก่ผู้เสียหายในทางอาญาได้ คำพูดของจําเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นข้อเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีตามที่ห้างฯ ถือปฏิบัติ จําเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สิน

 

                 คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒/๒๕๕๙ การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจํานํา ซึ่งรับจํานํารถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม ๑๐ คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผ่าน อ. ภริยา ของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์ แก่ ว. ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ ๔ ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ ๔ ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนํารถของผู้เสียหายที่ ๔ ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ จําต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทําของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยที่ 74

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ สมัยที่ 74

วิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญ  

--------------------------------


ประเด็นที่น่าสนใจ

        กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ส่งไปไม่ใช่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี เพราะบทบัญญัตินั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีและไม่รับวินิจฉัย   

        คําสั่งศาล รธน.ที่ ๖๒/๒๕๖๒ เป็นกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ กล่าวหาว่า ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกในคลังสินค้าที่จําเลยทั้งสามใช้เป็นหลักประกันในการทําสัญญาทางธุรกิจกับบริษัทธนาคาร กรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายออกไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับหลักประกัน ไม่อาจบังคับหลักประกันเอากับจําเลยทั้งสามทั้งหมดหรือแต่บางส่วน อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘๖ มีโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

        จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และยื่นคําโต้แย้งต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ เพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีจําเลยทั้งสามโต้แย้ง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ว่า บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ดําเนินการทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ทางทะเบียน มีผลให้จําเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้หลักประกันไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขรายการจดทะเบียนหรือยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการดําเนินการทางทะเบียนที่คู่สัญญาสามารถยกขึ้นโต้แย้งในข้อพิพาททางแพ่ง แต่คําฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลยทั้งสามฐาน ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าหลายครั้งโดยไม่ได้รับความยินยอม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔๖ กรณีคําโต้แย้งของจําเลยทั้งสามดังกล่าวไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์จะใช้บังคับแก่คดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย

 

ข้อสังเกต

        พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ที่จําเลยทั้งสามขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน และการยกเลิกการจดทะเบียนที่ให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ไปดําเนินการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับการนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าโดยมิชอบ อันเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย


อ้างอิง วิชา กฏหมายรัฐธรรมนูญ (อ.อธิคม อินทุภูติ) สมัยที่ 74


เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

 

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

---------------------


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

 

เขียนวางหลัก

        ผลผูกพันของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้ง ข้อเรียกร้องหรือโดยปริยายก็ตาม นายจ้างและลูกจ้างต้องผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยพลการฝ่ายเดียวไม่ได้  


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

        คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๙๑ - ๑๓๗๙๒/๒๕๕๗ เดิมนายจ้างจัดตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน โดยสมาชิกจ่ายเงินสมทบ ๕% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ ๑๐% ของเงินเดือน ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้โอนไปและมิได้ยุบกองทุนเดิม นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ๑๐% ของเงินเดือนต่อไป การที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็น ๕% ของเงินเดือนสมาชิก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ

        สรุป คดีเรื่องนี้เดิมนายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ ต่อมามีการจัดตั้งเป็นกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจํานวนหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ลูกจ้างจํานวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์คดีนี้ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ยังคงสมาชิกกองทุนประกันและออมทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจ่ายสมทบ เข้ากองทุนอัตรา ๑๐% ของเงินเดือน ภายหลังจากจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันและออมทรัพย์ให้โจทก์เพียง ๕% ของเงินเดือนฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบ


อ้างอิง กฎหมายแรงงาน (อ.พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น) สมัยที่ ๗๔



เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

 

        เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่  ๗๔

------------------------------


        ในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา ๖๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การคํานวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ   

       ตัวอย่าง

         วันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ นาย ก. ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นาย ข. ไปใน ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และมีการส่งมอบสินค้าในวันเดียวกัน กําหนดชําระราคาในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ ดังนี้ จะถือว่านาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในปีใด  

        นาย ก. เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ในปีภาษีใดถือว่าเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น ดังนั้น ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องใช้เกณฑ์เงินสด ในการรับรู้รายได้ นาย ก. ได้รับชําระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ จึงถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปีภาษี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น ปีภาษีที่ นาย ก. ได้รับชําระราคา  

        แต่ถ้า นาย ก. ได้รับเงินในปี ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ก็ต้องนําเงินที่ได้รับไปยื่นเสียภาษีในปี ๒๕๖๓ และในปี ๒๕๖๔ ตามลําดับ

        หากจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนจาก นาย ก. เป็น บริษัท A ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคํานวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ

         ดังนั้น ในกรณีของบริษัท A ต้องถือว่าบริษัท A มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้า คือในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๖๓ แม้ว่าในปี ๒๕๖๓ บริษัท A จะยังมิได้รับชําระราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม

        ในส่วนของค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการใช้สินค้า หรือใช้บริการจากบุคคลอื่นแล้วไม่ว่าจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม

        ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงิน ก็จะถือเป็นรายได้ค้างรับ และรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนํารายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคํานวณกําไรสุทธิด้วย


อ้างอิง กฎหมายภาษีอากร (อ.วิชัย จิตตาณิชย์) สมัยที่ ๗๔


เก็งประเด็น* กฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74

เจาะประเด็นกฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74


ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง

        สัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนหรือข้าราชการไปเรียนหนังสือ เมื่อเรียนเสร็จต้องกลับมารับราชการ ทํางานใช้ทุน เป็นสัญญาทางปกครอง

         แต่สัญญาให้ทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันว่าเมื่อผู้รับทุน ผิดสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันจะต้องใช้เงินแทน สัญญาให้ทุนการศึกษาเป็นสัญญาให้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ ผู้ค้ำประกันมีหนี้ที่จะต้องใช้เงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันจึงไม่ใช่ สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง กรณีที่รัฐฟ้องผู้ค้ำประกันให้จ่ายเงินแทนผู้รับทุนในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน การพิสูจน์ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าสัญญาทางปกครองตั้งต้น คือ สัญญารับทุนมีการผิดสัญญาหรือไม่

        เพราะฉะนั้นกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่าแม้สัญญาค้ำประกันจะเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่ก็อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครองด้วย

 

         สัญญารับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน ธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างผิดสัญญา รัฐฟ้องธนาคารผู้ค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันธนาคารที่ทําสัญญากับรัฐเป็นสัญญาทางแพ่ง

        แต่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง การพิสูจน์ว่าธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้รับเหมาซึ่งทําสัญญาทางปกครองผิดสัญญาทางปกครองหรือไม่ ดังนั้น แม้จะฟ้องแต่ผู้ค้ำประกัน คนเดียวก็จะต้องพิสูจน์ในสัญญาทางปกครอง กรรมการชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่า การฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

        นอกจากนี้ยังมีกรณี ที่ธนาคารจะทําสัญญาค้ำประกันให้กับผู้รับเหมาต่อเมื่อผู้รับเหมามีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มาค้ำประกันผู้รับเหมาไว้กับธนาคารอีกชั้นหนึ่ง เช่นนี้ สัญญาที่นาย ก. นาย ข. มาค้ำประกันกับธนาคารเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมา ซึ่งเป็นสัญญาปกครอง เพราะผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าผู้รับเหมา ผิดสัญญาหรือไม่ บุคคลผู้ต้องพิสูจน์คือธนาคาร การที่ธนาคารต้องรับผิดตามสัญญา ค้ำประกัน บุคคลซึ่งมาค้ำประกันกับธนาคารก็ต้องรับผิดต่อธนาคาร เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไม่เกี่ยวกับสัญญารับเหมา


อ้างอิง กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

เจาะหลัก พร้อมออกสอบ* กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74

 

     เจาะหลัก พร้อมออกสอบ กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74


หากข้อสอบออกสอบเรื่องสัญญาทางปกครอง


เขียนวางหลัก สัญญาทางปกครอง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องเป็นรัฐ และต้องเป็นสัญญา


        ลักษณะของสัญญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

         มาตรา ๓ “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ .....


ตัวอย่างคำวินิจฉัย กรณีอะไรเป็น สัญญาทางปกครอง

         คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๘๑/๒๕๕๗ สํานักงานประกันสังคม จ้างโรงพยาบาลเอกชนให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นสัญญาทางปกครอง

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๒๐/๒๕๕๘ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทําสัญญาจ้างเอกชนจัดทําการตลาดเกี่ยวกับการให้บริการวิทยุโทรคมนาคม เป็นสัญญาให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทําบริการสาธารณะเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๖/๒๕๖๐ วิทยาลัยของรัฐจ้างโรงเรียนดนตรี เข้ามาจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๗/๒๕๖๐ สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่บริการหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการปรับระบบการทํางานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จ้างบริษัทเอกชนให้มาพัฒนา ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นการให้เอกชนเข้ามาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นสัญญาทางปกครอง


อ้างอิง วิชา กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ) 22ก.พ 63 สมัยที่72


ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน สมัยที่72
 อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ)  22ก.พ 63 
---------------------- 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2550 แม้โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคล 1 ปาก และอ้างส่งเอกสาร 2 ฉบับ รวมทั้งสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารด้วย แล้วโจทก์แถลงหมดพยาน แสดงว่าโจทก์สืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จในวันดังกล่าว แต่จำเลยซึ่งถูกโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตนก็มิได้คัดค้านการที่โจทก์นำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบว่า สำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องกับต้นฉบับภายในระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 แม้ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการที่โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ จำเลยก็กล่าวอ้างเพียงว่าศาลจะรับฟังเอกสารเป็นพยานได้แต่ต้นฉบับ เอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้คัดค้านโดยตรงว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ทั้งไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่จำเลยไม่อาจคัดค้านได้ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านการอ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้โดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จึงห้ามมิให้จำเลยคัดค้านความถูกต้องของสำเนาเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 ที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงหาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2553 ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาแล้ว ต่อมาโจทก์สืบพยานและอ้างส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล แล้วแถลงหมดพยานถือว่าโจทก์สืบพยานเอกสารเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นตั้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสองจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม
ตามรายการประจำนวนเกี่ยวกับคดีระบุข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท เป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2551 ผู้ร้องได้อ้างส่งต้นฉบับของเอกสารทั้งหมดต่อศาลชั้นต้นประกอบคำเบิกความของ ช. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง แต่ศาลชั้นต้นได้คืนต้นฉบับเอกสารให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับในขณะที่ผู้ร้องได้รับคืนต้นฉบับเอกสารนั้นว่าไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับทุกฉบับ จึงเป็นการตกลงกันว่าสำเนาเอกสาร ตามที่โจทก์ฎีกานั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงยอมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (1) การที่ต่อมาโจทก์คัดค้านสำเนาเอกสารดังกล่าวเมื่อสืบพยานปาก ช. เสร็จแล้ว จึงไม่ทำให้การรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยชอบแล้วเสียไป
โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่ชอบด้วยกฎมหาย แต่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายอันเป็นคุณต่อผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551 จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2524 ธนาคารโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากจำเลย จำเลยรับหมาย (คำสั่ง) เรียกแล้วไม่ส่งศาล ภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งไม่แสดงเหตุที่ไม่ส่ง ย่อมถือได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตราของโจทก์ จำเลยได้ยอมรับแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ถือได้ว่า หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2538 การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ตกลงกันเดิมมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงอันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จำเลยก่อสร้างบ้านของโจทก์มีส่วนสูงน้อยกว่าที่กำหนดไว้ประมาณ.16ถึง.18เมตรแต่เมื่อไม่กระทบถึงความคงทนของตัวบ้านก็หาทำให้บ้านเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์ไม่จึงมิใช่การผิดสัญญาในข้อสำคัญถึงขนาดโจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดก็มีเพียง สิทธิเรียกร้องให้จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2541 การรับสภาพหนี้นั้น ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้ ดังนั้นการรับสภาพหนี้จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555 การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2537 โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือ แม้มีการวางเงินมัดจำด้วย การวางเงินมัดจำก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องให้บังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าที่ดินพิพาทตกลงจะซื้อโจทก์ยอมคืนเงินมัดจำและถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกกันนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาจึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและชำระราคาส่วนที่เหลือไว้แน่นอน จำเลยไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้