เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พระภิกษุ เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจหน้าที่ ตามป.อาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓ หรือไม่?

      

          ฎีกาที่ ๒๕๙/๒๕๐๙ แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ จะบัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ก็มีแต่เพียงอํานาจสอบสวนอธิกรณ์ และสั่งลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเท่านั้น หามีอํานาจรับแจ้งความเกี่ยวกับการกระทําผิดอาญา และมีอํานาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไม่ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอํานาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

พนักงานสอบสวน ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๗๓ หมายถึงใคร?

          “พนักงานสอบสวน” ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๖) หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอํานาจและหน้าที่ทําการสอบสวน มิใช่เพียงเจ้าหน้าที่ตํารวจ เพราะปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปช. ปปท. หรือเจ้าหพนักงานฝ่ายปกครอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๑๗) ซึ่งมีอํานาจสอบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ เป็นต้น

การพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญ จนยอมนัดหมาย แวะแจ้งตำรวจ ผิดฐานกรรโชก หรือไม่?

         กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมาย ให้นําหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตํารวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทํากันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จําเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัว และไม่ยอมทําตามการขู่เข็ญของจําเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทําของจําเลยทั้งห้า จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสําเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม (ดูฎีกาที่ ๙๕๑/๒๔๗๔, ฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๓๐)

พูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องติดสินบนไปอภิปรายและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์

 

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๐/๒๕๔๓ จําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตน โดยพูดขู่เข็ญว่าจะนําเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตาม ข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทําอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับรถยนต์กระบะ ๑ คน แก่จําเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก (โจทก์ ไม่ได้บรรยายขอให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๘)

ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี

 

         ในกรณีที่ผู้ถูกข่มขืนใจแม้จะกระทําความผิดจริง แต่ผู้ที่ขู่ว่าจะจับไม่มีสิทธิเช่นนั้น เช่น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการกระทําความผิดของผู้ที่ถูกข่มขืนใจ ในกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการใช้อํานาจ โดยไม่มีสิทธิ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๑๔ แม้ ท. จะกระทําความผิดจริง ช. ก็ไม่มีอํานาจเรียกเงินจาก ท. ซึ่ง ช. แสดงให้ ท. เข้าใจว่า ช. สามารถทําให้ ท. เข้าคุก หรือไม่เข้าคุกก็ได้ ขู่ว่าจะเปิดเผยความลับที่ห้างหุ้นส่วนหลีกเลี่ยงภาษี เรียกเงินหนึ่งแสนบาท เป็นการกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

        สรุป ฎีกานี้ชี้ให้เห็นว่า ช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ ท. หลีกเลี่ยงภาษีและการขู่ดังกล่าวเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ย่อมเป็นการขู่ที่แสดงให้เห็นว่า ทําให้ห้างฯ จะได้รับความเสียหายและการขู่นั้นเป็นการขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ จึงต้องด้วยกรณี ทั้งมาตรา ๓๓๗ และ ๓๓๘ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การกระทําดังกล่าวเป็นทั้งความผิดฐานกรรโชกและรีดเอาทรัพย์

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

 

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๘/๒๕๓๐ จําเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายลักสติกเกอร์ ราคา ๑ บาทของห้างฯ ซึ่งจําเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการอยู่ไป การที่จําเลยเรียกผู้เสียหาย ชําระค่าปรับแก่ห้างฯ จํานวน ๓๐ บาท มิฉะนั้นจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตํารวจนั้น เป็นการที่จําเลยชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดําเนินคดีแก่ผู้เสียหายในทางอาญาได้ คำพูดของจําเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นข้อเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีตามที่ห้างฯ ถือปฏิบัติ จําเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สิน

 

                 คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒/๒๕๕๙ การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจํานํา ซึ่งรับจํานํารถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม ๑๐ คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผ่าน อ. ภริยา ของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์ แก่ ว. ผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ ๔ ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ ๔ ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนํารถของผู้เสียหายที่ ๔ ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ จําต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทําของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมัยที่ 74

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ เนติฯ สมัยที่ 74

วิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญ  

--------------------------------


ประเด็นที่น่าสนใจ

        กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ส่งไปไม่ใช่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี เพราะบทบัญญัตินั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีและไม่รับวินิจฉัย   

        คําสั่งศาล รธน.ที่ ๖๒/๒๕๖๒ เป็นกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ กล่าวหาว่า ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกในคลังสินค้าที่จําเลยทั้งสามใช้เป็นหลักประกันในการทําสัญญาทางธุรกิจกับบริษัทธนาคาร กรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายออกไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับหลักประกัน ไม่อาจบังคับหลักประกันเอากับจําเลยทั้งสามทั้งหมดหรือแต่บางส่วน อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘๖ มีโทษจําคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

        จําเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และยื่นคําโต้แย้งต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ เพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีจําเลยทั้งสามโต้แย้ง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ว่า บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ดําเนินการทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ทางทะเบียน มีผลให้จําเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ให้หลักประกันไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขรายการจดทะเบียนหรือยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการดําเนินการทางทะเบียนที่คู่สัญญาสามารถยกขึ้นโต้แย้งในข้อพิพาททางแพ่ง แต่คําฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลยทั้งสามฐาน ร่วมกันนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าหลายครั้งโดยไม่ได้รับความยินยอม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔๖ กรณีคําโต้แย้งของจําเลยทั้งสามดังกล่าวไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์จะใช้บังคับแก่คดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย

 

ข้อสังเกต

        พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ที่จําเลยทั้งสามขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน และการยกเลิกการจดทะเบียนที่ให้ผู้รับหลักประกันเป็นผู้ไปดําเนินการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับการนําข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกจากคลังสินค้าโดยมิชอบ อันเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย


อ้างอิง วิชา กฏหมายรัฐธรรมนูญ (อ.อธิคม อินทุภูติ) สมัยที่ 74


เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

 

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

---------------------


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

 

เขียนวางหลัก

        ผลผูกพันของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้ง ข้อเรียกร้องหรือโดยปริยายก็ตาม นายจ้างและลูกจ้างต้องผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยพลการฝ่ายเดียวไม่ได้  


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

        คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๙๑ - ๑๓๗๙๒/๒๕๕๗ เดิมนายจ้างจัดตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน โดยสมาชิกจ่ายเงินสมทบ ๕% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ ๑๐% ของเงินเดือน ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้โอนไปและมิได้ยุบกองทุนเดิม นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ๑๐% ของเงินเดือนต่อไป การที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็น ๕% ของเงินเดือนสมาชิก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ

        สรุป คดีเรื่องนี้เดิมนายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ ต่อมามีการจัดตั้งเป็นกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจํานวนหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ลูกจ้างจํานวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์คดีนี้ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ยังคงสมาชิกกองทุนประกันและออมทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจ่ายสมทบ เข้ากองทุนอัตรา ๑๐% ของเงินเดือน ภายหลังจากจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันและออมทรัพย์ให้โจทก์เพียง ๕% ของเงินเดือนฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบ


อ้างอิง กฎหมายแรงงาน (อ.พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น) สมัยที่ ๗๔



เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

 

        เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่  ๗๔

------------------------------


        ในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา ๖๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การคํานวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ   

       ตัวอย่าง

         วันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ นาย ก. ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นาย ข. ไปใน ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และมีการส่งมอบสินค้าในวันเดียวกัน กําหนดชําระราคาในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ ดังนี้ จะถือว่านาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในปีใด  

        นาย ก. เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ในปีภาษีใดถือว่าเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น ดังนั้น ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องใช้เกณฑ์เงินสด ในการรับรู้รายได้ นาย ก. ได้รับชําระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ จึงถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปีภาษี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น ปีภาษีที่ นาย ก. ได้รับชําระราคา  

        แต่ถ้า นาย ก. ได้รับเงินในปี ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ก็ต้องนําเงินที่ได้รับไปยื่นเสียภาษีในปี ๒๕๖๓ และในปี ๒๕๖๔ ตามลําดับ

        หากจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนจาก นาย ก. เป็น บริษัท A ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคํานวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ

         ดังนั้น ในกรณีของบริษัท A ต้องถือว่าบริษัท A มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้า คือในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๖๓ แม้ว่าในปี ๒๕๖๓ บริษัท A จะยังมิได้รับชําระราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม

        ในส่วนของค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการใช้สินค้า หรือใช้บริการจากบุคคลอื่นแล้วไม่ว่าจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม

        ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงิน ก็จะถือเป็นรายได้ค้างรับ และรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนํารายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคํานวณกําไรสุทธิด้วย


อ้างอิง กฎหมายภาษีอากร (อ.วิชัย จิตตาณิชย์) สมัยที่ ๗๔