เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

 

เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ กฎหมายแรงงาน เนติฯ สมัยที่ 74

---------------------


ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

 

เขียนวางหลัก

        ผลผูกพันของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้ง ข้อเรียกร้องหรือโดยปริยายก็ตาม นายจ้างและลูกจ้างต้องผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยพลการฝ่ายเดียวไม่ได้  


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

        คําพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๙๑ - ๑๓๗๙๒/๒๕๕๗ เดิมนายจ้างจัดตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน โดยสมาชิกจ่ายเงินสมทบ ๕% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ ๑๐% ของเงินเดือน ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้โอนไปและมิได้ยุบกองทุนเดิม นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ๑๐% ของเงินเดือนต่อไป การที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็น ๕% ของเงินเดือนสมาชิก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ

        สรุป คดีเรื่องนี้เดิมนายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งกองทุนประกันและออมทรัพย์ ต่อมามีการจัดตั้งเป็นกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างจํานวนหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ลูกจ้างจํานวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์คดีนี้ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยง แต่ยังคงสมาชิกกองทุนประกันและออมทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจ่ายสมทบ เข้ากองทุนอัตรา ๑๐% ของเงินเดือน ภายหลังจากจัดตั้งกองทุนสํารองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันและออมทรัพย์ให้โจทก์เพียง ๕% ของเงินเดือนฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบ


อ้างอิง กฎหมายแรงงาน (อ.พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น) สมัยที่ ๗๔



เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่ 74

 

        เก็งประเด็น* ที่น่าออกสอบ ภาษีอากร เนติฯ สมัยที่  ๗๔

------------------------------


        ในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา ๖๕ วรรคสอง บัญญัติว่า การคํานวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ   

       ตัวอย่าง

         วันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ นาย ก. ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นาย ข. ไปใน ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และมีการส่งมอบสินค้าในวันเดียวกัน กําหนดชําระราคาในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ ดังนี้ จะถือว่านาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในปีใด  

        นาย ก. เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กําหนดให้ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ในปีภาษีใดถือว่าเป็นเงินได้ของปีภาษีนั้น ดังนั้น ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องใช้เกณฑ์เงินสด ในการรับรู้รายได้ นาย ก. ได้รับชําระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๔ จึงถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท เกิดขึ้นในปีภาษี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น ปีภาษีที่ นาย ก. ได้รับชําระราคา  

        แต่ถ้า นาย ก. ได้รับเงินในปี ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๖๔ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ก็ต้องนําเงินที่ได้รับไปยื่นเสียภาษีในปี ๒๕๖๓ และในปี ๒๕๖๔ ตามลําดับ

        หากจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าเปลี่ยนจาก นาย ก. เป็น บริษัท A ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งกําหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องคํานวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ

         ดังนั้น ในกรณีของบริษัท A ต้องถือว่าบริษัท A มีเงินได้จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้า คือในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๖๓ แม้ว่าในปี ๒๕๖๓ บริษัท A จะยังมิได้รับชําระราคาค่าเครื่องคอมพิวเตอร์เลยก็ตาม

        ในส่วนของค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการใช้สินค้า หรือใช้บริการจากบุคคลอื่นแล้วไม่ว่าจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม

        ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงิน ก็จะถือเป็นรายได้ค้างรับ และรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนํารายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคํานวณกําไรสุทธิด้วย


อ้างอิง กฎหมายภาษีอากร (อ.วิชัย จิตตาณิชย์) สมัยที่ ๗๔


เก็งประเด็น* กฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74

เจาะประเด็นกฎหมายปกครอง ที่น่าออกสอบ เนติ สมัยที่ 74


ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง

        สัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนหรือข้าราชการไปเรียนหนังสือ เมื่อเรียนเสร็จต้องกลับมารับราชการ ทํางานใช้ทุน เป็นสัญญาทางปกครอง

         แต่สัญญาให้ทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันว่าเมื่อผู้รับทุน ผิดสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันจะต้องใช้เงินแทน สัญญาให้ทุนการศึกษาเป็นสัญญาให้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ แต่ผู้ค้ำประกันไม่ได้มาร่วมจัดทําบริการสาธารณะ ผู้ค้ำประกันมีหนี้ที่จะต้องใช้เงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันจึงไม่ใช่ สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครอง กรณีที่รัฐฟ้องผู้ค้ำประกันให้จ่ายเงินแทนผู้รับทุนในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน การพิสูจน์ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าสัญญาทางปกครองตั้งต้น คือ สัญญารับทุนมีการผิดสัญญาหรือไม่

        เพราะฉะนั้นกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่าแม้สัญญาค้ำประกันจะเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่ก็อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครองด้วย

 

         สัญญารับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน ธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างผิดสัญญา รัฐฟ้องธนาคารผู้ค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันธนาคารที่ทําสัญญากับรัฐเป็นสัญญาทางแพ่ง

        แต่เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง การพิสูจน์ว่าธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดหรือไม่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้รับเหมาซึ่งทําสัญญาทางปกครองผิดสัญญาทางปกครองหรือไม่ ดังนั้น แม้จะฟ้องแต่ผู้ค้ำประกัน คนเดียวก็จะต้องพิสูจน์ในสัญญาทางปกครอง กรรมการชี้ขาดจึงวินิจฉัยว่า การฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

        นอกจากนี้ยังมีกรณี ที่ธนาคารจะทําสัญญาค้ำประกันให้กับผู้รับเหมาต่อเมื่อผู้รับเหมามีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มาค้ำประกันผู้รับเหมาไว้กับธนาคารอีกชั้นหนึ่ง เช่นนี้ สัญญาที่นาย ก. นาย ข. มาค้ำประกันกับธนาคารเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญารับเหมา ซึ่งเป็นสัญญาปกครอง เพราะผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าผู้รับเหมา ผิดสัญญาหรือไม่ บุคคลผู้ต้องพิสูจน์คือธนาคาร การที่ธนาคารต้องรับผิดตามสัญญา ค้ำประกัน บุคคลซึ่งมาค้ำประกันกับธนาคารก็ต้องรับผิดต่อธนาคาร เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไม่เกี่ยวกับสัญญารับเหมา


อ้างอิง กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

เจาะหลัก พร้อมออกสอบ* กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74

 

     เจาะหลัก พร้อมออกสอบ กฎหมายปกครอง เนติ สมัยที่74


หากข้อสอบออกสอบเรื่องสัญญาทางปกครอง


เขียนวางหลัก สัญญาทางปกครอง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องเป็นรัฐ และต้องเป็นสัญญา


        ลักษณะของสัญญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

         มาตรา ๓ “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ .....


ตัวอย่างคำวินิจฉัย กรณีอะไรเป็น สัญญาทางปกครอง

         คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๘๑/๒๕๕๗ สํานักงานประกันสังคม จ้างโรงพยาบาลเอกชนให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นสัญญาทางปกครอง

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๒๐/๒๕๕๘ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทําสัญญาจ้างเอกชนจัดทําการตลาดเกี่ยวกับการให้บริการวิทยุโทรคมนาคม เป็นสัญญาให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทําบริการสาธารณะเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๖/๒๕๖๐ วิทยาลัยของรัฐจ้างโรงเรียนดนตรี เข้ามาจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง

 

        คําวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๑๗/๒๕๖๐ สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่บริการหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการปรับระบบการทํางานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จ้างบริษัทเอกชนให้มาพัฒนา ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นการให้เอกชนเข้ามาจัดทําบริการสาธารณะ เป็นสัญญาทางปกครอง


อ้างอิง วิชา กฎหมายปกครอง (ศอ.ดร.จิรนิติ หะวานนท์) สมัยที่ ๗๔

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ) 22ก.พ 63 สมัยที่72


ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่13 พยานหลักฐาน สมัยที่72
 อ.ชาญณรงค์ฯ (ภาคค่ำ)  22ก.พ 63 
---------------------- 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2550 แม้โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์นำสืบพยานบุคคล 1 ปาก และอ้างส่งเอกสาร 2 ฉบับ รวมทั้งสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารด้วย แล้วโจทก์แถลงหมดพยาน แสดงว่าโจทก์สืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จในวันดังกล่าว แต่จำเลยซึ่งถูกโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตนก็มิได้คัดค้านการที่โจทก์นำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบว่า สำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องกับต้นฉบับภายในระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 แม้ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการที่โจทก์อ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้ จำเลยก็กล่าวอ้างเพียงว่าศาลจะรับฟังเอกสารเป็นพยานได้แต่ต้นฉบับ เอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้คัดค้านโดยตรงว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ทั้งไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่จำเลยไม่อาจคัดค้านได้ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านการอ้างสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้โดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จึงห้ามมิให้จำเลยคัดค้านความถูกต้องของสำเนาเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังสำเนาบันทึกการเจรจาชดใช้หนี้เป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 ที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงหาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2553 ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาแล้ว ต่อมาโจทก์สืบพยานและอ้างส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล แล้วแถลงหมดพยานถือว่าโจทก์สืบพยานเอกสารเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นตั้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสองจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม
ตามรายการประจำนวนเกี่ยวกับคดีระบุข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท เป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2551 ผู้ร้องได้อ้างส่งต้นฉบับของเอกสารทั้งหมดต่อศาลชั้นต้นประกอบคำเบิกความของ ช. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง แต่ศาลชั้นต้นได้คืนต้นฉบับเอกสารให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องอ้างส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับในขณะที่ผู้ร้องได้รับคืนต้นฉบับเอกสารนั้นว่าไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับทุกฉบับ จึงเป็นการตกลงกันว่าสำเนาเอกสาร ตามที่โจทก์ฎีกานั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงยอมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (1) การที่ต่อมาโจทก์คัดค้านสำเนาเอกสารดังกล่าวเมื่อสืบพยานปาก ช. เสร็จแล้ว จึงไม่ทำให้การรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยชอบแล้วเสียไป
โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่ชอบด้วยกฎมหาย แต่มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายอันเป็นคุณต่อผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551 จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2524 ธนาคารโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากจำเลย จำเลยรับหมาย (คำสั่ง) เรียกแล้วไม่ส่งศาล ภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งไม่แสดงเหตุที่ไม่ส่ง ย่อมถือได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตราของโจทก์ จำเลยได้ยอมรับแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ถือได้ว่า หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2538 การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ตกลงกันเดิมมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงอันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จำเลยก่อสร้างบ้านของโจทก์มีส่วนสูงน้อยกว่าที่กำหนดไว้ประมาณ.16ถึง.18เมตรแต่เมื่อไม่กระทบถึงความคงทนของตัวบ้านก็หาทำให้บ้านเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์ไม่จึงมิใช่การผิดสัญญาในข้อสำคัญถึงขนาดโจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดก็มีเพียง สิทธิเรียกร้องให้จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2541 การรับสภาพหนี้นั้น ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้ ดังนั้นการรับสภาพหนี้จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555 การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2537 โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือ แม้มีการวางเงินมัดจำด้วย การวางเงินมัดจำก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องให้บังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าที่ดินพิพาทตกลงจะซื้อโจทก์ยอมคืนเงินมัดจำและถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกกันนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาจึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและชำระราคาส่วนที่เหลือไว้แน่นอน จำเลยไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ 8 ธ.ค 62 สมัยที่72

         


ฎีกาภาคทบทวน เนติฯ กฎหมายวิธีสบัญญัติ  สมัยที่72
อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ วันที่ 8 ธ.ค 62 
------------


        ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน การนำพยานบุคคลเข้ามาสืบว่าเป็นตัวแทน ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสาร
        ฟ้องเรียกเอาอสังหาริมทรัพย์คืน ถ้าศาลพิพากษาให้ชนะคดี และศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยได้ไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5042/2561 (อ.เน้น***)
        จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ กรณีตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับมาตรา 798 แห่ง ป.พ.พ. การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการอันใด จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใดกรณีนี้โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ และการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลในความจริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นมิใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
            โจทก์ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีอำนาจพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) จึงไม่เป็นการที่ศาลพิพากษาเกินคำขอ



         คดีนี้ ศาลสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน ระหว่าง น. ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ผู้รับโอน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินต่อไปยังจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนการโอนแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง    

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561
            คดีก่อนโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทของ น. ที่โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบ ซึ่งผลของคำพิพากษาทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอน และ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องเพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อนซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว คดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ เพราะจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งได้สิทธิมาในภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
           คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่ที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีเดิม


แก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ ป.วิ.พ.มาตรา 180

คำพิพากษาฎีกาที่ 6951-6952/2560 
            จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้องเสียก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองสำนวนอ้างเหตุขาดอายุความ 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดหนี้ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในแต่ละคราว แต่ที่ขอแก้ไขคำให้การใหม่เป็นว่าค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระเกินระยะเวลาสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 หรือมาตรา 193/34 ซึ่งหมายถึงอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามลำดับ อันเป็นการเพิ่มเติมคำให้การขึ้นใหม่ แยกเป็นประเด็นตามเงื่อนไขของสองอนุมาตราดังกล่าว แม้จะอยู่ในประเด็นอายุความก็ตาม แต่วันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ก็ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการไว้ชัดเจน จำเลยย่อมทราบดี หากประสงค์จะต่อสู้ในประเด็นอายุความเรื่องใดก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่แรก แต่หาได้กระทำไม่ คงปล่อยให้ล่วงเลยเวลาจนพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปีและ 2 ปีตามประเภทของหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการ ลักษณะเป็นการตั้งประเด็นเรื่องขาดอายุความขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับมิใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยและมิใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งประเด็นเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 แม้จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การมาแล้วครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โจทก์รับสำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับแล้วไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมในคำร้องฉบับแรก แล้วสั่งใหม่ว่ายกคำร้อง ส่วนคำร้องฉบับหลังสั่งว่าไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตครั้งแรกเป็นการไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิกถอนคำสั่งอันมิชอบได้ การที่โจทก์ไม่คัดค้านแล้วจะถือว่าเป็นการยอมรับหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่ ตราบใดที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลชอบที่จะสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้

            จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสำนวนแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามมาตรา 228 (3) จำเลยทั้งสองสำนวนจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์สำนวนละ 200 บาทรวม 400 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองสำนวนเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 600 บาทจึงเกินมา 200 บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งสองสำนวน


แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 สัมมนาวิแพ่ง (อ.ประเสริฐ) สมัยที่ 72


ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 สมัยที่ 72
วิชา สัมมนาวิแพ่ง (อ.ประเสริฐ) 


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6536/2544 กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอได้นั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ โจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพียงประการเดียวอันจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ต้องเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบกับมาตรา 172 วรรคแรก
เอกสารการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุชื่อว่า"หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ" แต่ไม่ได้ระบุข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันหรือไม่เมื่อใด ประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและจำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้จะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก แต่โจทก์เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2541 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 และมาตรา 188(1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติกล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ที่ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใดผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2547 การที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย การที่ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้แทนนิติบุคคลมีสิทธิที่จะว่าความอย่างทนายความได้ในคดีก่อนตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะกรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายสารบัญญัติบทใดสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2548  การใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ ดังกล่าว คือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายใด ๆ บัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องประสงค์จะใช้สัญลักษณ์ทางการค้าแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีสิทธิใช้สัญลักษณ์ทางการค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามมาตรา 55 หาได้ไม่ หากสัญลักษณ์ทางการค้าของผู้ร้องทั้งสองเข้าข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้า ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4764/2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอคดีเป็นคำร้องขอ อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งการร้องขอในลักษณะเช่นนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคม คงมีแต่บัญญัติให้สมาชิกหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคมตามที่บัญญัติในมาตรา 100 ได้เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคม มิใช่ขอเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคม กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดรับรองให้สมาชิกสมาคมหรือผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท แม้ภายหลังมีผู้คัดค้านเข้ามาก็ไม่ทำให้อำนาจการยื่นคำร้องขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นเป็นคำร้องขอที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 กฎหมายล้มละลาย (อ.กนก จุลมนต์) สมัยที่ 72

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1  สมัยที่ 72
กฎหมายล้มละลาย (อ.กนก จุลมนต์)  


คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๐๒/๒๕๕๓ ก่อนฟ้องโจทก์ใด้ตรวจสอบการถือ กรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตแต่ไม่พบทรัพย์สินของจำเลย และนอกจากจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ คดีแรกแล้วจำเลยยังถูกฟ้องในความผิดเดียวกันอีก ๓ คดี ต่อมาจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เลียหายทั้ง ๓ คดี ดังกล่าว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๕๓ มาตรา ๘ (๕) (๘) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว



คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๓๖/๒๕๖๐ ภายหลังจากศาลจังหวัดพังงามีคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทกํใด้สืบหาทรัพย์อื่นของจำเลยแล้วไม่พบว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าจำเลยไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

กรณีที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ เพราะลูกหนี้หลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนดก็ดี หรือมีผู้รับหนังสือทวงถามไว้แทนลูกหนี้ก็ดี ถือได้ว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามตามความหมายของมาตรา ๘ (๙) แล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๙๙๔/๒๕๕๓ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจ้าเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปรับหนังสือ ดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วย แล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ ๒ มีผู้รับไว้แทน จำเลยจึงได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกัน ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๙) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว



กรณีเป็นลูกหนี้ร่วมการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๗๕/๒๕๓๖ จำเลยที่ ๓ อยู่ในฐานเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนาวาตรีสมภพ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทกได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่นาวาตรีสมภพลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง และถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ ๓ ล้มละลาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔/๒๕๓๖ แม้หนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด แต่คู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้น จนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย จึงถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙ (๓) เมื่อจำเลยที่ ๑ ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้โอนทรัพย์สินของตนไปหมดแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีทรัพย์สินรวมกันประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้นไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งมีจำนวนหนี้ทั้งสิ้นถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยที่ ๑ ล้มละลายตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔


ต่อมายังมีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑๖/๒๕๕๗, ๑๘๗๙๕/๒๕๕๗, ๘๖๒๗/ ๒๕๕๘, ๑๕๕๑๕/๒๕๕๘ และ ๙๑๔/๒๕๕๙ วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕/๒๕๓๖


แนะนำ :-

       - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2


       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1 วิ.แพ่ง ภาค4 (อ.สมชาย จุลนิติ์) สมัยที่ 72


ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่1
-------------------------


คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๐/๒๕๐๔ในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ใช้สิทธิบังคับคดีขอยึดทรัพย์ของจำเลยลูกหนี้ ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องกล่าวอ้างว่าทรัพย์ ที่โจทก์นำยึดเป็นของตนนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษามีฐานะเสมือนเป็นจำเลย ฉะนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จะร้องขอให้โจทก์เจ้าหนี้วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม ฯลฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๓ ไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๐๗/๒๕๓๐***การไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธี

พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๓ วรรคสอง นั้น หมายถึงการไต่สวนถึงเหตุที่ทำให้มีการร้องขอให้โจทก์วางเงินซึ่งมีอยู่๒ เหตุ คือ โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาลเหตุหนึ่ง หรือถ้ามีเหตุอันเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอีกเหตุหนึ่งเมื่อจำเลยร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล และโจทก์ยอมรับในคำแถลงคัดค้านแล้วว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอีก
จำนวนเงินที่ศาลจะสั่งให้โจทก์วางประกันนั้นตามมาตรา ๒๕๓ วรรคสอง ดังกล่าว บัญญัติให้ศาลกำหนดจำนวนเงินที่จะให้โจทก์วางประกันรวมตลอดทั้งระยะเวลา และเงื่อนไข ตามที่เห็นสมควร จึงไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนอีกเช่นกันศาลชอบที่จะกำหนดจำนวนเงินประกันไปตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๖๑ และอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง


แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค2 อ.ชลีรินย์ เภาพัฒนา อมรศักดิ์ (ภาคค่ำ) 6 ธ.ค.62 สมัยที่72

สรุปย่อคำบรรยายเนติ เน้นประเด็นสำคัญ เก็งฎีกา เก็งมาตรา ขอบเขตสำคัญ ที่น่าออกสอบ

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค2 สมัยที่72
อ.ชลีรินย์ เภาพัฒนา อมรศักดิ์ (ภาคค่ำ) 6 ธ.ค.62



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2556 หลังจากศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207/2553 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน โดยอ้างว่าจำเลยนำพินัยกรรมฉบับแรก (ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2533) ซึ่งเป็นโมฆะเพราะถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง มาอ้างต่อศาลเพื่อแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก อันมีพฤติกรรมไม่สุจริตและเท่ากับ จำเลยสละสิทธิตามพินัยกรรมฉบับหลังสุด (ลงวันที่ 29 เมษายน 2536) และพินัยกรรมทุกฉบับสิ้นผลบังคับแล้วเพราะล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย คำร้องของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้อง เมื่อจำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง คำคัดค้านของจำเลยจึงเป็นคำให้การ แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นพิพาทว่า ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ศาลจังหวัดสีคิ้วจะมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก หรือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่หรือไม่นั้น ศาลในคดีดังกล่าวจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 ที่ผู้ตายระบุตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุทำนองเดียวกันกับคดีดังกล่าวว่า จำเลยใช้พินัยกรรมที่ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังแล้วยื่นต่อศาลขอให้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้แบ่งที่ดินมรดกแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองในคดีนี้จะมีคำขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ศาลชั้นต้นก็จะพิพากษาให้ได้ความเสียก่อนว่า พินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะหรือสิ้นผลบังคับหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 207/2553 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นด้วยกันและมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวกับคดีนี้ ฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1)

การสั่งรับฟ้องแย้งไว้พิจารณานั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามแต่ละข้อกล่าวอ้างและคำขอบังคับเป็นส่วน ๆ โดยอาจรับไว้บางส่วนเท่านั้นก็ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1474-1476/2558 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่เรียก ว.เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ เพราะว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ขอเข้ามา หรือแสดงเหตุเข้ามาเป็นคู่ความ จึงไม่เป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความอันจะทำให้เป็นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1 (5) จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามต้องโต้แย้งคำสั่งเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตามมาตรา 226 (2) เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามกฎหมายขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารกับพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม ห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลชั้นต้นต้องรับฟ้องแย้งส่วนนี้ไว้พิจารณาแม้ฟ้องแย้งในส่วนอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่อาจบังคับได้ตามฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฟ้องแย้งหรือ ยกคำขอส่วนนั้น เมื่อมีคำพิพากษา มิใช่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2534 ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคำบังคับ ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องหากผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ และถูกโต้แย้งสิทธิจึงชอบที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการบังคับคดีเสียก่อน เนื่องจากโจทก์ย่อมขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างได้ทันทีตามมาตรา 296 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2537 ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และได้มีคำสั่งให้ประกาศนัดไต่สวนทางหนังสือพิมพ์และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน หากประสงค์จะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันนัดไต่สวนคำร้อง แต่ก็ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้วต่อมาผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงแม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีของผู้ร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(4) บัญญัติให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความผู้คัดค้านจึงเป็นคู่ความผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ที่ดินมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิผู้คัดค้านจึงชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีจึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดี

----------------------------
แนะนำ :-

         - ดาวน์โหลด* ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ ฎีกา5 ดาว เก็งท่องพร้อมสอบรายข้อ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 อัพเดทที่ ...   https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

       -  ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลด* ถอดเทปเนติ สรุปประเด็น เก็งก่อนสอบ อัพเดทที่....  https://www.lawsiam.com/?file=donate