เนติบัณฑิต เก็งเนติ เตรียมสอบ เนติบัณฑิต ภาค1-2 สมัยที่ 74

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 5 ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ สมัยที่72

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 5 สมัยที่72 
ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

เก็งเนติ ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

เก็งเนติ ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

เก็งเนติ ข้อ5 ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

เก็งข้อ5 ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

รายละเอียด..

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 4 ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ สมัยที่72


เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง สมัยที่72
ข้อ 4 ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ

เก็งเนติ ซื้อขาย เช่าทรัพย์

เก็ง ข้อ 4 ซื้อขาย เช่าทรัพย์

สรุปเนติ ซื้อขาย เช่าทรัพย์

รายละเอียด..

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 3 ละเมิด สมัยที่72

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 3 ละเมิด สมัยที่72

เก็งข้อ3 ละเมิด เนติ


รายละเอียด..

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่72

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ สมัยที่72

เก็งแพ่ง เนติ ข้อ2

เก็งแพ่ง เนติบัณฑิต ข้อ2

เก็งแพ่ง เนติ ข้อ2 นิติกรรม สัญญา หนี้

เก็ง นิติกรรม สัญญา หนี้ ข้อ2

เก็งเนติ นิติกรรม สัญญา หนี้


รายละเอียด...


เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 1 ทรัพย์-ที่ดิน สมัยที่72

เก็งเนติ ที่ออกสอบ แพ่ง ข้อ 1 ทรัพย์-ที่ดิน สมัยที่72


เก็งแพ่ง เนติบัณฑิต

เก็ง ทรัพย์ ที่ดิน

เก็งแพ่ง ข้อ1 ทรัพย์ ที่ดิน

สรุปเนติ ข้อ1

เก็งเน ข้อ1 ทรัพย์ที่ดิน

รายละเอียด..

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ8 กฎหมายล้มละลาย สมัยที่71

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
          กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้

ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันมีโฆษณาคำสั่งผู้ทำแผน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2547 เจ้าหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดส่งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้เสนอคำขอรับชำระหนี้ไปยังห้องชุดซึ่งเจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญาเช่าและเดินทางกลับประเทศมาเลเซียแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทราบตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/24 วรรคสอง คดีมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549 ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ
          เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้น 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็เรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปไม่ เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
          การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
          การที่เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีจำนวนหนี้มีประกันเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา
การพิจารณามูลค่าราคาหลักประกันศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) ที่บัญญัติว่า "ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี" หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เมื่อผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนข้อกำหนดดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
          สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับแผนฟื้นฟูกิจการและได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในอนาคตเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมีอยู่ต่อกันตามแผน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่เห็นชอบด้วยแผนเห็นควรให้จัดทำขึ้นเพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดที่จะได้เกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว จึงมิใช่สาระสำคัญของแผน ส่วนที่แผนกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อแผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
          ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2)
          พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมาตรา90/42(3)(ข) ให้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และมาตรา 90/42 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)และมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น เจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงสามารถจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ เพียงแต่แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน


 อ้างอิง คำบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายล้มละลาย อ.เอื้อน ขุนแก้ว สมัยที่71

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ1 สมัยที่71

เก็งวิแพ่ง เนติ ข้อ1 สมัยที่71


ศาลที่จะยื่นฟ้อง หรือเสนอคำฟ้อง
        บทบัญญัติที่กำหนดว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลใดนั้น มีตามมาตรา  ๓, , ๔ ทวิ, ๔ ตรี, ๔ จัตวา, ๕ เบญจ, ๔ ฉ, , และ ๗ ในการที่จะพิจารณาว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาล
      ตามบทมาตราข้างต้นนั้นมีหลักการทั่วไปที่ควรจะได้ทำความเข้าใจก่อน คือ ที่จะพิจารณาว่าจะฟ้องคดีต่อศาลใดมีหลักในการพิจารณาในภาพรวมได้ดังนี้คือ
        (๑) ศาลที่จำเลยหรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต
        (๒) ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขต
        (๓) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์ที่ขอบังคับอยู่ในเขต
        (๔) ไม่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้นต้องฟ้องต่อศาลที่กำหนดเป็นพิเศษ


มาตรา ๓ เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
        (๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราช อาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
        (๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
        (ก) ถ้าจำเลยเคยมิภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนด สองปีก่อนวันที่มิการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
        (ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนใน ราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมิบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทน หรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลยได้
        ความที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา ๓ ในการที่จะใช้บทบัญญัติใน (๑) หรือ (๒) นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้องเท่านั้น จะนำไปใช้ในกรณี อื่นไม่ได้ หมายความว่าเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง หรือการเสนอคดีต่อศาลเท่านั้น จะใช้เป็นภูมิลำเนาในเรื่องอื่นไม่ได้

บทบัญญัติของมาตรา ๓ (๑) มีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ ๓ ประการ
        ๑. มูลคดีที่เกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย
        ๒. เรือไทยหรืออากาศยานไทยนั้นอยู่นอกราชอาณาจักร

        ๓. สามารถที่จะฟ้องคดีต่อศาลแพ่งได้

สกัดหลักกฎหมายที่สำคัญ
  ๑. การฟ้องคดีเมื่อเกิน ๒ ปี นับแต่จำเลยย้ายภูมิลำเนาออกไปนอกราชอาณาจักร นั้นก็ดี หรือภายหลังกว่า ๒ ปี นับแต่จำเลยเลิกประกอบกิจการก็ดี จะใช้หลักเกณฑ์ตาม มาตรา ๓ (๒) ไม่ได้
 ๒. มาตรา ๓ เป็นการบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการฟ้องคดีไม่ใช่ว่าเมื่อ มีสิทธิฟ้องตามมาตรา ๓ แล้ว ทำให้หมดสิทธิฟ้องตามมาตราอื่น


คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๘๐/๒๕๔๒*** บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๓ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมด หรือ แต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการ หรือ ติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ตังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ ๑ โดยเป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทางตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ ๒ แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ ๑ แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที ๒ เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ ๑ ในราชอาณาจักร เมื่อปรากฎตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ ๑ มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ ๑ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. ๔ (๑) ได้
        โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลกบบริษัทผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่บริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัย โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้



อ้างอิง : คำบรรยายเนติ เล่มที่ 7 วิชา วิ.แพ่ง ภาค 1 อ.อุดม เฟื่องฟุ้ง สมัยที่71

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

เก็ง วิแพ่ง ข้อ2 วิแพ่ง ภาค1 เนติฯ สมัยที่ 71

เก็ง วิแพ่ง ข้อ2 ภาค1 เนติฯ สมัยที่ 71



มาตรา 144 (ออกสอบ ล่าสุดสมัยที่ 70) เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
(1) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามมาตรา 143
(2) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียว ตามมาตรา 209 และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 53
(3) การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา 229 และ 247 และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาตามมาตรา 254วรรคสุดท้าย
(4) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา 243
(5) การบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งตามมาตรา 271

ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 16 และ 240 ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง


สกัดหลักกฎหมาย
1. มีประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน
2. เมื่อคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และ
3. ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
4. จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 441-442/2559  โจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงกับ อ. และจำเลยที่ 5 แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่  18144 ให้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละส่วนเท่ากัน ต่อมาโจทก์ทั้งสามปฏิบัติผิดข้อตกลง อ. กับจำเลยที่ 5 จึงฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสามยื่นคำให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง โดยอ้างเหตุทำนองเดียวกับที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ว่าโจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงเพราะถูกข่มขู่ ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกฟ้องเป็นจำเลย ได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลชั้นต้นได้ วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ยอมทำบันทึกข้อตกลงกับ อ. และจำเลยที่ 5 เพื่อเป็นไปตามคำประสงค์เดิมของบรรดาญาติพี่น้อง หาใช่เพราะถูก ข่มขู่ให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงไม่ บันทึกข้อตกลงจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ ทั้งสามไม่มีสิทธิบอกล้าง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีแพ่งของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน เมื่อคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144



กรณีที่ไม่ถือว่าทั้งสองคดีมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน


        คำพิพากษาฎีกาที่ 4765/2539 คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า จำเลยเป็นบุตรคนเดียวของ ห. มีสิทธิรับมรดก คือ ทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว ประเด็นจึงมีว่า จำเลย เป็นบุตรของ ห. แต่เพียงคนเดียวและมีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ แต่คดีนี้โจทก์ ฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่ ห. และมารดาโจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นสินสมรส ประเด็นจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ



กรณีที่ไม่ถือว่าทั้งสองคดีมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน


        คำพิพากษาฎีกาที่ 2046/2558 การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 กำหนดว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อ้างว่าพินัยกรรมปลอม แต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทซึ่งแตกต่างกัน จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144


กรณีที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดี

คำพิพากษาฎีกาที่ 2854/2561 (ฎีกาใหม่*) คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษา ให้หย่าจึงจะมีการแบ่งสินสมรสกันว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษา ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดี มีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และ สินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นแห่งคดีก่อนต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสต้องแบ่ง ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับ สินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน


อ้างอิง  รวมคำบรรยายเนติ เล่มที่7 วิชา วิ.แพ่ง ภาค 1 อ.อำนาจ พวงชมภู สมัยที่71


ฎีกาเด่น* ถอดเทป ห้องบรรยายเนติฯ สัปดาห์ที่8 วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคปกติ) อ. จุลสิงห์ จันทร์ที่ 7 ม.ค 62 สมัยที่71

ฎีกาเด่น* ถอดเทป ห้องบรรยายเนติฯ  วิ.อาญา ภาค 1-2 (ภาคปกติ)
 อ. จุลสิงห์ฯ สัปดาห์ที่8  จันทร์ที่ 7 ม.ค 62 สมัยที่71



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560*** ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่า การตีความคำว่า”ผู้เสียหาย” ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ไม่ถือตามความหมายมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตาม ความหมายดั่งได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ส่วนความประมาทของผู้เสียหาย (ผู้ร้อง) เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2528 คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงในความผิดฐานยักยอก และมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาทแก่ผู้เสียหายได้ เมื่อผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่อาจถือเอาคำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการเป็นคำขอของตนได้ เพราะหากผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองแล้วย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำขอในส่วนแพ่งอันมีทุนทรัพย์เกินกว่า 10,000 บาท ต่อศาลแขวงได้เนื่องจากเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา และเมื่อโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฝ่ายเดียวย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8886/2549 จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานรับของโจรรถกระบะของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงโทรศัทพ์เคลื่อนที่ราคา 3,900 บาท สินค้าอุปโภคบริโภคราคา 40,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 9,000 บาท ซึ่งมิใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองรับของโจรและรถกระบะของกลางนั้นผู้เสียหายก็ได้รับคืนไปแล้ว แม้ได้รับคืนในสภาพที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 27,200 บาท พนักงานอัยการโจทก์ก็ขอให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้ เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเอาเองเป็นคดีใหม่ จะให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่มิได้รับของโจรกับมูลค่าความเสียหายของรถกระบะของกลางที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนนั้นย่อมไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11776/2553 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและซื้อที่ดินจากจำเลย โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติว่า "คดีลักทรัพย์...ฉ้อโกง...ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย" ดังนี้ เมื่อจำเลยหลอกลวงเอาเงิน 80,000 บาท ของผู้เสียหายไปอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนเงิน 80,000 บาท ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ให้อำนาจไว้จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 80,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่ดินที่จำเลยจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้เสียหายแล้วนั้น หากผู้เสียหายไม่โอนที่ดินคืนแก่จำเลย จำเลยชอบที่จะดำเนินคดีทางแพ่งตามสิทธิของจำเลยต่อไป

บทบรรณาธิการเนติ ภาค2 สมัยที่71 เล่มที่7

       คำถาม โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ มีคำสั่ง ย้ายและตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์เสียหายขาดโอกาสความก้าวหน้า ประโยชน์ที่ควรได้รับ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ขอให้เพิกถอนการประเมิน คำสั่ง คืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ร้องเรียน จำเลยไปยังหลายหน่วยงาน เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้ใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ ฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่?
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๒๒/๒๕๕๙ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ปี ๒๕๕๔ โดยไม่ชอบ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งย้ายโจทก์และตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำให้โจทก์เสียหายขาดโอกาสในความก้าวหน้า ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ และเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ขอให้เพิกถอนการประเมินการปฏิบัติงานปี ๒๕๕๔ เพิกถอนคำสั่งย้ายโจทก์ ให้คืนสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ขาดโอกาสและสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับและเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่ง การพิจารณาคดีของโจทก์ ศาลต้องพิจารณาการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งสามว่าชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการย้ายโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า โจทก์ร้องเรียนจำเลยทั้งสามไปยังหลายหน่วยงานเป็นการจงใจทำให้จำเลยทั้งสามเสียหายนั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่าการร้องเรียนของโจทก์เป็นการละเมิด ต่อจำเลยทั้งสาม แม้ฟ้องเดิมจะมีคดีอันเกิดจากมูลละเมิดรวมอยู่ด้วย แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกันไม่มีความเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้